All posts by gade

สะสมความหมักหมม

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๔

สะสมความหมักหมม

….ถ้าพร้อม ทำในสิ่งที่สูงสุด ทำสิ่งที่ดีที่สุด
เท่าที่มนุษย์จะทำได้ คือทำวิปัสนากรรมฐาน
ทำวิปัสสานากรรมฐานที่ดีที่สุดของเรา คือดูจิต

ดูจิตได้ – ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ – ดูกาย
ถ้าดูจิต – ดูกาย นี่ยังอยู่ใน (เส้นทางของ) วิปัสสนาอยู่

เพราะเวลาดูจิต จะ (เห็นว่า)ไม่มีเรา
เวลาดูกาย ก็จะ (เห็นว่า) ไม่มีเรา

แต่ถ้าดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ..อย่าฟุ้งซ่าน
ให้ทำความสงบ (โดย) ส่งจิตไปอยู่จุดใดจุดหนึ่ง

น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่ไม่ยั่วกิเลส
ดูแล้วมีความสุข อยู่กับสิ่งนั้นต่อเนื่อง

(ทำแล้ว)ได้สมถะ
ได้สมถะก็ยังโอเค เป็นกุศลนะ !

แต่ถ้า ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้
สมถะก็ไม่มี หลงเพลิน

ตอนนี้ขาดทุนนะ สะสมกิเลสอยู่นะ
แล้วมันไม่ได้สะสมแบบฟรี ๆ ด้วยนะ

สะสมแบบหมักหมมนะ

‘ทุกขณะที่มีกิเลสเนี่ย หมักหมมไปแล้วนะ’

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม “งานยุ่งทั้งวันจะปฏิบัติธรรมอย่างไร”
ณ สวนธรรมศรีประทุม
วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๖

ฟังเสียงธรรมได้ที่แผ่นซีดีงานยุ่งฯ
ไฟล์ 560828-20 ถาม-ตอบ ระหว่างเวลา ๐๓.๕๐-๐๔.๔๙
ดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/2l5TB9A

แค่ลอด ..ก็รอดแล้ว

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๓

แค่ลอด ..ก็รอดแล้ว

…ใครเคยเดินป่ามั้ย ?
(ถ้าพุ่มไม้ขวางทาง) ก็ไม่จำเป็นต้องไป (ถาง) ทำทางให้มันเตียน

อุปสรรคต่าง ๆ ไม่ต้องไปฝ่าฟัน
(คือไม่จำเป็นจะต้อง)ไปฟัน ๆ ๆ ให้มันราบไปกับฝีมือของเรานะ ..ไม่ต้อง !

แค่ลอด ..ก็รอดแล้ว ! เข้าใจมั้ย ?
ฟังดี ๆ นะ แค่ลอด ก็รอดจากตรงนั้นมาแล้ว
ไม่ต้องไปทำลายมัน

เราเจอ (กิเลส) อะไรนะ เราจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า
ฉันต้องจัดการมันให้ได้

(เคย) เป็นอย่างนั้นมั้ย ?
มีกิเลสมา.. ‘ฉันต้องฆ่ามันให้ได้ ต้องจัดการมันให้หาย’

จริง ๆ ไม่ต้องอะไรมาก แค่ (รู้จักกิเลส) รู้จักมัน
ตอนรู้จักมันนะ สติรักษาจิตทันที
มีสติปุ๊บ ! ..รอดแล้ว !

ไม่ต้องไปตั้งเป้าว่าต้องทำลายกิเลสตัวนั้น
แค่รู้ว่ามีกิเลสตัวนั้น ..รอดแล้ว !
แล้วไปง่าย ไปเร็ว

เพราะจุดหมายปลายทาง .. จุดหมายของการเดินทาง
ไม่ใช่ไปทำให้พุ่มไม่นี้หายไป .. ให้กิ่งไม่นี้หายไป

แต่คือ ทำให้มันไปถึงจุดหมาย เอาตัวนี้เป็นจุดหมาย

ฉะนั้น อย่าเสียเวลากับการห้ำหั่นกับกิเลส
แค่รู้จัก

ขณะรู้จัก จิตมีสติ แล้วสติรักษาจิตเอง
ไม่ต้องไปเสียเวลาฆ่ามัน

ไม่ต้องเสียเวลาที่จะคิดว่า ‘จะทำยังไงให้มัน (กิเลส) หายไปจากชีวิต’
ไม่หาย ! เพราะเราเป็นปุถุชน

ผู้หนา เหนอะหนะ หนักแน่น เหนียวหนึบหนับ ไปด้วยกิเลส
มันไม่มีทางพ้นไปได้หรอก

แค่รู้จักมัน
ตอนรู้จักเนี่ย ! รอดทันที
เพราะสติรักษาจิตเรียบร้อยแล้วในขณะนั้น…

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สรู้ธรรม ครั้งที่ ๔
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๘

รับฟังเสียงธรรมได้ที่แผ่นซีดีรู้ธรรม ๒, ๓, ๔
ไฟล์ 05 – รู้ธรรม580406 – ธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ระหว่างเวลา ๐๔.๓๒ – ๐๖.๓๖
สามารถดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่ http://bit.ly/2ey2P6A

