ไตรลักษณ์เอาไว้เห็น

วรรคทอง..วรรคธรรม #๔๔

ไตรลักษณ์เอาไว้เห็น

ไตรลักษณ์เนี่ย..ไม่ใช่เอาไว้จำ..
แต่เอาไว้เห็น!
ไตรลักษณ์นี่นะ..เอาไว้เห็นนะ
ตามหลักภาษา เขาใช้สำนวนว่า #เห็นไตรลักษณ์
เจริญกรรมฐาน..
เจริญสมถกรรมฐาน..เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
จนจิต”เห็น”ไตรลักษณ์ ไม่ใช่เจริญสมถะเจริญวิปัสสนาจน”จำ”ไตรลักษณ์ได้..ไม่ใช่อย่างนั้น
เวลามีสติ คือขณะที่จิต”เห็น”สภาวะ
ใช้คำว่า “เห็น” นะ!
ไม่ใช่ว่า..ฟังมา แล้วฉันจำได้
หรืออธิบายได้ว่า..ราคะเป็นยังไง?..
แต่ไม่เคยเห็นเลย!
อย่างนี้ยังไม่เรียกว่า..#เจริญสติ
โทสะเป็นยังไง?..
ฉันอ่านตำรามาแล้ว..เป็นอย่างนี้ๆ..
แต่ไม่เคยเห็นเลย!
ก็ยังไม่ชื่อว่า..#เจริญสติ
โทสะเกิดขึ้น ใจชักจะโหดเหี้ยม ชักดุ!
แล้วเห็นโทสะทันที
โอ้..อย่างนี้เห็นโทสะเกิดขึ้น
มีราคะ ใจชักเยิ้มๆ ตาชักจะฉ่ำๆ
ราคะเกิดขึ้นจริงๆ ตอนนี้ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้
มีสติรู้ราคะขึ้นมา เรียกว่า..มีสติ!
คือมันเห็น..ต้องเห็น!
“เห็น”ที่ว่า..มันคือความรู้สึกในใจ
ไม่ใช่เห็นรูปร่างลักษณะว่า..
เห็นหน้าคนนี้สวย คนนี้หล่อ.. ไม่ใช่อย่างนั้น
อย่างนั้นเป็นการจำหน้าเขาได้
แต่ #สติคือเห็นสภาวะ
ทำให้จำสภาวะที่เกิดขึ้นกับใจได้
จำได้ว่า..เมื่อกี้นี้..มีราคะเกิดขึ้น เมื่อกี้นี้..มีโทสะเกิดขึ้น ..
พอกิเลสเกิดใหม่จึงระลึกรู้ได้
รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ แล้วจิตมันจะสะสมทักษะ สะสมข้อมูลจนเกิดทักษะขึ้นมา
กระทั่งสรุปเป็นความรู้อีกชุดหนึ่งว่า
เฮ้ย! มันก็เกิด-ดับ!
นี่..มันก็เปลี่ยนแปลง!
นี่..มันบังคับไม่ได้!
แล้วแต่จิตมันจะสรุป
จิตมันจะเห็นขึ้นมา เข้าใจขึ้นมา
ตรงนี้เรียกว่า..เกิดวิปัสสนา

ธรรมบรรยาย โดย พระกฤช นิมฺมโล
เรียบเรียงจากจากการเทศน์ ณ บ้านจิตสบาย
วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