แสง หรือคำบริกรรม

ถาม : การทำในรูปแบบ จะใช้เวลาช่วงเช้าเป็นการสวดมนต์ และจะบริกรรม.. ไม่ได้ให้สงบนะคะ ปล่อยไปตามปกติ.. ฟุ้งไปก็กลับมาที่คำบริกรรม ไม่บังคับ ฟุ้งแล้วรู้ ฟุ้งแล้วรู้… สิ่งที่ตามมาคือ มันมีแสงและจิตมันก็ไหลไปจับและคลุกอยู่กับแสง ..รู้ว่ามันชอบและเพลิน.. แล้วมันก็สงสัยว่าจะให้มันไปอยู่กับแสง หรือให้มาอยู่ที่ความรู้สึกตัว ? เพราะอยู่กับแสงก็เพลินดี มันแบบอยู่แบบนี้พอเกิดแสงความสงสัยมันก็เกิด แบบนี้คือรู้ถูกไหม ? แล้วจะให้ความสำคัญกับตัวไหน ระหว่างไปอยู่กับแสง หรือให้กลับมารู้ที่คำบริกรรม ?

ตอบ : ถ้ามีแสงปรากฏ ก็ไม่ต้องกลับมาที่คำบริกรรมแล้วนะ ก็เห็นแสงไปด้วยใจสบาย ๆ ดูเล่น ๆ ไป มันสว่าง มันผ่องใส มันชอบและเพลิน เห็นแล้วมีความสุข ตอนนี้จิตมีนิมิตคือแสงเป็นอารมณ์ ไม่ได้ใช้คำบริกรรมเป็นอารมณ์แล้ว มันเปลี่ยนไปจับแสงเองโดยที่ไม่ได้เจตนา

รู้ต่อไป แสงนี้ย่อได้ ขยายได้ เห็นแล้วมีสุข มีปีติ

ภาวนาต่อไป จะเห็นได้ว่า นิมิตแสงนี้ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ขณะที่ดู ..จิตมันถลำออกไปเกาะอยู่กับแสง ถ้าสังเกตอาการอย่างนี้ได้ มันก็ถอนออกจากนิมิต กลายเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมา

ก็ฝึกต่อไปนะ ฝึกให้ชำนาญ จะเจริญปัญญาก็มาดูกายมันทำงาน จะเห็นได้ง่าย ๆ เลยว่า กายไม่ใช่เรา

บางทีมันเสื่อมไป ก็ไม่ต้องไปอยากให้ดีเหมือนเดิมนะ ไม่ต้องไปประคองตัวรู้นี้ด้วย มันเสื่อมก็ทำเอาใหม่ แต่อย่าไปอยาก เพราะความอยากไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดผู้รู้

๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