ความประมาทล่วงเกิน

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๒

“ความประมาทล่วงเกิน”

เราเชื่อกันว่า…
จิตของพระพุทธเจ้า …ไม่มีขอบเขต

พระธรรมของพระพุทธองค์ …ก็ไม่มีขอบเขต
จิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย …ก็ไม่มีขอบเขต

(ด้วยความที่) จิตท่านไม่มีขอบเขตเนี่ย..
(ในอีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้) ล่วงละเมิดที่ไหนก็ได้ (ด้วย) นะ

ล่วงละเมิดปุ๊บ ! ก็มี “โทษ” รออยู่นะ !
แต่ (แม้) ท่านไม่ได้เอาโทษกับเราด้วยนะ
(มันก็) “เป็นไปตามกรรม”

ฉะนั้น ..อย่า ! ..
อย่าเล่นกับของที่ควรบูชา !

อย่าเล่นกับสิ่งที่ควรบูชา !
(ถ้าเผลอประมาทไป ก็) ระลึกให้ได้ถึงความผิดพลาดของตัวเองให้ทัน

ระลึกให้ได้ถึง…
ความประมาทล่วงเกินครูบาอาจารย์
ความประมาทล่วงเกินในพระรัตนตรัย

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ ฐณิชาฌ์ รีสอร์ท
แผ่นซีดี วิถีธรรม๓ ไฟล์ 571116_มรดกที่ถูกลืม
แทรก 03.ขอขมาหลวงพ่อคำเขียน ระหว่างเวลา ๐๖.๒๐-๐๗.๔๘

สามารถดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่ http://bit.ly/2kRnk5n

หาเครื่องอยู่ให้จิต

วรรคทอง วรรคธรรม #๑๐๑

หาเครื่องอยู่ให้จิต

..ใจคิด ..จะรู้สึกได้ง่ายถ้ามีเครื่องอยู่
คนที่ฟุ้งซ่านไม่มีเครื่องอยู่ ก็หาเครื่องอยู่เอาไว้

จะอยู่กับอะไร ?
อยู่กับลมหายใจ (ก็ได้)

อยู่กับเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้
แล้่วพอมันผิดไปจาก (เครื่องอยู่) นั้น .. “รู้สึกตัว”

“รู้สึกตัว” รู้อะไร ?
รู้ว่าเผลอไป รู้ว่าคิดไป

ไม่ต้องสนใจว่าคิดอะไร ก็แค่ “รู้” ว่าคิด
แต่ตอนคิดนะ ! คิดในเรื่องราว

(ตอนรู้ รู้ว่าใจคิด)
แต่พอรู้แล้ว.. ก็ไม่ต้องไปห้ามความคิด
ถ้าไปห้ามความคิด.. งานจะเยอะ !

จิตมีปกติจะต้องรู้อารมณ์
ถ้าเราไม่อยากให้มันคิด บังคับมันไว้อยู่กับที่เนี่ยนะ !
เราจะทำงานมาก หนักและเครียด…

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ บ้านจิตสบาย
วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙
ไฟล์ 590424_ พระอริยเจ้า มีใจดั่งมฤค Track 07.พระอริยเจ้า มีใจดั่งมฤค
ระหว่างเวลา ๘.๔๕-๑๐.๕๕ ดาวน์โหลดรับฟังได้ที่ http://bit.ly/1NIiYHx

เห็นความเคลื่อนของจิต จิตจะตั้งมั่นพอดี

วรรคทอง วรรคธรรม #๑๐๐

เห็นความเคลื่อนของจิต จิตจะตั้งมั่นพอดี

การมีที่อยู่จึงจะรู้ ให้มีประโยชน์ว่า..
มีสติรู้กิเลสได้ง่ายขึ้น

พอรู้ไปมาก ๆ เข้า เราจะมีทักษะในการรู้
เขาเรียกว่า ‘รู้สภาวะ’

สภาวะที่ว่านี้ มันไม่ใช่เป็นคน ไม่ใช่เป็นสัตว์
แต่เป็นอาการทางใจ

อาการที่มันเผลอไป
ก่อนจะเผลอ มันมีการเคลื่อนจากที่อยู่ตรงนี้
อันนี้เขาเรียกว่าต้องอาศัยทักษะ

แรก ๆ ถ้าใครไม่เห็นเคลื่อน
ให้รู้ไปถึงตอนที่มันมีกิเลสแล้วก็โอเค
ยังถือว่า ..ยังเกิดกุศลคือ เกิดสติ !

แต่พอเรามีทักษะมากขึ้นเนี่ย
จากที่มีที่อยู่แล้วนะ ตอนมันเผลอเนี่ย

มันไม่ใช่ว่าจะแวบไปอย่างเดียวนะ !
มันจะมีอาการเคลื่อน

ถ้าใครเห็นอาการเคลื่อนได้เนี่ย !
จะได้กุศลอีกตัวหนึ่ง เป็นกุศลที่ ..พิเศษมากเลย

คือเรียกว่า ถ้าเห็นอาการเคลื่อน ก็จะได้สมาธิตัวที่เป็นจิตตั้งมั่น

จิตตั้งมั่นแปลว่า ..มันไม่เคลื่อน
แต่ถ้าเคลื่อนแสดงว่า ..มันไม่ตั้งมั่น

ถ้าเห็นความเคลื่อนของจิต
จิตจะตั้งมั่นพอดีเพราะไปเห็นจิตพอดี !

