#นิมฺมโลตอบโจทย์ #จิตตั้งมั่น ?? #ถาม : ตอนนี้ผมยังไม่เห็นตัวผู้รู้ กับอารมณ์ ..ไม่แยกกัน มันยังเป็นเราตลอด จะต้องภาวนาอย่างไรต่อ? #ตอบ : ตัวผู้รู้เนี่ยไม่ใช่จะเกิดกันง่ายๆ นะ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เกิด ก็ไม่ต้องเดือนร้อนใจอะไร ให้รู้สึกตัวแล้วทำสมถะไป วิธีทำให้ “ผู้รู้” เกิดเนี่ย .. วิธีง่ายๆ ก็คือ ทำสมถะ ไปก่อน สมมติว่าคนที่ใช้ลมหายใจเป็นจุดตั้งต้นทำสมถะ ก็ดูลมหายใจ หรือเห็นกายหายใจ แล้วพอมันเผลอไป ..รู้ทันว่าจิตเผลอ ตอนรู้ว่าจิตเผลอเนี่ยเพียงแค่มีสติรู้สึกตัวว่า ‘จิตเมื่อกี้มันเผลอ’ ยังไม่ถึงขั้นว่าจะเกิดตัว “ผู้รู้” “ผู้รู้” จะเกิดได้..สำหรับคนทั่วๆ ไปที่ไม่ชำนาญการทำฌานนะ ผู้รู้จะมาได้ใน ๒ ลักษณะ ลักษณะที่ (๑) คือ ทำสมถะไป แล้วจิตเผลอจากจุดตั้งต้นนั้น ในลักษณะที่เราเห็นว่ามันเคลื่อน ตอนมันเคลื่อนเนี่ย ถ้าเราเห็นว่าเคลื่อน จิตขณะที่เห็นมันจะไม่เคลื่อน เหมือนถ้าเห็นว่าเผลอ จิตขณะที่เห็นมันจะไม่เผลอ ทีนี้ถ้าเราเห็นว่าจิตมันมีการเคลื่อนจากจุดตั้งต้นนี้ ไปไหนก็แล้วแต่นะ ไปจากนี้ไปเนี่ย จิตมันมีการเคลื่อน แล้วเราเห็นทันตอนจิตเคลื่อน ขณะที่เห็นว่าจิตเคลื่อน.. จิตจะไม่เคลื่อน ไอ้คำว่า ‘จิตไม่คลื่อน’ ก็คือ “จิตตั้งมั่น” นั่นเอง จิตที่เคลื่อน คือจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่น เรียกอีกอย่างว่า มีจิตที่เป็น “ผู้รู้” ทีนี้มันขึ้นอยู่กับว่าตอนที่เราเห็นสภาวะเนี่ย เราเห็นได้ในแง่ไหน? ถ้าจิตมันเคลื่อนไปแล้วตั้งนาน ค่อยเห็นว่าเผลอ มันจะไม่เห็นว่าจิตเคลื่อนแล้ว สมมติว่าเรามองอะไรสักอย่างนะ มอง…. ขณะนั้นจิตเคลื่อนไปแล้ว! สมมติว่ามองหนังสือก็ได้ (พระอาจารย์ยกตัวอย่าง หนังสือที่วางอยู่บนโต๊ะด้านหน้า) สมมติว่ามองหนังสือแล้วก็มอง… จริงๆ จิตเคลื่อนไปตั้งนานแล้ว จิตเคลื่อนไปตั้งแต่มันเห็นแล้ว พอเห็นไปแล้วก็มองไปเนี่ยนะ ขณะนั้นเนี่ยมันคือเผลอ ถ้าเราจะเห็นว่าจิตมันอยู่ที่หนังสือเนี่ยนะ จะเห็นว่าจิตมันเผลอไป มันไม่ทันเห็นว่าจิตเคลื่อนแล้ว (๒) แต่ถ้าเห็นว่าเผลอ ก็มีโอกาสได้จิตตั้งมั่น อีกวิธีหนึ่ง ก็คือเห็นว่าจิตเผลอ แต่เห็นด้วยใจเป็นกลาง เห็นว่าจิตมันเผลอเนี่ยนะ มันถลำไปตรงนี้เนี่ยนะ แล้วเห็นเฉยๆ มีสภาวะเผลอเกิดขึ้น แล้วดูด้วยใจเป็นกลาง ก็จะได้เห็นจิตตั้งมั่นตอนเห็นเผลอนี้ ซึ่งก็คือ ได้จิตที่เป็น “ผู้รู้” เช่นเดียวกัน ก็จะมีวิธีทำ “จิตตั้งมั่น” ให้เกิด “จิตผู้รู้” ได้ ๒ วิธี คือ ๑. ทำสมถะไป แล้วเห็นตอนจิตที่มันเคลื่อนออกจากสมถะนี้ จากองค์ภาวนานี้ ๒. กับอีกวิธีหนึ่ง คือมันเผลอไปแล้ว อยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ เห็นสภาวะนั้นด้วยใจเห็นกลาง มี ๒ วิธีสำหรับคนที่ไม่ชำนาญการทำฌาน สังเกตได้ว่าหลังจากที่มีจิตตั้งมั่นเกิดขึ้นมาเนี่ย มันจะรู้สึกว่าสภาวะที่เห็นนั้นถูกรู้ และไอ้ตอนสภาวะที่เห็นถูกรู้เนี่ยนะ มันไม่ได้เน้นมาที่ตัวผู้รู้หรอก แต่มันมีความรู้สึกว่า “สิ่งหนึ่งถูกรู้” ไอ้ตอนที่รู้สึกว่ามี “สิ่งหนึ่งถูกรู้” นะ มันมี “ผู้รู้” อยู่แล้วในตัว เรียกว่าเมื่อมีสิ่งหนึ่งถูกรู้ มีอีกสิ่งหนึ่งเป็นผู้รู้ มันเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน.. สภาวะอย่างนี้นะ เราอาจจะไม่ทันสังเกตขนาดว่าเห็น “ผู้รู้” แต่เห็นว่ามี “สิ่งหนึ่งถูกรู้” ก็ใช้ได้ และถ้ายังไม่เห็นแม้กระทั่งว่า สิ่งหนึ่งถูกรู้อะไรอย่างนี้นะ ก็ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ ไม่ต้องใจร้อน ทำสมถะไป เห็นเผลอแล้วรู้ทัน จิตเผลอไปแล้วรู้ทัน รู้ทันเสร็จแล้วทำสมถะต่อ สังเกตตรงนี้นิดหนึ่งว่า ตอนเห็นว่าเผลอแล้วเนี่ยนะ อย่าไปแก้ไขความเผลอนั้น เผลอคือเผลอ เผลอก็ช่างมัน! เผลอคือเผลอ เผลอก็ช่างมัน! รู้แล้วก็พอ ไม่ต้องไปแก้ไข เพราะแก้ไม่ได้ ไม่ควรแก้ จิตเนี่ยเกิด-ดับป็นขณะ จิตขณะหนึ่งเนี่ย อยู่กับองค์กรรมฐานที่เป็นสมถะ จิตอีกขณะหนึ่งนะ เผลอไปแล้ว จิตอีกขณะหนึ่ง เห็นว่าจิตเมื่อกี้เผลอ จิตที่เผลอเนี่ยกลายเป็นอดีตแล้ว เพราะว่าจิตขณะรู้นี้เป็นจิตปัจจุบัน เพราะฉะนั้นไม่ได้มีหน้าที่ ไม่ได้มีภาระอะไรที่จะไปแก้ไขไอ้จิตที่เผลอนี้ จิตที่รู้เป็นจิตปัจจุบัน อันนี้เป็นจิตปัจจุบันนะ เห็นจิตเมื่อกี้ว่าเผลอ จิตปัจจุบันที่เห็นว่าเผลอเนี่ย เป็นจิตผู้รู้ เพราะฉะนั้นขณะที่รู้เนี่ย จิตเผลอดับไปแล้ว เพราะปัจจุบันเป็นจิตรู้ไปแล้ว งานที่จะไปแก้ไขอดีตเนี่ย..ไม่มีเลย มีแค่ว่า รู้เฉยๆ รู้เฉยๆ แล้วจิตที่รู้นี้ก็ดับ ! มันจะเกิดขึ้นมาแว๊บเดียว แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นมา.. อย่าให้มันล่องลอยไปที่อื่น ให้กลับมาที่องค์ภาวนาใหม่ ถ้าดูลมหายใจ ก็ดูลมหายใจใหม่ เอาจิตดวงใหม่มาทำสมถะ ไม่ใช่เอาจิตที่เผลอไปกลับมาทำสมถะ ซึ่งทำไม่ได้! เข้าใจไหม? จิตที่เผลอดับไปแล้ว ตั้งแต่มีจิตรู้ จิตที่เผลอเนี่ยนะ ดับไปแล้วตั้งแต่มีจิตรู้ เพราะฉะนั้นจิตรู้ดับไปแล้ว เอาจิตดวงใหม่มาทำสมถกรรมฐาน ไม่ใช่ไปดึงจิตอดีตที่ดับไปแล้ว..กลับมา ดึงให้ตายก็ไม่กลับ! เพราะจิตนั้นดับไปแล้ว จิตนั้นตายไปแล้ว ถ้าเรามีจิตดวงใหม่ที่ไปพยายามดึงไอ้จิตที่เผลอไปแล้วเนี่ยกลับมา มันเป็นงานที่ทำไม่ได้ และไม่มีทางสำเร็จ แล้วมันก็เลยกลายเป็นว่า ‘ทำไมกูทำไม่ได้ ๆ’ หงุดหงิดอยู่กับตัวเองนั่นเอง หงุดหงิดกับท้อแท้ ‘โอ้ย! ฉันคงไม่มีบารมี’ กลายเป็นคำถามว่า.. “สงสัยชาติที่แล้วเราไม่เคยทำ?” จริงๆ อาจจะเคยทำ แต่ทำอย่างนี้ คือพยายามไปแก้จิตอดีต ซึ่งทำไม่ได้ นึกออกไหม? เพราะฉะนั้นทำตามนี้นะ คือเห็นว่าจิตเผลอเมื่อกี้ มีจิตรู้..พอ จิตรู้..พอ จิตรู้ที่ถูกต้อง ต้องมีลักษณะอย่างนี้ว่า “ไร้น้ำหนัก บางเฉียบ เงียบกริบ” “ไร้น้ำหนัก” คือ เป็นจิตรู้.. รู้เฉยๆ รู้เบาๆ ไม่ใช่ว่าเพ่งไปว่า ‘เอ้ย! ฉันเห็นแล้ว’ เพ่งแบบเอาจริงเอาจัง มันก็เกินไป มันมีน้ำหนัก “บางเฉียบ” คือ มันเกิดแล้วมันก็ดับเลย “เงียบกริบ” คือ มันพูดอะไรไม่ทันเลย ตอนรู้เนี่ยนะ ไม่มีแม้แต่คำว่า “รู้” เพราะฉะนั้นไอ้ที่มีคำไล่ตามหลังว่า “เผลอหนอ” อะไรเนี่ยนะ มันเป็นตอนที่มันปรุงคำพูดทีหลังแล้ว ไอ้ตอนรู้จริงๆ นะ มันแว๊บเดียว มันหนึ่งชั่วขณะจิต มันไวมาก ไวกว่ากระแสไฟฟ้าที่มันเกิดดับด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น ไอ้ตอนที่มันรู้นะ ไม่ต้องไปกังวลว่าจะต้องพูด ไม่ต้องไปกังวล ถ้าตอนนี้ยังไม่เกิดตัวผู้รู้ ก็ทำสมถะไปเรื่อยๆ ดูจิตที่มันเผลอไป พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=S5au3v0vMYI (นาทีที่ 1.35.04-1.42.42)

อ่านต่อ