#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๕ ?? #ถาม : ถ้ามีเสียงรบกวนขณะเจริญสติ ต้องกำหนดอย่างไรคะ? #ตอบ : กรณีที่เริ่มต้นด้วยการรู้อยู่ที่องค์ภาวนา…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๓๕
??

#ถาม : ถ้ามีเสียงรบกวนขณะเจริญสติ ต้องกำหนดอย่างไรคะ?

#ตอบ : กรณีที่เริ่มต้นด้วยการรู้อยู่ที่องค์ภาวนา เมื่อมีเสียงมา ก็เห็นจิตแสดงอาการต่าง ๆ เช่น
๑. จิตมันเคลื่อนไปฟังเสียง ก็รู้ว่าจิตมันเคลื่อนไป เห็นการเคลื่อนของจิต ก็ได้สมาธิแบบ “จิตตั้งมั่น”
๒. ถ้าไม่ทันเห็นความเคลื่อนของจิต มันไปอินกับเสียงแล้ว เสียงนี้เราชอบ เกิดความพอใจ ก็รู้ว่าเผลอมาพอใจ หรือจะรู้ว่ามีราคะก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า “มีสติ”
๓. ถ้ามันไปอินกับเสียงแล้ว เสียงนี้เราไม่ชอบ เกิดความไม่พอใจ ก็รู้ว่าเผลอมาไม่พอใจ หรือจะรู้ว่ามีโทสะก็ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า “มีสติ”
๔. ถ้าเห็นว่าจิตมันเคลื่อนไปฟังเสียงเอง ก็ได้ “ปัญญา” เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นจิตแสดงอนัตตลักษณะ

ก็ลองสังเกตดูว่า เมื่อรับรู้เสียงแล้วเกิดปฏิกิริยาอย่างไรกับจิต
ถ้าฟังเพลินไปเลย ก็แสดงว่าเราลืมภาวนา
ถ้ารำคาญ ก็แสดงว่าเราตั้งใจจะทำสมถะ จะเอาความสงบ แล้วเจ้าเสียงนี้มันมารบกวน ก็จะเกิดโทสะ
แต่ถ้าย้อนกลับมาเห็นจิตแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่แจกแจงมา ก็จะได้สติบ้าง ได้สติและสมาธิแบบจิตตั้งมั่นบ้าง บางทีก็จะได้ทั้งสติ, สมาธิแบบจิตตั้งมั่นและได้ปัญญาในระดับวิปัสสนาด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเห็นจิตแสดงความจริงได้แค่ไหน

โดยมาก..เสียงจะมีปัญหารบกวนผู้ฝึกสมถะ ท่านจึงแนะผู้ที่ฝึกสมถะให้ไปหาที่ที่สงัด เช่น ในป่า ถ้ำ เป็นต้น
แต่ถ้าจะฝึกวิปัสสนา ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาที่เงียบสงัดขนาดนั้น อยู่ในเมือง มีเสียงจอแจ เสียงแตร เสียงกลอง เสียงฆ้อง เสียงระฆัง เสียงกะละมัง เสียงด่า ก็ภาวนาได้

๖ ตุลาคม ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook