#นิมฺมโลตอบโจทย์ #๓แนวทางปฏิบัติ ?? #ถาม : ดิฉันเพิ่งเริ่มปฏิบัติธรรมในช่วงโควิด (covid) ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ตัวเองคิดมาก จึงเริ่มด้วยการนั่งสมาธิ และเดินจงกรม สวดมนต์ ทำวัตรปกติ แต่มีข้อสงสัย ในการเจริญวิปัสสนา อยากจะสอบถามว่า “เราสามารถที่จะเจริญวิปัสสนาไปได้เลยหรือไม่?” เพราะบางคนก็บอกไว้ว่า.. “จะต้องเจริญสมถกรรมฐานก่อน จึงจะไปถึงขึ้นวิปัสสนากรรมฐาน” รบกวนพระอาจารย์ให้คำแนะนำ #ตอบ : คนที่มาปฏิบัติธรรม มีหลายประเภทด้วยกัน (๑) บางคนใช้ “สมถะนำ แล้ววิปัสสนาตาม” (๒) บางคนใช้ “วิปัสสนานำ แล้วสมถะตาม” (๓) บางคน เก่งมาก “ทั้งสมถะและวิปัสสนา ไปพร้อมกัน” มี ๓ ประเภทนี้ ไม่มีประเภทที่ ๔ ว่า “ไม่เอาทั้งสมถะและวิปัสสนา” พวกนี้คือไม่ภาวนา (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ยุคนัทธกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค) (๑) ทีนี้คนแบบไหนที่ใช้สมถะนำ แล้ววิปัสสนาตาม? คนที่ใช้ “สมถะนำ แล้ววิปัสสนาตาม” (ในพระสูตรใช้คำว่า “เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น”) บางทีครูบาอาจารย์จะเรียกว่า “ใช้สมาธินำปัญญา” “สมถะ” ก็คือ ทำสมาธิ “วิปัสสนา” ก็คือ เจริญปัญญา คนประเภทนี้ คือคนประเภทที่ทำ “สมาธิได้ง่าย” มีจริตในแง่ที่ว่า ถ้าได้อารมณ์ที่พอใจ แล้วจิตไปอยู่กับอารมณ์นั้นเนี่ยนะ จิตจะอยู่กับอารมณ์นั้นได้นิ่งๆ นานๆ และพัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึงเข้าฌาน และถ้าบางทีคนเข้าฌานชำนาญ ก็พัฒนาฌานไปเรื่อยๆ เป็นฌานที่ ๑-๒-๓-๔ บางทีก็ถึงอรูปฌาน เป็นฌานที่ ๕-๖-๗-๘ นี่คือ คนที่มีจริต มาในแง่ที่ว่า “ทำสมาธิง่าย” โดยมากแล้ว มักจะไม่ได้มาฝึก ในชาตินี้ชาติเดียว จะเคยฝึก เคยทำมาแล้วหลายชาติ พอมาถึงชาตินี้ พอได้ครูบาอาจารย์แนะนำให้ทำสมถะ ให้รู้อารมณ์นี้ เขาก็ได้อารมณ์นั้น แล้วก็ไปฝึก ไม่นาน ย้ำว่า “ไม่นาน” ก็ทำได้นะ ไม่นาน! คนประเภทนี้เนี่ย “ทำสมถะง่าย” ให้ทำสมถะไปก่อน ..ทำสมถะไปก่อนนะ ทำสมถะไป.. จนฝึก จนทำสมถะได้ชำนาญแล้วเนี่ย ครูบาอาจารย์จะคอยชี้แนะว่า “อย่าเอาแต่สงบ” อย่าเอาแต่สงบนะ! คนที่ทำสมถะได้แล้วเนี่ย จิตจะสงบ พอทำความสงบได้ ครูบาอาจารย์จะบอกว่า “อย่าเอาแต่สงบ” อย่าเอาแต่สงบ แล้วจะทำอย่างไร? ..ต้องเอาจิตที่มีสมถะแล้ว – มาทำงาน แต่ทีนี่ความคุ้นเคยในการที่มันอยู่นิ่งๆ แล้วเนี่ยนะ จะออกมาทำงานอะไรเนี่ยนะ? ..ครูบาอาจารย์ก็จะบอกว่า “ให้มาดูกาย” (เจริญกายคตาสติกรรมฐาน) ให้มาพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าดูข้างในได้ (ส่วนใหญ่จะดูข้างในได้ด้วย) คนทำสมถะเนี่ยนะ คืออินทรีย์จะแก่กล้าขึ้นมา สามารถรับรู้แม้กระทั่งข้างในได้ ก็ดูไปเลย.. หัวใจ ปอด ตับ ลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ อะไรเนี่ย ก็จะทำได้ แล้วคราวนี้ จะพัฒนากันต่อไปก็คือ มา “ดูนามธรรม” แสดงความจริง – แสดงไตรลักษณ์ให้ดู เพราะถ้าเห็นแต่กายแสดงอสุภะ ยังไม่พอ!! อสุภะยังไม่ใช่ไตรลักษณ์นะ ไตรลักษณ์ คือ ความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่มีลักษณะ ๓ อย่าง มีแค่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภะ ยังไม่ใช่ไตรลักษณ์ “อสุภะ” คือเห็นร่างกายแสดงความน่ารังเกียจ ไม่สวย ไม่งาม แต่ไม่สวย ไม่งามเนี่ย เพียงแค่สงบระงับราคะลงไปได้ แต่ว่าจะน่ารังกียจ จริงหรือเปล่า? ยังไม่แน่นะ.. หนอนชอบนะ ! เพราะฉะนั้น “เห็นอสุภะเนี่ยนะ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา” จะขึ้น “วิปัสสนาแท้ๆ” ก็คือ ตอนที่ว่า “เห็นกายใจแสดงไตรลักษณ์” คือร่างกายนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา กาย “แสดงทุกขลักษณะ” ให้ดู หรือแสดงว่า ร่างกายนี้ มันทำงานของมันเอง เรามันบังคับไม่ได้ กาย “แสดงอนัตตา” ให้ดู แล้วเห็นกายแสดงไตรลักษณ์ให้ดูแล้วเนี่ย..ยังไม่พอ!!! เพราะจริงๆ ตัวการใหญ่ คือ “จิต” ต้องมาดูถึง “จิต” ด้วย ฉะนั้น คนที่ใช้ “สมถะนำ แล้ววิปัสสนาตาม” ก็คือ “อาศัยสมถะเป็นบาทฐาน-ไปเจริญวิปัสสนา” ทำสมถะให้เต็มที่เลย..ถึงขั้นฌาน (๒) ส่วนใครที่ “ทำสมถะไม่ได้” เป็นประเภทที่เรียกว่า.. ช่างคิด ช่างนึก ช่างปรุง ช่างแต่ง.. ทำสมถะยาก ก็ไม่จำเป็น ที่จะต้องทำสมถะถึงขั้นฌาน แต่ต้องทำสมถะเหมือนกัน!! อย่างที่บอกแล้ว คือ สงบ แม้เล็กน้อย เพื่อให้.. เห็นว่า จิตมันเคลื่อน เห็นว่า จิตมันเผลอ เห็นว่า จิตมันทำงาน พวกนี้ว่าโดยหลักแล้วเนี่ย สมถะทำได้นิดเดียว คือ ทำฌานไม่ได้ แต่เจริญวิปัสสนาไปก่อน (ในพระสูตรใช้คำว่า “เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น”) สมถะเนี่ยยังทำไม่ได้เต็มที่ แต่เจริญวิปัสสนาไปก่อน คือ เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ก่อน เช่น เวลาเผลอไป เห็นจิตที่เผลอ จิตที่เผลอ แสดงไตรลักษณ์ คือ มันดับไปแล้ว “แสดงไตรลักษณ์” คือ จิตไม่เที่ยง จิตเป็นอนัตตา เห็นจิตเป็นอนัตตาแล้ว ร่างกายเนี่ยไม่มีปัญหาเลย เพราะตัวการใหญ่คือตัวจิต!! เมื่อเห็น “จิตไม่ใช่เรา” แล้ว ก็จะเห็นว่า “ทั้งกายทั้งจิตไม่ใช่เรา” เพราะฉะนั้น ตอนที่จะเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ ถึงขั้นอนัตตาเนี่ยนะ จะย้อนมาเข้าใจตัวผู้รู้ แสดงไตรลักษณ์ให้ดู ตอนนั้น คือถึงขั้นมรรคผล ขณะตอนเข้ามรรคผลเนี่ยนะ จิตจะเข้าฌาน และโดยมากจิตจะเข้าฌานเอง มันพร้อมพอนะ! ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นว่า.. “เจริญวิปัสสนามาก่อน แล้วสมถะตามหลัง” นี้ประเภทที่ ๒ (๓) ส่วนประเภทที่ ๓ คือ.. “ดูจิตเก่งด้วย แล้วทำสมถะดีมากด้วย ไปด้วยกันเลย” ประเภทนี้ดีมาก หายาก! (ในพระสูตรใช้คำว่า “เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป”) เพราะฉะนั้นที่โยมถามว่า “จะฝึกวิปัสสนาไปก่อนเลยได้ไหม?” คำตอบก็จะอยู่ที่ข้อ ๒ “เจริญวิปัสสนามาก่อน แล้วสมถะตามหลัง” คือยังสมถะขั้นฌานยังไม่ได้ ก็เจริญวิปัสสนาไปก่อน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำสมถะเลย ..มันควรจะมีสมถะรองรับไว้สักนิดหนึ่งนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะไปพิจารณาอะไร เป็นไตรลักษณ์ไปหมดเลย ควรจะหาที่อยู่อะไรสักที่หนึ่ง ทำสมถะ แม้เล็กน้อย อาจจะเพียงระดับ ขณิกสมาธิ หรือ อุปจารสมาธิ เพื่อเป็นบาทฐานให้เห็นว่า ‘จิตมันทำงานอย่างไร?’ นะ.. จึงจะปลอดภัย อย่าไป!! เจริญวิปัสสนาล้วนๆ แบบไม่ทำสมถะเลย มันน่าจะไม่สำเร็จนะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=2xgbsnPJQlg (นาทีที่ 1.53.16-1.59.52 )

อ่านต่อ