#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน ?? #ถาม : “ในรูปแบบ” จะทำทั้งวันได้อย่างไร? (ยืน เดิน นั่ง และก่อนนอน) #ตอบ : รูปแบบ จริงๆ เนี่ย คงจะหาคนทำทั้งวันยากอยู่เหมือนกันนะ “ในรูปแบบ” หมายถึงว่า เราว่างจากธุระต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วก็แบ่งเวลามา เพื่อจะมาทำในรูปแบบ รูปแบบ ที่ว่าก็คือ – นั่งกรรมฐานในรูปแบบ – หรือ เดินจงกรมในรูปแบบ ในรูปแบบ ก็คือว่ามีท่ามาตรฐานที่เราฝึกๆ กันมา “นอกรูปแบบ” ก็คือ ชีวิตประจำวัน เดินไปห้องน้ำ ปกติเราคงไม่ใช่เดินท่าในรูปแบบ ไปเข้าห้องน้ำ หรือเราจะไปขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า ฯลฯ เราคงไม่ใช่เดินจงกรมในท่าในรูปแบบ ไปขึ้นรถเมล์ หรือขึ้นรถไฟฟ้า หรือลงเรือเจ้าพระยา อย่างนี้นะ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นคำว่า “ในรูปแบบ” ก็คือ ว่างจากภารกิจต่างๆ แล้วเอาเวลานั้นมาทำในรูปแบบ ผู้ที่จะทำในรูปแบบทั้งวันได้ก็น่าจะเป็นเฉพาะนักบวชที่ไม่มีธุระอื่น แล้วก็อยู่ในที่ๆ ไม่มีหมู่คณะ หรือไม่มีธุระ เกี่ยวกับหมู่คณะ เช่น พระท่านไปอยู่ตามป่า ตามเขา วิเวก อย่างนี้นะ กรณีอย่างนี้ท่านอิสระ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แล้วก็ทำในรูปแบบได้ทั้งวัน จะนั่งทั้งวันก็ได้ เดินทั้งวันก็ได้ ยืนทั้งวัน ก็ไม่ว่าอะไร หรือจะสลับกันไป ระหว่าง.. ยืน เดิน นั่ง ทั้งวัน ไม่นอนก็ได้..คืออิสระ ทีนี้ถ้ามีหมู่คณะเนี่ย บางทีมีธุระ ซึ่งเป็นของส่วนรวม ก็ต้องช่วยทำ ถ้าไม่ทำ ก็กลายเป็นบกพร่องไป การที่จะทำในรูปแบบทั้งวัน โดยเฉพาะถ้าเป็นโยมเนี่ยนะ เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจคำว่า..ปฏิบัติธรรม.. (๑) ในรูปแบบ กับ (๒) ในชีวิตประจำวัน มันเป็นการปฏิบัติ ๒ อย่าง (๑) “ในรูปแบบ” ก็คือ “ว่าง” จากธุระอื่นๆ ทำธุระอะไรเรียบร้อยแล้ว แบ่งเวลาที่จะมาทำในรูปแบบ.. ในรูปแบบก็เช่น สวดมนต์ เสร็จแล้วก็นั่งทำกรรมฐาน ซึ่งก็มีทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน จะดูลมหายใจ จะมีคำบริกรรมอะไรก็ว่าไป อย่างนี้เรียกว่า “ทำในรูปแบบ” กำหนดเวลาขึ้นมา.. อย่างน้อยเท่าไหร่? อย่างมากไม่ว่า อย่างน้อยเท่าไหร่? มากกว่านี้ไม่เป็นไร ประมาณอย่างนี้ ทำให้เป็นประจำ!!! เพราะฉะนั้นคำว่าปฏิบัติธรรม “ทั้งวัน” เนี่ย มันไม่ใช่ทำในรูปแบบ “ทั้งวัน” มันจะอยู่ในลักษะที่เรียกว่าทำทั้ง “ในรูปแบบ” และ “ในชีวิตประจำวัน” (๒) (ในชีวิตประจำวัน) คือ “นอกรูปแบบ” ในชีวิตประจำวัน ก็ทำ!! คือเจริญสติแบบที่ “ไร้รูปแบบ” ขยับเขยื่อนเคลื่อนไหว ทำการงานอะไร? ล้างถ้วยล้างจาน ตัดหญ้า กวาดบ้าน ดูแลต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ พรวนดิน ฯลฯ ..ได้หมดทุกอย่าง วิธีอย่างนี้.. ไอ้ที่กวาดบ้านไปปฏิบัติไป..เจริญสติไป อย่างนี้ “ไม่ใช่รูปแบบ” นึกออกไหม? ไปเดินจากบ้าน ออกไปปากซอย ไปซื้อของ เจริญสติไปด้วย อย่างนี้ “ไม่ใช่รูปแบบ” คงไม่มีใครเดินจงกรมในรูปแบบไปปากซอย คงไม่มีนะ ก็ทำได้ทั้งวัน ในกรณีที่ว่า ‘เราตั้งใจจะทำ’ อย่างนี้ จะทำ “ในรูปแบบ” โดยที่ว่าเคลียร์ (clear) ธุระ.. แล้วทำ เมื่อหมดเวลา “ในรูปแบบ” ก็ทำ “นอกรูปแบบ” เช่น ตอนนอน.. ตอนนอน ที่โยมบอกว่าก่อนนอนเนี่ยนะ อาตมาให้ทั้ง ตอนนอน และก่อนนอนหลับเลย นอน.. อยู่ในท่านอนแล้วเนี่ยนะ ยังไม่หลับตราบใด – ก็รู้สึกตัวอยู่ตราบนั้น ถ้าเราฝึกดูลมหายใจ ก็ดูลมหายใจ เห็น ‘กาย’ หายใจ.. นอน.. นอนหายใจ ‘กายนี้’ นอนหายใจ มันกระเพื่อมแบบไหน? ..ก็รู้ไป ดูจนกว่ามันจะหลับตอนไหน? อาจจะตั้งคำถาม หรือว่าตั้งประเด็นไว้ในใจนิดหนึ่งว่า.. “จะดูว่ามันจะหลับ ตอนหายใจเข้าหรือหายใจออก?” อย่างนี้ก็ได้นะ แล้วจะตื่นมา.. ตื่นตอนไหน? “ตื่นตอนหายใจออก หรือหายใจเข้า?” ประมาณอย่างนี้ก็ได้ ดู! แล้วลองสังเกตดูว่า.. แม้แต่นอน เราก็จะไม่ทิ้งเวลาตอนนั้น เอามาเจริญสติด้วย ตอนจะนอน ก็ว่าจะนอนเพื่อจะหลับเนี่ยนะ เราก็ใช้เวลาก่อนจะหลับเนี่ย เจริญสติของเราไปด้วย แม้นอนไม่หลับ เราจะไม่มารำคาญใจว่า ‘ทำไมไม่หลับสักที!’ เราจะรู้สึกว่า..‘ดีเหลือเกิน ที่ไม่หลับ เพราะเราจะได้เจริญสติอยู่ต่อ’ เพราะฉะนั้น ปัญหาการนอนไม่หลับจะไม่เกิด แล้วหลับง่าย แล้วหลับลึก และได้พักผ่อนเต็มที่ หลับสนิท ตื่นขึ้นมาสดใส สดชื่นด้วยนะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=fMFUWARWefs (นาทีที่ 1.22.04-1.28.04)

อ่านต่อ