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ สวนธรรมธาราศัย นครสวรรค์
วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘

รับฟังเสียงธรรมที่แผ่นซีดีศาลาเรียนรู้กายใจ
ไฟล์ 1.08.บทเรียนชาวพุทธ – เดินปัญญา
ระหว่างเวลา ๐๓.๓๓-๐๔.๕๖

ดาวน์โหลดที่ลิงก์ http://bit.ly/2ianEu4

ปลิโพธ สำหรับฆราวาส

ถาม : อยากได้ข้อแนะนำเรื่อง ปลิโพธ สำหรับฆราวาส ควรทำอย่างไรครับ ?

ตอบ : ปลิโพธ แปลว่า เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยว เป็นเหตุให้ใจติดข้อง เป็นห่วง กังวล

ปลิโพธ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับที่อยู่ ว่าจะต้องซ่อมต้องสร้าง แต่ถ้าอยู่แบบใจไม่ผูกพันก็ไม่เป็นไร

๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูล ถ้าเป็นพระก็หมายถึงตระกูลอุปัฏฐาก ถ้าเป็นฆราวาสก็หมายถึงคนในครอบครัว ก็ควรวางใจให้ได้

๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ มีคนเลื่อมใสมาก ก็มีคนเอาของมาให้มาก มัววุ่นจัดของ หรือกังวลว่าจะรักษาของเหล่านั้น จนไม่มีเวลาเจริญกรรมฐาน ก็ควรหาโอกาสปลีกวิเวกบ้าง

๔. คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับหมู่คณะ มีบริวารมาก ต้องกังวลในความประพฤติ หรือยุ่งกับงานสอน ต้องคอยตอบคำถาม ก็ควรมีผู้แบ่งเบาภาระบ้าง ให้มีหน้าที่กันเป็นลำดับชั้น ฝึกรุ่นพี่ให้มีความสามารถในการดูแลรุ่นน้อง อย่างนี้เป็นต้น

๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่นงานก่อสร้าง ก็ควรทำให้เสร็จ หรือมอบหมายให้ผู้ที่มีความสามารถช่วยรับงานไป หรือวางใจได้ว่า “เสร็จเท่าที่ทำได้”

๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกล เพราะมีธุระต้องไปทำ ก็ทำให้เสร็จ ให้หมดกังวล

๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติ ข้อนี้เน้นในแง่เจ็บป่วย ก็ควรไปช่วยขวนขวายรักษา จนกว่าจะหมดห่วง

๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ก็ควรรักษาไปตามโอกาส ถ้าไม่หาย ก็ควรระลึกไว้ว่า กายป่วยได้แต่ใจจะไม่ป่วยด้วย

๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน วุ่นวายอยู่กับการท่องจำหรือค้นคว้าตำรา แต่ถ้าเรียนแบบไม่วุ่นก็ไม่เป็นไร เพราะปริยัติที่จำเป็นเพื่อความพ้นทุกข์สำหรับแต่ละคนนั้นมีไม่มาก

๑๐. อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ ข้อนี้สำหรับผู้ที่มีฤทธิ์ ฤทธิ์ของปุถุชนเป็นของเสื่อมได้ ถ้ามัวแต่กังวลหรือยุ่งอยู่กับการรักษาฤทธิ์ ก็กลายเป็นปลิโพธ เจริญวิปัสสนาต่อไปไม่ได้

๙ ข้อแรก เป็นเครื่องกั้นต่อการเจริญสมถะเท่านั้น ไม่เป็นเครื่องกั้นต่อวิปัสสนา เพราะการทำสมถะ ต้องอาศัยสัปปายะต่าง ๆ หลายข้อ รวมทั้งต้องปลอดจากปลิโพธเหล่านี้ด้วย จิตจึงสงบ

ส่วนข้อสุดท้าย เป็นเครื่องกั้นต่อการเจริญวิปัสสนา ไม่เป็นเครื่องกั้นต่อสมถะ เพราะก่อนจะได้ฤทธิ์ ก็ต้องเจริญสมถะจนได้ฌานมาอย่างชำนาญแล้ว

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีฤทธิ์ ดูเหมือนว่าไม่มีฤทธิ์ให้ห่วง แต่ก็อาจจะห่วงในแง่ที่ว่า อยากจะมีฤทธิ์ก่อน ก็เลยไม่ได้เจริญวิปัสสนาเสียที

ปลิโพธเหล่านี้ มีได้ทั้งพระและฆราวาส ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังมีโลภะ ก็เป็นธรรมดาที่จะมีความติดข้องในสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง มีแล้วใจไม่ปลอดโปร่ง ทำให้ปฏิบัติก้าวหน้าต่อไปได้ยาก ก็เพียงทำความรู้จักมัน แล้วละไปเสีย และไม่ต้องกังวลว่า “เรามีปลิโพธ ทำอย่างไรดี ? ” กลายเป็น “กังวลเรื่องความกังวล” ! แค่รู้ว่าจิตเมื่อกี้กังวล ก็ใช้ได้

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐

บอกทางคนหลงทาง

ถาม : การบอกทางแก่คนหลงทางถือเป็นธรรมทานรึไม่ครับ ?

