ศีลที่เราควรจะรักษา..คือ ศีล ๕

วรรคทอง..วรรคธรรม #๔๗

ศีลที่เราควรจะรักษา..คือ ศีล ๕

ง่ายๆ อันนี้น่าจะรู้จักกันอยู่แล้วเนาะ
ศีล ๕ มีกี่ข้อ? .. เออ!.. ถ้าตอบผิดนี่ซวยเลยนะ!
ก็บอกอยู่แล้วว่าศีล ๕
รู้มั้ย? ข้อที่ ๑ คือไม่ไปละเมิดชีวิตของผู้อื่น
อย่าไปทำร้ายชีวิตผู้อื่น อย่าไปทำร้ายร่างกาย..แม้ว่าจะไม่เสียชีวิตด้วยนะ แค่ไปทำให้เขาเจ็บปวดหรือทรมาน..ก็ อย่าไปทำ! ไม่ใช่ว่าต้องถึงขนาดไปเชือดคอหรือไปเผาเขา
อันนั้นรุนแรงเกินไป แค่ตบหน้าเขา..หรือทำอะไรก็ตาม ที่เจตนาทำร้ายผู้อื่น..ก็ไม่ควรทำแล้วนะ!
ข้อที่ ๒ ไม่ไปละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น..
เช่น ไม่ไปขโมย อย่าว่าแต่ขโมยเอามาเป็นของตัวเองเลยนะ!
แม้ไปทำร้ายหรือทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น ก็ผิดนะ
เช่น ไปเผาบ้านเขานี่..ได้มั้ย?
ไม่ได้นะ..เพราะไม่ใช่บ้านเรา..ไม่ใช่ทรัพย์สินของเรา ทรัพย์สินของเขา..ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา ถ้าเราไปละเมิด..ก็ผิด
ข้อที่ ๓ ไม่ไปละเมิดคนรักของคนอื่นนะ!
คือไม่ผิดข้อกาเมฯ ไม่ประพฤติผิดในกาม
แล้วก็ข้อที่ ๔ ไม่ไปพูดผิด
ไม่พูดเพื่อทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น
พูดผิด คือ
– พูดผิดความจริง กลายเป็น “มุสาวาท”
– พูดแล้ว ทำให้คนที่เขาสามัคคีกัน มาแตกแยกกัน เขาเรียกว่า “พูดส่อเสียด”
– พูดแล้ว ทำให้เขาเจ็บใจ หรือเจ็บช้ำน้ำใจ คือ “พูดด่า” หรือ”พูดคำหยาบ”
– และพูดผิดอีกอย่างหนึ่งคือ คำพูดที่เราอาจจะรู้สึกว่า..ไม่น่าผิดอะไรเลย คือ”พูดเพ้อเจ้อ”
เคยมั้ย? เคยพูดเพ้อเจ้อมั้ย? ถ้าไม่เคยก็ประหลาดแล้วนะ
“พูดเพ้อเจ้อ” คือพูดเรื่องที่ไม่จำเป็น เรื่องไร้สาระ เรื่องแบบนินทาชาวบ้านไปเรื่อยๆ อะไรอย่างนี้นะ
เคยนินทาคนอื่นมั้ย ?
เคยถูกนินทามั้ย? เคยเหรอ..รู้ตัวมั้ยว่าถูกนินทา?
ขณะที่เขานินทาเรานี่ เราเดือดร้อนใจมั้ย? ไม่เดือดร้อนหรอก เพราะเรายังไม่รู้ ตอนเดือดร้อน คือตอนที่”รู้”ว่าเขาพูด..ใช่มั้ย?
พูดเพ้อเจ้อนี่มันมีโทษตรงที่ว่า..
มันเสียเวลา มันไม่มีประโยชน์
เวลาของเรามันมีน้อย เวลานี่มันไม่ใช่มี อินฟินิตี้ (infinity : ความไม่มีที่สิ้นสุด)
เวลามีจำกัดนะ คนเรานี่มีเวลาจำกัด เกิดมาแล้ว..ถึงเวลาหนึ่ง..จะต้องตาย เวลาในระหว่างเกิดจนตายเนี่ย
เราควรใช้เวลานี้มาพัฒนาตนเอง พัฒนาศักยภาพในด้านความรู้ ด้านปัญญา
เช่น มาเรียนหนังสือ ก็เรียนให้ได้ความรู้จริงๆ เอาไปใช้เพื่อพัฒนา.. นอกจากจะพัฒนาตนเองแล้ว..ก็ยังเพื่อไปพัฒนาสังคมด้วย
นอกจากนั้น ก็ยังต้องพัฒนาตนเองในแง่ว่า “ทำอย่างไร..ฉันจะไม่ทุกข์”ด้วย หรือถ้ายังมีทุกข์ ก็ให้ทุกข์น้อยลงๆ
ชีวิตมันมีเวลาจำกัด
ถ้าเอาเวลาไปพูดไปคุยในสิ่งไร้สาระ
สิ่งไร้สาระที่พูดคุยกันนั้น
มันไม่ได้พูดแล้วจบอยู่แค่ตรงนั้น มันพูดแล้วบางทีมันจำไปฟุ้งต่อ
