#นิมฺมโลตอบโจทย์ #มาร ?? #ถาม : “มาร” หมายถึงอะไร? #ตอบ : ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แสดงไว้ว่า “มาร” หมายถึง (๑) สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ (๒) ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวาง ไม่ให้บรลุความดี มี ๕ คือ ๑. กิเลสมาร – มาร คือกิเลส ๒. ขันธมาร – มาร คือเบญจขันธ์ ๓. อภิสังขารมาร – มาร คืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม ๔. เทวปุตตมาร – มาร คือเทพบุตร ๕. มัจจุมาร – มาร คือความตาย ก็คือสิ่งที่มาขัดขวาง ไม่ให้เราทำความดีได้สำเร็จนั่นเอง มันมีอะไรบ้าง.. ๑. กิเลสที่เกิดขึ้นในใจ (กิเลสมาร) ก็เป็นมาร กิเลสเกิดขึ้นมาทีไร เราก็ไม่ได้อยู่ในคุณความดี คือกิเลสเกิดปุ๊บ เราก็เศร้าหมองทันที ๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ในความหมายนี้มักจะหมายถึงว่า เวลาเราจะทำความดีอะไรแล้ว.. เจ็บป่วย คำว่า “ขันธมาร” ที่มักจะเน้นกันก็คือ ในแง่ของเจ็บป่วยทางกาย เช่น พอคิดจะไปทำความดีอะไรสักอย่าง แล้วมีความเจ็บป่วย ทำให้ไปไม่ได้ หรือทำไม่ได้ เช่นว่า คิดจะมาทำกรรรมฐานตอนแก่ จะเดินจงกรมก็ไม่ไหว หัวเข่าลั่นค่อกๆ แค่กๆ เอี๊ยดๆ อ๊าดๆ จะเดินจงกรมก็ไม่ได้ จะนั่งก็โอย ลุกโอย อะไรอย่างนี้นะ คือตรงข้อว่าขันธมารเนี่ย เน้นที่ “รูปขันธ์” ๓. อภิสังขารมาร อภิสังขาร แปลว่า สภาพที่ปรุงแต่งแห่งการกระทำของบุคล เป็นความปรุงแต่งในการทำกรรม มีปรุงเป็นบุญ ปรุงเป็นบาป ปรุงเป็นบาปเนี่ยนะ เขาเรียกว่า “อปุญ” คือปรุงที่ไม่ใช่บุญ ถ้าด้วยศัพท์นะ..ก็มี “ปุญญาภิสังขาร”, “อปุญญาภิสังขาร” แล้วก็ “อเนญชาภิสังขาร” ในความปรุงแต่งในใจเราเนี่ย มันจะแบ่งออกมาเป็น ๓ อย่าง อย่างนี้ ๓.๑ (ปุญญาภิสังขาร) อภิสังขารที่ปรุงเป็นบุญ ก็คิดจะให้ทาน จะรักษาศีล จะเจริญภาวนา เป็นต้น ..ปรุงไป นี่แค่ปรุงเฉยๆ นะ! ๓.๒ (อปุญญาภิสังขาร) อภิสังขารปรุงที่จะไม่เป็นบุญ เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ เช่น ปรุงไปคิดประทุษร้ายเขา คิดโลภ คิดอยากได้ หรือปรุงอะไรที่มันเพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน อันนี้ก็เป็น “อปุญ” – อปุญญาภิสังขาร ๓.๓ (อาเนญชาภิสังขาร) อภิสังขารที่เป็นอเนญชา สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) คิดอีกแบบหนึ่ง คือปรุงความว่างๆ เป็นการทำกรรมฐานแบบปัดๆ ๆ ๆ ออกไป พยายามทำให้มันว่างๆ อันนี้เขาก็เรียกว่า “อาเนญชาภิสังขาร” เป็นความปรุงแต่งนะ ก็เป็นกุศลที่เป็นอรูปาวจร มีความว่างๆ เกิดความว่างๆ เกิดขึ้นมาเนี่ยนะ แล้วก็คิดว่า ‘ไอ้ความว่างเนี่ย เป็นเรื่องดี’ หรือว่าบางคนอาจจะเข้าใจว่าตรงนี้เป็น ‘นิพพาน’ แล้วก็ได้ กลายเป็นว่า “หลงผิดไป” จริงๆ แล้ว มันคือเป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ยังเป็น “อภิสังขาร” ..แล้วก็ถ้าหลงเชื่อ หรือว่าวนเวียนอยู่แค่นี้ มันก็วนอยู่กับการปรุงแต่ง ก็กลายเป็นตัวขัดขวาง ไม่ให้พัฒนาต่อไป กลายเป็น “อภิสังขารมาร” เพราะฉะนั้นจริงๆ อภิสังขารมาร ก็เพียงแค่รู้จัก รู้ทัน ปรุงเป็นบุญ..ก็รู้ทัน, ปรุงเป็นอบุญ..ก็รู้ทัน, ปรุงว่างๆ..ก็รู้ทัน รู้ว่า.. นี้เป็น “การปรุงแต่งภพขึ้นมา” ๔. เทวปุตตมาร มาร ๓ ข้อแรก เป็นเรื่องของตนเอง แต่เทวปุตตมาร เป็นเรื่องของบุคคลอื่น โดยในศัพท์เทพบุตรก็คือ “เป็นเทวดา” มีเทวปุตตมารหลายระดับ ตั้งแต่พญามาร.. ในพุทธประวัติเคยได้ยินใช่ไหม..? จะมีพญามารมาจากชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เป็นเทวดาชั้นสูงสุดของกามาวจร ที่ขี้ริษยา “ขี้ริษยา” ก็คือ ถ้าเห็นคนอื่นดีเกินหน้าตัวเอง จะไม่สบายใจ เห็นคุณความดีของคนอื่น ที่เกินหน้าเกินตาตัวเอง รู้สึกว่าจะไปดีกว่าเรา ไปก่อนเรา ประมาณนี้ หรือพ้นจากอำนาจของเรา ก็รู้สึกไม่ชอบใจ เกิดทุกข์ เกิดทุกข์ที่เห็นคนอื่นดี ‘เกิน’ ตัวเอง ถ้าใครดีแบบจิ๊บๆ จ้อยๆ ดีแบบเล็กๆ น้อยๆ เนี่ย เขายังรู้สึกว่าอยู่เหนือกว่าอยู่เนี่ยนะ เขาก็เฉยๆ แต่ถ้าดีจัดๆ ดีระดับที่ว่า จะพ้นจากอำนาจเขา คือระดับที่ว่าจะเกิดมรรคผล มารจะทนไม่ได้ คือ สำหรับพวกเราทั่วไป ก็คือทำกุศลจะเกิดมรรคผล ระดับพระพุทธเจ้า ก็คือจะตรัสรู้เนี่ยนะ.. มารทนไม่ได้! ทนไม่ได้ คือมีใจ ‘ริษยา’ ไม่มีความปรารถนาเห็นใครพัฒนาเกินตัวเองไป พอมีใจริษยา ก็เลยเข้ามาขัดขวาง เช่นว่า รู้อยู่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะเนี่ย ถ้าครองเรือน อย่างมากก็เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มารก็จะไม่ขัดขวางอะไร แต่พอเจ้าชายสิทธัตถะจะออกบวช ‘อ้าว! อย่างนี้มีโอกาสจะมาตรัสรู้’ ก็รีบเลย วันไหนจะออกบวชก็ไปกระซิบเลย บอกว่า.. “อย่าเพิ่งออกบวช! อีก ๗ วัน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว กลับไปวังเถิดๆ” นี่คือ ขัดขวางแล้ว แต่พอเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชจริงๆ ก็ไปเรียนกับอาฬารดาบส และอุททกดาบส..มารไม่ขวางเลย!! เพราะมารรู้อยู่ว่า “สมาธิแบบฤษีเนี่ย ไม่ตรัสรู้หรอก” ..เรียนไปเลย ปล่อยให้เรียนไปเลย พอออกจากสำนักฤษี มาทรมานตัวเอง มารก็ไม่ขัดขวางเลย เพราะรู้ว่า “การทำทุกรกิริยานั้น อย่างไรก็ไม่ตรัสรู้” มารก็..