วันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #คุ้มครองจิต สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ ฯ ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ (ตกไปในกาม) เพราะว่าจิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้ ที่ว่า “ตกไปในกาม” เนี่ย! อย่าคิดว่า..ตกไปแบบฝันหวาน หรือตกเฉพาะทางเพศอะไร.. ไม่ใช่อย่างนั้นนะ!’ คิดเรื่องไม่ดี.. ก็คือเรื่อง “กาม” เหมือนกันนะ! แต่มันผิดหวัง “ผิดหวังในกาม” นึกออกไหม? “คนตกนรก” นี่คือ.. ตกอยู่ในกามาวจรภูมิ !! ไม่ใช่ว่า “กามาวจร” จะต้องสุขสบายเสมอไป คืออย่าคิดว่า เป็นภูมิที่สุขสบาย มีกามอันดีเสมอไป ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! “กามาวจร” ที่แย่.. ตกนรก ก็มีนะ! อยู่ในอบายเลยก็มี จิตของเราเนี่ย! กำลังอยู่ในกามาวจรที่เป็นอบาย กำลังเป็นทุกข์อยู่ แต่มันตกมาแล้ว..ก็รู้ทัน! และมันจะตกบ่อยๆ ก็รู้บ่อย ๆ และก็.. เข้าใจ ให้อภัยตัวเองหน่อยว่า.. วันไหน หรือ ขณะไหน.. ไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร! เพราะว่า.. มันเห็นได้ยาก! มันละเอียด มันเห็นได้ยาก ให้อภัยตัวเอง.. ไม่เป็นไร.. ดูต่อ!! รักษาไปเรื่อยๆ มันเห็น ไม่เห็น.. ก็ทำสมถะต่อไป มันทุกข์อีก.. ก็ ‘เอ้อ! ทุกข์อีกแล้ว’ ทุกข์อีกแล้ว ก็แสดงว่า.. “ตกลงไปในกาม” อีกแล้ว อย่างนี้นะ! “รักษาจิต” ก็คือ รู้ทัน.. เอามาทำสมถะต่อ “มันเห็นได้ยาก” แต่มันเห็นได้ทีเนี่ยนะ ควรให้รางวัลตัวเอง ควรจะดีใจ.. เพราะมันเห็นได้ยาก! มันละเอียด.. มันเห็นได้ยาก พอเห็นได้ที ควรจะดีใจ ให้รางวัลตัวเองหน่อย ‘โห! ฉันเห็นแล้ว ของเห็นได้ยาก.. ฉันเห็นแล้ว..’ ให้ดีใจ “จิตตัง คุตตัง สุขาวะหัง” “คุตตะ” แปลว่า “คุ้มครอง” การทำอย่างนี้ เรียกว่า.. เป็นการ “คุ้มครองจิต” โดยจิตเองที่ฝึกมาดี จิตที่คุ้มครองดีแล้ว.. นำสุขมาให้ สุขในที่นี้.. ไม่ใช่สุขแค่ในเรื่องของกามแล้ว แต่เป็นสุขในระดับสูงขึ้นไป..สูงขึ้นไป.. จนกระทั่งถึง.. “พระนิพพาน” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “ฝึกใจไม่ให้หดหู่ ” วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/MddicOf8zGE (นาที 16:10 – 17:58)

อ่านต่อ