บางทีวงเมาท์นี่แตกไปแล้วนะ! กลับมาที่บ้านเรายังมาคิดต่อเลย เป็นอย่างนั้นมั้ย? มันเก็บสิ่งไร้สาระที่รับฟังในกลุ่ม..มาสร้างความไร้สาระอยู่คนเดียว
ความไร้สาระที่ว่านี้จึงมีโทษ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกคำพูดเหล่านี้ว่า เป็น#วจีทุจริต
คำแรงมากนะ !
วจีทุจริต คือประพฤติชั่วด้วยวาจา
ก็มี ๑.พูดปด ๒.พูดส่อเสียด ๓.พูดคำหยาบ ๔.พูดเพ้อเจ้อ
๔ อย่างนี้ เรียกว่าเป็น”วจีทุจริต”ทั้งนั้นเลย
เราก็คอยระวัง
– อย่าไปพูดปด
– อย่าไปพูดส่อเสียด อย่าไปยุให้เขาแตกกัน
– อย่าไปพูดคำหยาบให้เขาเจ็บใจ
แต่ถ้าเพื่อนสนิทกันนี่นะ พูดคำหยาบกันแล้วเขาไม่เจ็บใจ อันนี้ยังอนุโลม มันเป็นเพียงคำพูดไม่สุภาพ เข้าใจมั้ย?
คำอย่างนี้พูดกันในหมู่เพื่อนสนิทได้ แต่อย่าไปพูดกับคนอื่น เพราะว่ามันเป็นคำไม่สุภาพ
บางทีไปพูดคำสุภาพกับเพื่อน เพื่อนอาจจะมองหน้า ..
“วันนี้มันเป็นอะไรวะ?” จะพูดไอ้คำที่เคยพูดกันก็ไม่เป็นไรนะ
เพราะเราไม่ได้มุ่งให้เขาเจ็บใจ
คำหยาบ: คือมีเจตนามุ่งให้เขาเจ็บใจ เข้าใจมั้ย?
แต่ถ้าคำหยาบเหล่านั้น เราพูดกันในหมู่เพื่อนที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ถ้าผิดไปจากนี้รู้สึกว่าแปลกๆไป..
ก็พูดไปตามปกติ
แต่ให้รู้ว่า คำอย่างนี้พูดได้เฉพาะกับคนกลุ่มนี้ หรือกับคนๆนี้
อย่าไปพูดกับคนที่อื่น อย่าไปพูดกับในที่สาธารณะอื่น
หรือแม้แต่กับเพื่อนคนนี้..ที่เคยพูดคำไม่สุภาพกัน แต่จากกันนาน ๓๐ ปีแล้ว
ตอนนี้เขาเป็นนายพลแล้ว
เราจะไปด่าไอ้นู่นไอ้นี่ ต่อหน้าลูกน้องเขา ต่อหน้าบริวารเขา.. ก็ไม่ได้
ต้องรู้จังหวะ รู้เวลา รู้กาลเทศะ เข้าใจมั้ย?
แล้วพอมันมาเยี่ยมบ้านเรา อยู่กันเฉพาะเพื่อนสนิทจริงๆ แล้วเราค่อยตบหัวมันได้
แล้วก็ศีลข้อ ๕
ไม่ทำร้ายตัวเอง ด้วยการทำให้ตัวเองขาดสติ ไม่ทำร้ายสังคมให้เขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ด้วยการทำให้ตัวเองขาดสติ มึนเมา
เรารู้สึกอย่างไร..ถ้าสมมุติว่าตรงนี้เป็นร้านอาหาร แล้วโต๊ะนั้นเขาเมา
เราจะรู้สึกว่า..”กูไปดีกว่าเว้ย!” ถ้ายังไม่สั่งอาหารนะ..จะรีบออกไปดีกว่า เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย
หรือขับรถตามคันหน้า..
เราเห็นว่ามันส่ายไปส่ายมา “โอ้โห..ไอ้คนขับนั่นเมาแน่ๆ เลย”
ต้องรีบแซง หรือไม่ก็เว้นห่างๆ เพราะว่า..รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่อยากอยู่ร่วมถนนสายเดียวกันกับไอ้คนนี้แล้ว เพราะคนเมาเป็นคนขาดสติ ควบคุมอะไรไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่า..สังคมไม่ปลอดภัย
เพราะฉะนั้น เราอย่าทำตนให้ผู้อื่นรู้สึกว่า เราเป็นต้นเหตุของความไม่ปลอดภัยในสังคมนะ
นี่.. แค่ศีล ๕ ..

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
เรียบเรียงการบรรยายธรรม ณ บ้านจิตสบาย
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

สามารถดาวน์โหลดเพื่อรับฟังเสียงได้ที่ลิงค์
40.บ้านจิตสบาย6/5.วัฒนมุข(580208)_02.ศีล๕.mp3 http://bit.ly/1PWNziM