บุญ กับ บารมี ต่างกันอย่างไรคะ ?

ถาม : บุญ กับ บารมี ต่างกันอย่างไรคะ ?

ตอบ : บุญ หมายถึง ความดี, กรรมดี, ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ

บางทีก็ใช้ตรงกับคำว่า “กุศล” ก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักจะหมายถึง “โลกียกุศล” คือเป็นดีที่ยังประกอบไปด้วยสภาวะกลั้วกิเลส

พระพุทธเจ้าตรัสประมวลหลักการทำบุญที่พึงศึกษาไว้ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๓” ได้แก่

๑. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้
๒. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
๓. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา

ถ้าเทียบกันระหว่าง ๒ คำนี้ “บุญ” ก็จะมีความหมายที่กว้างกว่า “บารมี”

บารมี แปลว่า คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง

จุดหมายอันสูงยิ่ง ในทางพุทธศาสนาก็ได้แก่ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และความเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บารมีที่จะต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์เพื่อที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๑๐ อย่าง

เรียกกันว่า บารมี ๑๐ ได้แก่ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา และ อุเบกขา

แม้ว่าบารมีจะมีมากมายหลายอย่าง แต่ก็สามารถมองเป็นองค์รวมได้ คือบารมีทั้งหมดนั้น

– มีการอนุเคราะห์ผู้อื่น เป็นลักษณะ
– มีการทำความอุปการะแก่ผู้อื่นอย่างไม่หวั่นไหว เป็นกิจ (คือเป็นหน้าที่)

– มีการแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์, มีความตรัสรู้ เป็นผล
– มีมหากรุณา, มีปัญญาฉลาดในอุบาย เผยเหตุใกล้ให้เกิด

บารมีแต่ละอย่างก็แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ บารมี, อุปบารมี และ ปรมัตถบารมี
ขอประมวลเกณฑ์แบ่งบารมี ๓ ระดับ มาให้ดูคร่าว ๆ ดังนี้

ทาน
บารมี : บริจาค ทรัพย์ ภรรยา บุตร
อุปบารมี : บริจาคอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : บริจาคชีวิต

ศีล
บารมี : ไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ผู้ทำร้ายบุตรภรรยาตน
อุปบารมี : ไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ผู้ทำร้ายร่างกายตนให้เสียอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ผู้ทำอันตรายชีวิตตน

เนกขัมมะ
บารมี : เห็นโทษ ในราชสมบัติ, บุตรภรรยา แล้วบวช
อุปบารมี : เห็นโทษ ในกาย อันถูกฉันทราคะครอบงำ แล้วบวช
ปรมัตถบารมี : เห็นโทษ ในชาติ ชรา มรณะ แล้วบวช

ปัญญา
บารมี : ใช้ปัญญาเพื่อละตัณหาในทรัพย์และบุตร
อุปบารมี : ใช้ปัญญาเพื่อละตัณหาในร่างกายตน
ปรมัตถบารมี : ใช้ปัญญาเพื่อละตัณหาในชีวิต คือขันธ์

วิริยะ
บารมี : เพียรทำประโยชน์แก่บุตรภรรยา, มิตร
อุปบารมี : เพียรโดยไม่เห็นแก่อันตรายต่ออวัยวะ
ปรมัตถบารมี : เพียรโดยไม่เห็นแก่อันตรายต่อชีวิต

ขันติ
บารมี : ไม่โกรธผู้ล่วงเกินทรัพย์, บริวาร
อุปบารมี : ไม่โกรธแม้ถูกทำให้เสียอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ไม่โกรธแม้ถูกทำร้ายถึงชีวิต

สัจจะ
บารมี : ไม่กล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งทรัพย์
อุปบารมี : ไม่กล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ไม่กล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งชีวิต

อธิษฐาน
บารมี : ตั้งมั่นเพื่อโพธิญาณ แม้ต้องสละทรัพย์มาก
อุปบารมี : ตั้งมั่นเพื่อโพธิญาณ แม้ต้องสละอวัยวะ
ปรมัตถบารมี : ตั้งมั่นเพื่อโพธิญาณ แม้ต้องสละชีวิต

เมตตา
บารมี : เมตตาต่อสัตว์ผู้ทำลายทรัพย์ตน
อุปบารมี : เมตตาต่อสัตว์ผู้ทำร้ายร่างกายตน
ปรมัตถบารมี : เมตตาต่อสัตว์ผู้มุ่งฆ่าตน

อุเบกขา
บารมี : ต่อทั้งผู้ทำลาย / ไม่ทำลายทรัพย์ตน
อุปบารมี : ต่อทั้งผู้ทำลาย / ไม่ทำลายร่างกายตน
ปรมัตถบารมี : ต่อทั้งผู้ทำลาย / ไม่ทำลายชีวิตตน

ที่แจกแจงมา ไม่ได้หมายความว่าพวกเราต้องทำครบทั้งหมดนะ มรรคผลในขั้นแรก ๆ ไม่ต้องถึงขนาดนั้น ให้ทำเท่าที่ทำได้

แต่ถ้าเป็นขั้นสุดท้าย ครูบาอาจารย์ท่านมักจะใช้คำว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” นั่นคือ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องยอม “สละชีวิตเพื่อธรรม”ได้

๘ กันยายน ๒๕๖๐