การบอกความจริงแก่คนอื่น ๆ ในทุกเรื่องราว แม้แต่เรื่องโลกียวิสัยที่เป็นสิ่งถูกต้องเพื่อการดำรงชีพที่ถูกต้อง ..ถือเป็นการให้ธรรมเป็นทานด้วยหรือไม่ ?

ธรรม แปลว่า อะไรแน่ ? ธรรม แปลว่า ความจริงครับ จริงแบบสมมติ กับ จริงแบบปรมัตถ์ ธรรมมีสองอย่าง

สัจจะ แปลว่า ถูกต้องดีงาม…

#ตอบ: เนื่องจากเป็นคำถามที่เนื่องมาจากตอบโจทย์ #๘๑ ซึ่งมีโจทย์มาว่า “ระหว่างให้ธรรมะเป็นทาน กับอภัยทาน สิ่งไหนที่สูงสุด ? ”

ประเด็นอยู่ที่ “สิ่งไหนสูงสุด ? ” ระหว่างธรรมทานกับอภัยทาน

เข้าใจว่า ผู้ที่ตั้้งโจทย์ก็ทราบอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งคู่ แต่รู้สึกว่าก้ำกึ่งกัน คำอธิบายจึงมุ่งไปที่ความหมายสูงสุด ซึ่งเป็นจุดชี้ชัด เพื่อตัดสินว่า คำตอบควรจะเป็นสิ่งไหน

ทาน มี ๒ อย่าง คือ ๑. อามิสทาน การให้สิ่งของ ๒. ธรรมทาน การให้ธรรม, การให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน

อามิสทานช่วยค้ำจุนชีวิตผู้รับ ทำให้เขามีที่พึ่งที่อาศัย แต่ธรรมทานช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้ต่อไป ธรรมที่จะให้เป็นทานก็มีทั้งระดับ “โลกียธรรม” และ “โลกุตรธรรม”

อภัยทานจัดอยู่ในธรรมทาน แต่ไม่เหนือกว่าธรรมทาน

จุดตัดสินเด็ดขาดก็อยู่ที่ธรรมทานมีการนำโลกุตรธรรมมาบอกมาสอน และผู้สอนพระองค์แรกก็คือพระพุทธเจ้า คำอธิบายจึงรวบรัดมาที่โลกุตรธรรมทีเดียว

คำว่า “ธรรม” มีความหมายกว้างขวางมาก จะแปลว่าสภาวะ, สิ่ง, ปรากฏการณ์, สิ่งทั้งหลายประดามี, ความดี, ความถูกต้อง, ความจริง, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฯลฯ

และมีหลายหมวด เช่น รูปธรรม – อรูปธรรม, สังขตธรรม – อสังขตธรรม, โลกียธรรม -โลกุตรธรรม เป็นต้น

ธรรม ๓ ก็มี (กุศลธรรม, อกุศลธรรม, อัพยากตธรรม) ธรรม ๔ ก็มี (ปริญไญยธรรม, ปหาตัพพธรรม, สัจฉิกาตัพพธรรม, ภาเวตัพพธรรม)

เบญจธรรม (เมตตากรุณา, สัมมาอาชีวะ, กามสังวร, สัจจะ, สติสัมปชัญญะ) ก็เรียกว่า ธรรม ๕

ความหมายเต็มที่ของศัพท์ว่า “ธรรม” คือ สิ่งทั้งหลายประดามี สภาวะที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจก็เป็นธรรม เรียกว่า กุศลธรรม สภาวะที่ตรงข้ามกับกุศลก็เป็นธรรม เรียกว่า อกุศลธรรม

ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม ก็รวมลงในธรรมที่เรียกว่า สังขตธรรม เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็มี เรียกว่า อสังขตธรรม คือนิพพาน

แต่ศัพท์ “ธรรม” ในคำว่า “ธรรมทาน” ไม่กว้างเต็มที่อย่างนั้น

ในที่นี้เลือกอธิบายศัพท์ “ธรรม” ในคำว่า “ธรรมทาน” ในแง่ที่เป็นคำสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และจับที่ธรรมหมวด ๒ คือ โลกียธรรม – โลกุตตรธรรม

– โลกียธรรม หมายถึง ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ ขันธ์ ๕ ที่ยังมีอาสวะทั้งหมด

– โลกุตรธรรม หมายถึง ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก สภาวะพ้นโลก ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ส่วนที่แยกเป็น “สมมติ” กับ “ปรมัตถ์” อยู่ในหัวข้อ “สัจจะ” มีคำเต็มว่า สมมติสัจจะ – ปรมัตถสัจจะ

อนึ่ง คำว่า “ปรมัตถธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ ที่นิยมพูดกันมาเป็นหลักทางพระอภิธรรม แปลว่า สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๐

ให้ธรรมะกับอภัย

ถาม : ระหว่างให้ธรรมะเป็นทาน กับอภัยทาน สิ่งไหนที่สูงสุดคะ ?

ตอบ : เท่าที่ทราบ มีแต่ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง” โดยมีหลักฐานเป็นพุทธพจน์ในธรรมบทว่า

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง
รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง

ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง.

แต่สำหรับ “อภัยทาน” อาตมายังไม่พบว่ามีพุทธพจน์ตรัสยกย่องว่าเป็นทานสูงสุดเลย จะมีก็เพียงคำของพระอรรถกถาจารย์ ที่อธิบาย “ทานสูตร” ในคัมภีร์อิติวุตตกะ

ซึ่งในพระสูตร ตรัสแสดงทาน ๒ อย่าง คือ อามิสทาน และธรรมทาน แล้วทรงชี้ว่า ในบรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ

แล้วพระอรรถกถาจารย์ก็อธิบายว่า “ในอธิการนี้ อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทานนั่นเอง”

ตามหลักฐานเท่าที่มี อภัยทานจึงยังไม่ใช่ว่าจะชนะหรือเหนือกว่าธรรมทาน เป็นแต่เพียงอยู่กลุ่มเดียวกัน คือเป็นทานที่ไม่มีอามิสด้วยกัน

ทีนี้ก็มาวิเคราะห์กันต่อ

ทาน แปลว่า การให้ ก็มีทั้งให้สิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

อามิสทาน แปลว่า การให้สิ่งของ อามิส ในที่นี้หมายถึงสิ่งของ

ธรรมทานและอภัยทานจัดอยู่ในส่วนที่ให้นามธรรม ธรรมทาน แปลว่า การให้ธรรม, การให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน อภัยทาน แปลว่า ให้ความไม่มีภัย

ในแง่คุณสมบัติของผู้ให้

ผู้ที่จะทำอามิสทาน ก็ต้องมีอามิส เช่น เงินทองทรัพย์สมบัติเป็นของตนเองเสียก่อน จึงจะทำอามิสทานได้

ผู้ที่จะทำอภัยทาน ก็ต้องมีความไม่มีภัย คือผู้ให้อภัยทานจะไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้รับ ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจา หรือใจ อภัยทานในอีกนัยหนึ่งจึงหมายถึงความไม่โกรธ

ผู้ที่จะทำธรรมทาน ก็ต้องมีธรรมเสียก่อนจึงจะทำธรรมทานได้ คือต้องเข้าใจหายสงสัยในธรรมนั้น ๆ ด้วยปัญญาตนเองเสียก่อน จึงจะไปบอกสอนผู้อื่นได้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พ้นทุกข์แล้ว จึงตรัสสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ตามได้ อย่างนี้เรียกว่า ธรรมทาน

พระสาวกทั้งหลายศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จนมีปัญญารู้ธรรม แล้วก็บอกต่อ ไม่ว่าจะในรูปแบบแสดงธรรม สนทนาธรรม หรือเขียนหนังสือ อย่างนี้ก็เรียกว่า ธรรมทาน

เหล่าเดียรถีย์ที่มีมิจฉาทิฐิ สอนสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็นทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ การสอนนั้นไม่ชื่อว่าธรรมทาน เพราะยังไม่มีธรรม ยังไม่รู้ธรรม ทำได้เพียงเผยแพร่ความเห็น (ที่เป็นมิจฉาทิฐิ)
สิ่งที่ให้ก็เป็น “อธรรม”

สำหรับอภัยทาน
สิ่งที่ “ผู้รับ” ได้รับ คือ ความไม่มีภัย

อานิสงส์ที่ “ผู้ให้” ได้ คือ มีศีล ได้ฝึกจิตให้ไม่โกรธ ซึ่งอาจจะต่อเนื่องมาเจริญเมตตา และทำฌานได้

สำหรับธรรมทาน
สิ่งที่ “ผู้รับ” ได้รับ คือ ปัญญา ถ้าในขั้นสูงสุดก็ได้ถึงขั้นอรหัตตผล

อานิสงส์ที่ “ผู้ให้” ได้ คือ ได้รักษาพระศาสนา แม้ผู้แสดงธรรมนั้นยังไม่บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุด ก็มีปรากฏอยู่ว่าบรรลุอรหัตตผลได้ในระหว่างแสดงธรรมนั้น

ยิ่งเมื่อพิจารณาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว การให้อภัยทานย่อมเป็นไปเอง เพราะจิตปราศจากกิเลสอันเป็นเหตุที่จะสร้างภัยใกล้กับผู้ใด

แต่ถ้าพระพุทธองค์ไม่ให้ธรรมทาน ให้แต่อภัยทานประการเดียว พระพุทธศาสนาก็ไม่เกิดมีขึ้น ผู้ที่จะบรรลุมรรคผลก็มีไม่ได้

แม้ผู้ที่ยังไม่บรรลุมรรคผล เพราะอาศัยการฟังธรรม จึงรู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ กุศลต่าง ๆ ทั้งอามิสทานและอภัยทาน ย่อมเจริญขึ้นตามลำดับ

ถึงตรงนี้จึงชัดเจนว่า ธรรมทานเป็นเลิศกว่าทานทั้งหลาย สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง”

๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๐

จิตตั้งมั่น กับ จิตถึงฐาน

ถาม : ช่วงนี้มีน้อง ๆ ที่ฝึกด้วยกัน (ฝึกกันเอง) สงสัยเรื่องสภาวะที่
1. จิตตั้งมั่น 2. จิตถึงฐาน
ผมก็ตอบน้องได้ไม่ชัดเจน เลยขอโอกาสกราบเรียนพระอาจารย์ อยากขอคำแนะนำเรื่องนี้ด้วยครับ (ชมรมพวกขี้สงสัย สงสัยพอรู้ว่าสงสัย แต่ก็ยังสงสัยกันครับ ^_^ )

ตอบ : จิตตั้งมั่น กับ จิตถึงฐาน สองคำนี้ใช้แทนกันได้

ที่ว่า “จิตถึงฐาน” คือถึงที่ “จิต”

เวลาเราเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้กาย จิตไม่ไหลไปที่กาย มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู อย่างนี้ก็เรียกว่า “จิตถึงฐาน”

เวลาเราเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้เวทนา จิตไม่ไหลไปที่เวทนา มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู สุขทุกข์ทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้ก็เรียกว่า “จิตถึงฐาน”

เวลาเราเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้จิต จิตไม่ไหลไปที่อารมณ์ มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู กิเลสทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้ก็เรียกว่า “จิตถึงฐาน”

“จิตตั้งมั่น” คือจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เผลอไม่เพ่ง นุ่มนวล ว่องไว ไม่หนัก ไม่แน่น ไม่แข็ง ไม่ซึม ไม่ทื่อ

เวลาที่จิตตั้งมั่น จิตจะเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ต่างหาก ไม่ถลำไปที่อารมณ์ ก็จะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนาม เช่น เห็นกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู

ผลจากการที่จิตตั้งมั่น มันจะเห็นสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาตามความเป็นจริง คือเห็นว่าเป็นเพียงสภาวะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา คือเห็นอนัตตลักษณะ

บางทีก็จะเห็นว่า กิเลสที่เห็น มันไม่เที่ยง เมื่อกี้มี ขณะนี้ไม่มี เห็นบ่อย ๆ ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ทุกอย่างล้วนชั่วคราวทั้งหมด คือเห็นอนิจจลักษณะ

รวมแล้วคือ เมื่อมีจิตตั้งมั่น ก็จะเห็นไตรลักษณ์แง่ใดแง่หนึ่งได้ และเป็นการเห็นเองจริง ๆ ไม่ใช่คิดเอา

จิตตั้งมั่น กับ จิตถึงฐาน จะเรียกอีกอย่างว่า “สัมมาสมาธิ” ก็ได้

๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๐

ทุกข์เพราะไปขืนและฝืนโลก

วรรคทอง วรรคธรรม #๙๙

ทุกข์เพราะไปขืนและฝืนโลก

…ที่เราทุกข์กับโลกที่มันเปลี่ยนแปลง
เพราะว่า ..เราต้องการให้คนนี้เป็นอย่างนี้

คนนั้นต้องเป็นอย่างนั้น
สิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนี้.. ตามใจเรา

แล้วเราไม่ได้สร้างเหตุน่ะ !
อยากให้มันเป็นอย่างนี้ แล้วไม่ได้ใส่เหตุมัน
แล้วมันไม่เป็นตามปรารถนา.. แล้วเราก็ทุกข์ !

พอได้สิ่งนี้ขึ้นมา ..แม้แต่ได้แล้วนะ !
ต้องการให้มันอยู่ตลอดไป.. เป็นไปไม่ได้อีก !

ใจเราเนี่ยไปขืน.. ขืนกับความจริงของโลก
ทำให้ใจนี่ต้องทุกข์อยู่เสมอ

ใจไม่เข้าใจความจริงของโลก
จึงไปขืนและไปฝืนโลก.. เข้าใจมั้ย ?

ปัญญาตรงนี้ต้องสร้าง
ไม่ใช่อยู่ ๆ จะมีปัญญาฉลาดขึ้นมา

เห็นโลกแล้วเข้าใจ (เอง) ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ! ..
ต้องสร้าง (เหตุ)

การสร้างปัญญาตรงนี้ขึ้นมา.. มันมีกระบวนการฝึกฝน
ซึ่งกระบวนการฝึกฝนตรงนี้..
แล้วแต่ว่าพระพุทธเจ้าจะสอนใคร ?

ส่วนใหญ่เนี่ยนะ ! มันจะอยู่ในเรื่องของไตรสิกขา
คือเรียนเรื่อง ๓ เรื่อง

ไตรสิกขา แปลว่า ..การศึกษา ฝึกฝน ๓ เรื่อง
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่ภาษาที่ถูกต้องเต็ม ๆ นะ ก็คือ
สีลสิกขา จิตตสิกขา แล้วก็ ปัญญาสิกขา

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ บ.โตโยต้า ชัยรัชการ จก.
วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙

รับฟังเสียงธรรมที่แผ่นซีดี วิถีธรรม ๑
ไฟล์ 590312 – 01.ปัญญาเข้าใจโลก ระหว่างเวลา ๐๘.๑๑-๐๙.๑๓
ดาวน์โหลดเสียงธรรมที่ลิงก์ http://bit.ly/2icISre

สติชิมลาง

วรรคทอง วรรคธรรม#๙๘

สติชิมลาง

…สภาวะแท้ ๆ ไม่บอกว่ามีตัวตนอะไรเลย
นั่นเวลาเราดู (สภาวะ) มีฉันอยู่นะ !
มันก็เกือบ ๆ (เป็นสติแท้ ๆ) แล้ว แต่ยังไม่ใช่ !

