#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๒ ?? #ถาม : วิจิกิจฉาในนิวรณ์ กับ วิจิกิจฉาในสังโยชน์ ที่พระโสดาบันละได้ สองตัวนี้ต่างกันอย่างไร?…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๒
??
#ถาม : วิจิกิจฉาในนิวรณ์ กับ วิจิกิจฉาในสังโยชน์ ที่พระโสดาบันละได้ สองตัวนี้ต่างกันอย่างไร?

#ตอบ : ต่างกัน..
โดยศัพท์แปลเหมือนกัน วิจิกิจฉา คือ​ ความลังเลสงสัย

ความลังเลสงสัยที่เป็นนิวรณ์ เป็นความลังเลสงสัยทั่วๆไป หมายความว่ามันเป็นความฟุ้งซ่านของจิตประเภทหนึ่ง ที่มันคอยแสวงหาคำตอบไปทั่ว ไม่ระบุว่าจะสงสัยเรื่องอะไร?
คือพอมันสงสัยปุ๊บ​! มัน​ก็​ฟุ้งซ่านที่จะหาคำตอบ จิตขณะนั้นไม่สงบแล้ว
พอไม่สงบแล้ว..จึงเรียกว่าเป็นนิวรณ์ ที่ขัดขวางความสงบบ ขัดขวางสมาธิ ขัดขวางการทำฌาน
ถ้ายังสงสัย ใจก็ยังส่งออกอยู่ ขณะนั้นกายเป็นอย่างไงก็ไม่รู้ ใจเป็นอย่างไงก็ไม่รู้ ใจกำลังสงสัยอยู่ก็ไม่รู้ เพราะมัวแต่แสวงหาว่าคำตอบของเรื่องที่สงสัย​ ว่านี้คืออะไร
เช่น​ สมมุติว่านั่งอยู่ใต้ต้นไม้ เห็นหนอนตัวหนึ่ง เอ๊ะ!หนอนตัวนี้เรียกว่าอะไรนะ? อย่างนี้นะ..จิต​ส่ง​ออกไปแล้วนะ ไปที่ใบไม้แล้วนะ แล้วก็ยังสงสัย.. กายนั่งอยู่ตรงนี้ก็ไม่รู้ ใจกำลังสงสัยก็ไม่รู้ ใจนั้นรับรู้อยู่แค่ว่า..”หนอนตัวนี้เรียกว่าอะไร? มันจะคันไหม? โดนไปแล้วจะเป็นอย่างไง? ตอนเป็นผีเสื้ิอมันจะแบบไหน?” อะไรอย่างนี้นะ.. คิด​ไป.. สงสัยไปว่าเป็นอย่างไร​? การสงสัยนี้เป็นการขัดขวางทำให้ไม่มีสมาธิ ทำให้ไม่ได้ฌาน

แต่ความสงสัยที่เป็นวิจิกิจฉาในสังโยชน์ที่พระโสดาบันละได้นั้น ไม่ได้ตัดความสงสัยพวกนี้
จะเป็นการตัดความสงสัยในเรื่องของ​ ​”พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์” ว่า..พระพุทธเจ้ามีจริงไหม? พระธรรมสอนให้ถึงความพ้นทุกข์ได้จริงหรือเปล่า? สงฆ์ที่จะปฏิบัติถึงความพ้นทุกข์มีจริงอยู่หรือเปล่า?
อันนี้​พระ​โสดาบันท่านละไปได้แล้ว
ตัววิจิกิจฉาในสังโยชน์มุ่งเน้นไปแค่สามเรื่องนี้ คือสงสัยในพระรัตนตรัย

#ถาม : ดังนั้นคนที่สงสัยในนิวรณ์ เขาจะทำอย่างไรดีครับ?

#ตอบ : ให้รู้ทันว่า..สงสัย! แค่นั้นเอง!
ความสงสัยมันหลอกอยู่ วิจิกิจฉามันหลอกอยู่ หลอกให้ควานหาคำตอบ
เช่น​ อ่านข่าวแล้วสงสัย ฟังคนพูดแล้วก็สงสัยอะไรอย่างนี้ แค่รู้ว่าสงสัยเท่านั้นเอง
บางคำถามในใจเนี่ยนะ ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ! มันเป็นตัวหลอกเฉยๆ หลอกให้จิตมันฟุ้งซ่านออกไป ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
พอมีสงสัย..แล้วรู้ว่าสงสัยนะ! จิตมันสงสัยอยู่ แล้วรู้ว่าจิตสงสัย คือเห็นจิตแล้ว พอเห็นจิตแล้วจิตขณะนั้นก็มีสติแล้ว อย่างน้อยก็มีสติ​เห็น​จิตแล้ว
ถ้าเห็นว่าจิตมันเคลื่อนไปสงสัย อย่างนี้ได้ทั้งสติและสมาธิ
ถ้าเห็นว่าจิตสงสัยได้เอง อย่างนี้เกิดปัญญาด้วยซ้ำไป เห็นว่าจิตนี้เป็นอนัตตา เราบังคับจิตไม่ได้ มันสงสัยไปเอง อย่างนี้ดีมาก!
เรียกว่าอาศัยสิ่งที่ปรากฎอยู่ในจิต พอรู้ทันก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จิตก็จะฉลาดมากขึ้น อย่างนี้พอมันเกิดขึ้นอีกมันจะหลอกเราไม่ได้แล้ว
ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิด​ความ​สงสัย​อีกนะ! มันก็จะเกิดอีก แล้วก็รู้ทัน เกิดอีกแล้วก็รู้ทัน

เกิด​สงสัยอีกเมื่อไหร่..ขณะนั้นเรียกว่ามี”วิจิกิจฉา”เกิดขึ้น
พอรู้ทันอีกเมื่อไหร่ อย่างน้อยๆได้สติแล้ว
ถ้ารู้ทันว่า​จิตมันเริ่มไหลไปสงสัย อย่างนี้ได้สมาธิด้วย
แล้วถ้ารู้ทันขณะที่มันสงสัยว่า.. “มันสงสัยเอง” เราจะได้กุศลสามตัว​ (คือ​สติ, สมาธิ​และ​ปัญญา)​ ขณะที่เห็นวิจิกิจฉาขณะเดียว

เรียบเรียงจากรายการ​ “คลิกใจให้ธรรม”
ตอน..ทางแห่งพระโสดาบัน
ลิงค์ยูทูป https://yt3.pics.ee/AAMLE

๑๔ กันยายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook