วันพุธที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๓ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ☘️☘️ #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ ๒๖๓ #ธนู ๒ ดอก ถ้าเราป่วยขึ้นมาจริงๆ นี่นะ ก็ต้องให้ความเจ็บป่วยมันสอนเราด้วย อย่าให้มาเจ็บป่วยกายแล้วใจก็ป่วย อย่างนี้เรียกว่าโดน ๒ ดอก ถูกทิ่มแทงด้วยลูกธนู ๒ ดอก กายป่วย แต่ใจก็ต้องไม่ป่วย นี่คือเรียกว่า “บุรุษอาชาไนย” ถึงความเจ็บป่วยแล้ว ก็สลดสังเวชขึ้นมา เห็นความจริง “สลดสังเวช” ไม่ได้หมายความว่า เศร้าเสียใจ คำว่า “สังเวช” นั้นในภาษาบาลี หมายความว่า เห็นความจริงแล้วคึกคัก ได้ปลุกสำนึก มีใจคึกคัก มีความไม่ประมาทเกิดขึ้น …. แม้เป็นพระพุทธเจ้ายังต้องปรินิพพาน เราเห็นคนอื่นตาย ได้ยินข่าวคนอื่นตาย เห็นคนอื่นตายเป็นญาติเราด้วย แม้กระทั่งเป็นตัวเอง เราก็เกิดความสังเวช ไม่ประมาท ใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ จากจุดนี้จนถึงเวลาที่เราตายเนี่ย ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาจิตใจ ถ้าเราถึงความเจ็บป่วยจริง ๆ ก็เห็นกายนี้มันป่วยไป ใจไม่ป่วยด้วย ถ้ากายนี้จะตายก็ไม่เสียดาย เพราะกายนี้เป็นแค่ก้อน ๆ หนึ่ง ที่มันเป็นก้อนทุกข์ “ก้อนทุกข์มันจะตายไป จะเสียดายอะไร” อย่างนี้นะ! จริงๆ ไม่ต้องรอให้เราป่วย ถ้าเป็นบุรุษอาชาไนยที่พัฒนาขึ้นมา ก็ไม่ต้องถึงให้เราป่วย.. ญาติเราป่วย เราก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาได้แล้ว! ไม่ต้องให้ญาติเราป่วย แค่เห็นคนอื่นป่วย เราก็ต้องรู้สึกตัวให้ได้แล้ว! ไม่ต้องเห็นเขาป่วย แค่ได้ยินข่าว ได้ฟังข่าวว่าประเทศนั้นประเทศนี้มีคนป่วย จังหวัดนั้น จังหวัดนี้มีคนป่วย คนอื่นที่เราไม่เคยรู้จักเขาเลย เขาป่วย เราก็ต้องเกิดความสลดสังเวช แล้วเตรียมพัฒนาตัวเองให้พร้อมรับมือกับความเจ็บความป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ เมื่อคราวที่ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นมาจริงๆ เราจะได้ไม่ตีอกชกตัว ไม่ไปโทษคนนั้น ไม่ไปไหนโทษคนนี้ เห็นความจริงของมัน เห็นกายซึ่งเป็นก้อนทุกข์นี้แสดงความจริง ใจไม่ทุกข์ เห็นกายเป็นก้อนทุกข์อยู่ต่างหาก ใจเป็นผู้รู้อยู่ต่างหาก กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย ถ้าหมอจะรักษาอย่างไร ก็ให้เขารักษาไป หายได้ก็ดี ไม่หายก็ไม่เป็นไร เราเข้าใจความจริงว่ากายนี้เป็นก้อนทุกข์ นี่เรียกว่า เข้าใจความจริงของโลก ดังนั้นให้เรามาสำรวจตัวเองว่า… เราเป็นหนึ่งในบุรุษอาชาไนย ๔ ประเภทนี้ ประเภทไหนบ้าง ได้ยินได้ฟังแล้วก็สลดสังเวช ก็เป็นอาชาไนยประเภทที่ ๑ ถ้าต้องเห็นด้วยตาตัวเอง แล้วสลดสังเวช ก็เป็นประเภทที่ ๒ ถ้าต้องถึงขั้นเป็นญาติของเรา แล้วจึงสลดสังเวช ก็เป็นประเภทที่ ๓ ถ้าต้องให้ถึงกับเราเป็นผู้ป่วยเอง แล้วจึงสลดสังเวช ก็เป็นประเภทที่ ๔ แม้กระนั้นขอให้สลดสังเวช ขอให้รู้สึกตัวขึ้นมา ขอให้มีความไม่ประมาทเกิดขึ้น ก็ยังนับว่าเป็นบุรุษอาชาไนย แต่ถ้าถึงขนาดว่าตัวเองป่วยแล้ว เจ็บแล้ว ใกล้จะตายแล้ว ยังไม่สลดสังเวช มัวแต่นึกถึงว่า..ทำไมต้องเป็นตัวเรา มัวแต่นึกถึงว่า..ฉันจะต้องจากโลกนี้ไปแล้ว จากครอบครัวไป ตีโพยตีพาย ไม่สลดสังเวช ไม่มาเห็นความจริงของกายและใจ ไม่พัฒนาจิตใจให้เห็นความจริงของโลกนี้ คือกายและใจนี้ ตามความเป็นจริง อย่างนี้เราก็ไม่จัดว่า เป็นประเภทของอาชาไนย ประเภทใดประเภทหนึ่งเลย! เพราะฉะนั้นให้เหตุการณ์(โรคระบาดโควิด-19)ครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกับจิตใจของเรามาก ให้มันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตใจ ในแง่ของความสลดสังเวช และมาพัฒนาจิตใจให้เห็นความจริง รู้ทันความเป็นจริง แล้วจะไม่เป็นทุกข์กับความจริงที่ปรากฏขึ้นมา ให้เป็นบุรุษอาชาไนย ประเภทใดประเภทหนึ่งให้ได้ ขอเจริญพร พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากคลิปแสดงธรรม “ปโตทสูตร-ปฏักอยู่ที่ไหน” ณ สวนธรรมประสานสุข ศรีราชา ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/7DffDOcBBp8 (นาทีที่ 17:42-22:48)

อ่านต่อ