…มีสติรู้ว่าฉันกำลังโกรธเนี่ยนะ เกือบใช่แล้ว
เริ่มมีพัฒนาการแล้ว แต่ยังไม่ใช่

มันยังดีว่า ..มันเริ่มเตือนตัวเองได้
แต่ว่ามันยังไม่ใช่เห็นสภาวะแท้ ๆ

เห็นสภาวะแท้ ๆ ต้องเห็นสภาวะ แล้วมันโชว์ความจริงเลยทันที
สภาวะนั้นจะโชว์ความจริงเลยทันทีว่า ..มันไม่ใช่เรา

แต่จิตมันจะเห็นหรือเปล่า ยังไม่แน่
มันจะโชว์ความจริงเลยว่า ..เป็นความโกรธ

โชว์ความจริงเลยว่า ..เป็นความรัก
โชว์ความจริงเลยว่า ..เป็นความฟุ้ง

โชว์ความจริงเลยว่า ..เป็นความหดหู่
หมดแรง ขี้เกียจ ขี้คร้าน

เวลาดู ! ..ถ้ามันยังเห็นสภาวะว่า ..ฉันเป็นอย่างนั้นนะ !
ดูไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็จะเห็นสภาวะแท้ ๆ ขึ้นมา ..สักครั้งหนึ่ง

พอเห็นสภาวะแท้ ๆ ขึ้นมาสักครั้งเนี่ยนะ ตอนนั้นน่ะ ..ใช่ !
คือเห็นด้วยสติ แต่เป็นสติแบบเบื้องต้น

..เห็นฉันโกรธเนี่ยเกือบใช่
ยังไม่ใช่สตินะ ..เกือบใช่สติ

เห็นสภาวะแล้วเนี่ย ยังเป็นแค่เบื้องต้น
จิตมันจำความโกรธ

ตอนนั้นมันคล้าย ๆ กับว่าต้องตั้งใจดู
ถ้ายังเป็นการตั้งใจดู ว่าเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น

ขณะนั้นเป็นการฝึกให้เกิดสติ
สติที่เกิดขึ้นเป็นแค่ชิมลาง

ให้รู้ว่าสภาวะมันเป็นอย่างไร
ยังไม่ใช่ ‘สติตัวแท้’ ที่ต้องการ

ฟังอย่างนี้เหมือนยากมั้ย !

นี่บอกให้เห็นว่า ..
มันมีตัวหลอกอยู่ในระหว่างการปฏิบัติอยู่เรื่อย ๆ
มันจะมีตัวหลอกว่าฉันได้สติแล้ว แต่จริง ๆ ยังไม่ใช่ !

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม ณ ฐณิชาฌ์รีสอร์ท อัมพวา
วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๘

รับฟังเสียงธรรมที่แผ่นซีดีวิถีธรรม ๒
580419_พลิกอกุศลเป็นกุศล แทรก 02.ระวังตัวหลอก ระหว่างเวลา ๐๔.๔๘-๐๗.๔๐
ดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่ http://bit.ly/2i8EE5x

พ้นทุกข์ด้วยปัญญา

วรรคทอง วรรคธรรม#๙๗

พ้นทุกข์ด้วยปัญญา

ความเผลอไป เพลินไปเนี่ย.. จะทำให้ไม่เห็นสภาวะ
ความบีบบังคับ พยายามทำสมถะนี่นะ.. จะไม่เห็นไตรลักษณ์

พอไม่เห็นไตรลักษณ์.. ก็จะไม่เกิดปัญญา
ไม่ถึงจุดหมายแห่งการปฏิบัติของเรา

จุดหมายของการปฏิบัติคือ..
ปฏิบัติแล้วต้องเกิดปัญญา

เพราะว่าจุดหมายหลังจากเกิดปัญญาคือ ..พ้นทุกข์
จะพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญา
จะมีปัญญาได้ด้วยจากการเห็นไตรลักษณ์

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สปฏิบัติธรรมเนยยะ
วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙

ไฟล์ 590401_ขยายผล-ฮั่นแน่ ! นักปฏิบัติ
แทรก 05.คนกล้า VS คนน่ารำคาญ ระหว่างเวลา ๔๓.๓๒-๔๓.๕๗

ดาวน์โหลดเพื่อรับฟังเสียงได้ที่ http://bit.ly/1Shx4By

ทำไมจิตนั้นชอบร่อนเร่ ?

ถาม : มีข้อสงสัยเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ ทำไมจิตนั้นชอบร่อนเร่ ไม่อยู่กับวิหารธรรม ครูบาอาจารย์สอนให้หาวิหารธรรมให้จิต ถ้าวิหารธรรมอยู่แล้วมีความสุขจริง แต่ทำไมจิตยังชอบร่อนเร่ หรือเครื่องอยู่นั้นมันสุขไม่เพียงพอจะให้จิตอยู่ จิตเลยชอบที่จะออกร่อนเร่ ?

