#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เบื่อโลก #ถาม : โยมอายุก็มากแล้ว.. ๗๓ ปี เมื่อก่อนเคยปฏิบัติธรรม แต่หลังๆ ไม่ได้ปฏิบัติเลย คือโยมเบื่อโลก เบื่อวัฏจักร เบื่อโควิด (covid) เข้าใจแล้ว..แต่ยังวางไม่ได้เจ้าค่ะ อยากให้พระอาจารย์แนะนำหน่อย? #ตอบ : ข้องใจตรงที่ว่า “หลังๆ ไม่ได้ปฏิบัติเลย” นี่แหละ เอาเวลาไปทำอะไรหมดเนาะ? ๗๓ ปีแล้ว ก็น่าจะมีเวลาว่างมากพอนะ ตื่นนอนมาเนี่ย จริงๆ ทำได้เลยนะ “รู้สึกตัว” ตื่นขึ้นมา.. ใจเป็นอย่างไร? หรือมารู้ร่างกายก็ได้ ร่างกายมันขยับแล้ว จิตตื่นขึ้นมาแล้ว บางทีตอนจิตตื่นขึ้นมาแล้วเนี่ยนะ ถ้าเราตั้งใจไว้ว่าจะภาวนาเนี่ย ตื่นขึ้นมา เราสามารถที่จะภาวนาได้เลย ตั้งแต่ตื่นนอน จะรู้กายก็ได้ รู้ใจก็ได้ ‘รู้กาย’ ขยับ หรือ ‘รู้ใจ’ ที่มันรับรู้ อะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ตอนตื่นน่ะ แล้วมันรู้สึกอย่างไร? มีความงัวเงีย มีความติดที่นอนหรือไม่? อยากลุกไหม? หรือว่าขี้เกียจ แล้วก็จำเป็นต้องลุก ต้องไป..แล้วก็ขยับตัวไป มีความเคลื่อนไหวของร่างกาย ขยับไป.. เจอตัวเองหน้ากระจกในห้องน้ำ รู้สึกอย่างไร? เวลาน้ำสัมผัสหน้าแล้ว รู้สึกอย่างไร? ล้างหน้า แปรงฟันแล้ว รู้สึกอย่างไร? ถ่ายหนัก ถ่ายเบา รู้สึกอย่างไร? ถ่ายไม่ออก รู้สึกอย่างไร? คือชีวิตของเราเนี่ยแหละ แล้วก็คอยดูจิตตัวเองว่า ในระหว่างวัน ใจเราเป็นอย่างไรบ้าง? ..ในระหว่างที่เรากระทบกับโลก “โลก” คือ กายนี้-ใจนี้ แล้วกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส(โผฏฐัพพะ) ธรรมารมณ์ข้างนอก อายตนะภายใน-อายตนะภายนอก ผัสสะกันเนี่ย (ผัสสะ แปลว่า การถูกต้อง, การกระทบ) รู้สึกอย่างไรบ้าง? มีเวทนาอะไรเกิดขึ้น? มีตัณหาเกิดขึ้นบ้างไหม? ถ้ามีตัณหาเกิดขึ้น เป็นตัณหาประเภทไหน? ตัณหาอยากได้(กามตัณหา) หรือตัณหาอยากผลักออก(วิภวตัณหา) หรืออยากจะเป็นโน่น อยากจะเป็นนี่(ภวตัณหา)? อะไรอย่างนี้นะ “เบื่อโลก”.. เบื่อโลกเนี่ย มันเป็นเบื่อแบบ ‘โทสะ’? หรือ เบื่อแบบ ‘นิพพิทา’? ก็ลองประเมินดู ถ้าเบื่อแบบ “โทสะ” มันก็จะอยากพ้นจากตรงนี้ เพื่อจะไปเกิดในที่ดีๆ อยากจะพ้นจากโควิด (covid) เพื่อจะไปสู่สภาวะที่เป็นสุข ไม่มีโรคภัย คือยังอยากไปเกิดในที่ดีๆ อย่างนี้เรียกว่า ยังไม่ใช่นิพพิทา “นิพพิทา” เนี่ย จะเห็นการปรุงแต่งของจิต ทั้งดี ทั้งชั่ว เห็นความปรุงแต่งซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จะพ้นความปรุงแต่งอย่างนี้ ได้อย่างไรนะ เรียกว่า ดูจนเบื่อ จนอยากจะพ้นไปจากความปรุงแต่ง แต่ยังพ้นไม่ได้ ดูแล้วดูอีก แล้วจนมันเริ่มเข้าใจ เริ่มมองสภาวะต่างๆ ทั้งกุศลและอกุศล ที่ปรุงอยู่เนี่ย มองด้วย “ใจเป็นกลาง” พอมองด้วยใจเป็นกลางเนี่ย จะกลายเป็นว่า เห็นสภาวะเกิด-ดับ ไม่เข้าไปยินดี ไม่เข้าไปยินร้าย กลายเป็น “อุเบกขา” ตรงนี้เรียกว่า เป็นญาณระดับสูงขึ้นมาอีก เรียกว่า “สังขารุเปกขาญาณ” ลองฝึกไปเรื่อยๆ อย่าเพียงแค่ “เบื่อ..แล้วไม่ปฏิบัติ!!” อันนี้เรียกว่า น่าเสียดายนะ น่าเสียดายว่า อายุก็มากแล้วนะ ไม่อยากจะพูดมากกว่านี้ ก็คือเวลาเหลือน้อยแล้วนะ เวลาเหลือน้อยแล้ว ก็ควรจะเห็นเวลาที่เหลือน้อยเนี่ย แล้วไม่ประมาท แทนที่จะมาหวั่นกลัวต่อความตาย ก็เห็นความตายอยู่ต่อหน้า แล้วรู้ว่าจะต้องตายในเวลาไม่ช้าแล้วเนี่ย กระตุ้นเตือนตัวเองว่า “ต้องไม่ประมาทแล้ว! เวลาเหลือน้อยแล้ว!” จริงๆ ที่พูดว่า “เวลาเหลือน้อย” เนี่ยนะ ไม่ใช่เฉพาะโยมผู้ถามนะ ..