ตอบ : ธรรมดานะ จิตเรายังอยู่ใน “กามาวจรภูมิ” มันยังพอใจที่จะท่องเที่ยวไปในกาม มันยังติดข้องอยู่กับกาม จะให้มันอยู่นิ่ง ๆ จึงยาก เพราะจิตยังไม่มีความสุขที่จะอยู่กับอารมณ์ที่
เรากำหนด

จิตเรายังไม่ถึงขั้น “รูปาวจรภูมิ” หรือ “อรูปาวจรภูมิ” ซึ่งเป็นภูมิของจิตที่ท่องเที่ยว เชี่ยวชาญในการทำรูปฌานและอรูปฌานตามลำดับ

แต่การที่จิตออกร่อนเร่ ก็เป็น “ความจริงที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน” ถ้าเรายอมรับว่ามีสิ่งนี้อยู่ ด้วยใจที่เป็นกลาง ก็จะเกิดสติปัญญาจากสภาวะนี้ได้

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง คือคำว่า “วิหารธรรม” วิหารธรรมในสติปัฏฐานมีอยู่ ๔ อย่าง คือ กาย, เวทนา, จิต และธรรม วิหารธรรมสำหรับผู้ที่จิตชอบร่อนเร่ คือ จิต

ฉะนั้น เราอาจจะมีคำบริกรรมหรือลมหายใจเป็นเพียงจุดที่อยู่ชั่วคราว ที่เราจะดูจริง ๆ คือ “จิต” ที่มันร่อนเร่ไป

เห็นจิตที่เผลอจากที่อยู่ชั่วคราว ได้สติ เห็นสภาวะเผลอ เห็นจิตที่เคลื่อนออกจากที่อยู่ชั่วคราว ได้สมาธิ มีจิตตั้งมั่น เห็นจิตเผลอไปเอง บังคับไม่ได้ ได้ปัญญา เห็นอนัตตา

ฉะนั้น เราก็มีอารมณ์เป็นที่อยู่ชั่วคราวต่อไป แล้วคอยสังเกตเห็น “จิต” แสดงอาการต่าง ๆ ตามที่มันเป็น

๔ มิถุนายน ๒๕๖๐

สัมมาทิฐิ

ถาม : การย่นย่อมรรคมีองค์ ๘ เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่น่าจะตรงนัก ที่ว่า สัมมาทิฐิ เท่ากับปัญญา นั้น เท่ากันได้เฉพาะพระอริยะเท่านั้น
คือพระอริยะมีสัมมาทิฐิในการเห็นอริยสัจ ๔ เปรียบเหมือนท่านเดินทางถึงกรุงราชคฤห์ซึ่งมองเห็นแล้ว แต่ผู้ที่กำลังอยู่ระหว่างทาง สัมมาทิฐิคือ เชื่อว่าการกระทำมีผล, พ่อแม่มีบุญคุณ,
เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นต้น นี่คือศรัทธา ยังไม่เป็นปัญญา

ตอบ : คำจำกัดความของ สัมมาทิฐิ มีหลายแบบ

แบบแรก พบบ่อย คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ เช่นในมหาสติปัฏฐานสูตร มีพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิ คืออะไร ? ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าสัมมาทิฐิ”

นอกจากนี้ ยังมีคำจำกัดความแบบอื่นอีก เช่น

– เห็นไตรลักษณ์
ดังมีพุทธพจน์ ว่า “ภิกษุเห็นรูป.. เวทนา.. สัญญา.. สังขาร.. วิญญาณ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อเห็นชอบ ก็ย่อมหน่าย เพราะสิ้นเพลิน
ก็สิ้นการย้อมติด เพราะสิ้นการย้อมติด ก็สิ้นเพลิน เพราะสิ้นเพลินและย้อมติด จิตจึงหลุดพ้น เรียกว่า พ้นเด็ดขาดแล้ว”

– รู้อกุศลและอกุศลมูล กับ กุศลและกุศลมูล
ดังมีพุทธพจน์ ว่า “เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งอกุศล.. อกุศลมูล.. กุศล.. และกุศลมูล ด้วยเหตุเพียงนี้ เธอชื่อว่ามีสัมมาทิฐิ มีความเห็นตรง ประกอบด้วยความเลื่อมใสแน่วแน่ในธรรม
เข้าถึงสัทธรรมนี้แล้ว”

– เห็นปฏิจจสมุปบาท

บางแห่ง พระองค์ก็อยากความหมายของสัมมาทิฐิเป็น ๒ ระดับ คือ
๑. ระดับที่ยังมีอาสวะ คือ เห็นว่าให้ทานมีผล, การบูชามีผล, ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว, พ่อกับแม่มี, ผู้ปฏิบัติชอบมี, โลกนี้มี โลกหน้ามี, โอปปาติกะมี, พระพุทธเจ้ามี
๒. ระดับไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ คือองค์มรรคของสัมมาทิฐิ..

ฉะนั้น ที่ผู้ถามกล่าวว่า “สัมมาทิฐิคือ เชื่อว่าการกระทำมีผล, พ่อแม่มีบุญคุณ, เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นต้น นี่คือศรัทธา ยังไม่เป็นปัญญา” นั้น
ที่จริงก็คือ เป็นปัญญาในระดับที่ยังมีอาสวะ นั่นเอง

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