ทุกคน! คนอายุน้อยๆ กว่าโยมอาจจะลัดคิวไปก่อนก็ได้ ชาติหน้าของเขา อาจจะมาก่อนโยมก็ได้นะ อันนี้พูดเตือนทุกๆ คนว่า “มันไม่แน่” เวลาของชีวิตเนี่ย มันไม่แน่ เพราะฉะนั้น “อย่าประมาท” แล้วก็ดูว่าการภาวนา หรือว่าการปฏิบัติธรรมเนี่ย มันไม่ใช่แค่เพียงจะต้องมาเดินจงกรม มานั่งสมาธิในรูปแบบ เราสามารถใช้เวลาระหว่างวัน ‘ตลอดเวลา’ เท่าที่ตื่นอยู่ มาปฏิบัติธรรมได้ ฉะนั้นที่โยมบอกว่า.. “เมื่อก่อนเคยปฏิบัติแล้ว แต่หลังๆ ไม่ได้ปฏิบัติ” น่าจะเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมมันมีเพียงแบบเดียว คือต้องนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม หรือสวดมนต์เท่านั้น จึงจะเรียกว่า “ปฏิบัติ” จริงๆ แล้ว ชีวิตที่มีอยู่เนี่ย.. “ตา” กระทบรูป “หู” กระทบเสียง “จมูก” กระทบกลิ่น “ลิ้น” กระทบรส “กาย” กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือ “ใจ” คิดนึกอะไร? ..แล้วยินดี ยินร้าย เป็นสุข เป็นทุกข์ แล้วปรุงอะไรขึ้นมาต่อ? ปรุงกุศล หรือปรุงกิเลส อย่างนี้นะ รู้ทันมันไป และถ้าจะให้ดี หาที่อยู่ของจิตเอาไว้สักที่หนึ่ง ทำสมถะไปก่อน ในกรณีที่ชีวิตประจำวัน ก็เห็น “ร่างกายเคลื่อนไหว” เป็นที่อยู่ เดินไป ก็เห็นร่างกายเดิน ไม่ต้องเดินจงกรมในรูปแบบ แต่เดินอยู่เนี่ย ก็เห็นกายเนี่ยเคลื่อนไหว เดินไปแบบปกตินี่แหละ แต่มีความรู้สึกตัว มีสติเห็นกายเคลื่อนไหว ก็ถือว่าเจริญสติ เหมือนเดินจงกรม เดินๆ ไป ใจเผลอออกไปข้างนอก-เห็นใจที่เผลอ ก็ยังถือว่าได้ปฏิบัติธรรม คือมีสติเห็นจิต ไม่ใช่ว่าเผลอแล้ว จะไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรม เผลอแล้ว-เห็นจิตที่เผลอ แต่ถ้าเผลออย่างเดียว ไม่เห็นจิตที่เผลอ ก็ถือว่าไม่ได้ปฏิบัตินะ เผลอแล้ว-เห็นจิตที่เผลอ นี่เรียกว่าได้ปฏิบัติธรรม และถ้าจะให้เห็นใหม่ หรือได้ปฏิบัติธรรมได้ต่อเนื่องมากขึ้นก็ทำสมถะใหม่.. คือเอาจิตดวงใหม่มารู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกายต่อ ถ้ารู้หลักของการปฏิบัติ จะไม่มีข้ออ้างว่า “หลังๆ ไม่ได้ปฏิบัติเลย” จะไม่มีคำนี้ออกมา จะมีแต่รู้สึกว่า ‘อ้อ! ตอนนี้ทำในรูปแบบเวลาเท่าไหร่?’ ‘มีเวลาทำในรูปแบบบ้างไหม?’ ‘แล้วในชีวิตประจำวันได้ทำบ้างไหม?’ อะไรอย่างนี้นะ ‘ทำมากน้อยแค่ไหน?’ ‘รู้สึกตัวบ่อยแค่ไหน?’ ‘เห็นกิเลสเยอะแค่ไหน?’ เห็นกิเลสเยอะ.. ดีนะ แสดงว่ามีสติบ่อย ถ้าไม่เห็นกิเลสเลยเนี่ย ก็คงเป็นเพราะไม่ได้ดู เพราะไม่น่าเชื่อว่าจะไม่มีกิเลสแล้ว นึกออกไหม? ถ้าวันนี้ทั้งวัน ไม่เห็นกิเลสเลย เห็นแต่ ‘นังนั่น’ เห็นแต่ ‘อีตานี่’ เห็นแต่ ‘ลุงนั้น’ เห็นแต่ ‘ยัยนี่’ อย่างนี้เรียกว่า ไม่ได้ภาวนา ไม่เห็นกิเลสเลย แล้วที่ว่าเห็นกิเลสเนี่ย ต้องเห็นกิเลสตัวเองนะ ไม่ใช่เห็นกิเลสคนอื่น เห็นกิเลสคนอื่น ไม่ได้ภาวนานะ..ไม่ชื่อว่าภาวนา มันต้องเห็นกิเลสตัวเอง พอเข้าใจเนาะ? พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=2xgbsnPJQlg (นาทีที่ 24.21-31.49)

อ่านต่อ