ปล่อยไป ..’ให้ทรมานไป ให้ตายไปเลย’ ประมาณนี้ ในมารคงคิดอย่างนั้นนะ ‘ทรมานให้ตายไปเลย’ ไม่ขัดขวางเลย ไม่มายุ่งเลย ไม่มีมาพูดด้วยเลยสักแอะหนึ่งนะ แต่พอหันมาเสวยพระกระยาหารเนี่ยนะ เจ้าชายสิทธัตถะนะ หันมาเสวยพระกระยาหาร แล้วมาระลึกถึง..การทำสมาธิแบบตอนเด็กๆ เมื่อคราวที่พุทธบิดาทำพิธีแรกนาขวัญ ตอนนั้นนะ สมาธิแบบตอนที่ทำตอนเด็กๆ ไม่เหมือนกับสมาธิที่เรียนกับฤษี พระองค์เห็นเลยว่า.. ‘อ้า! มันมีสมาธิแบบหนึ่งที่เคยทำ ซึ่งไม่เหมือนกับตอนที่เรียนกับฤษีทั้งสอง’ ตอนนั้นก็ตัดสินใจเลยว่า ‘ช่องทางนี้ล่ะ น่าจะใช่ช่องทางที่จะพาไปสู่การตรัสรู้ได้’ แล้วก็คิดว่า ‘จะใช้วิธีนี้’ พอคิดจะใช้วิธีนี้นะ ตอนนั้นนั่งที่ใต้ต้นโพธิ์แล้วนะ มารรู้เลย ‘อ้า! ถ้าทำสมาธิแบบนี้นะ ตรัสรู้แน่’ .. มารขวางเลย!!! วิธีจะขวางก็คือว่า พระโพธิสัตว์เนี่ยนั่งแล้ว – นั่งขัดสมาธิแล้ว – เตรียมจะเข้าสมาธินั้นแล้ว!! วิธีที่จะให้หยุดยั้งทันที จะทำอย่างไรล่ะ? จะมาอ้อนวอนคงไม่ได้แล้ว..ก็ยกทัพมาเลย ยกทัพมา.. มากันเรียกว่า มากันมืดฟ้ามัวดิน เทวดาอื่นมากมายนะ เห็นเจ้าชายสิทธัตถะกำลังจะนั่ง ณ โคนโพธิ์ ก็รู้แล้วว่า คราวนี้พระองค์จะตรัสรู้แล้ว ในใจเทวดาทั้งหลายนะ เทวดาที่ดีๆ ทั้งหลายเนี่ย ก็อยากจะมาดู คล้ายๆ ว่าจะมาเป็นพยาน จะมาดูเหตุการณ์สำคัญของโลก ว่า.. ‘พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ขอเห็นหน่อย ตอนตรัสรู้เป็นอย่างไร?’ ห้อมล้อมอยู่เต็มเลย.. มาดู แต่พอพญามารมานะ เทวดาพวกนี้หลบหนีหายไปเลย ในตำราบอกว่าไปอยู่ขอบจักรวาลเลย กลัวพญามารขนาดนั้น แต่ความน่ากลัวขนาดนั้นเนี่ย ไม่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะนั้นหวั่นไหวเลย ตอนนั้นพระองค์นั่งแล้ว พญามารทำทุกวิธีที่จะให้พระองค์ลุกออกจากบัลลังก์นั้น ก็ไม่สำเร็จเลย ขู่ทางไหน อาวุธอะไรใส่มา ก็ไม่สำเร็จสักอย่าง สุดท้ายใช้วิธีโหวต (vote)! โหวตอย่างไร? พญามารบอกว่าที่นั่งนี้เป็นของเขา เจ้าชายสิทธัตถะแย้งว่า “มีใครเป็นพยาน?” มาก็ว่า “พวกเราทั้งหลายนี่ไง” ก็สมุนของพญามารนั่นล่ะ สมุนของพญามารที่มากันมือฟ้ามัวดินนั้นเป็นพยานให้มารทั้งหมดเลย มีพระโพธิสัตว์องค์เดียวอยู่ตรงนั้น ไม่มีใครเป็นพยานให้พระองค์เลย ถ้าโหวต (vote) กันเนี่ย แพ้เลยนะ นับเปอร์เซนต์ (percent) กันไม่ได้เลยนะ เพราะพญามารเนี่ย ยกทัพมานับไม่ถ้วนเลย เป็นเทวดานับไม่ถ้วนเลย เจ้าชายสิทธัตถะตอนนั้นเป็นพระโพธิสัตว์นะ ยังไม่ตรัสรู้นะ ไม่มีใครจะเป็นพยาน ก็เอามือเนี่ย คลายจากท่าสมาธิ ไปเตะที่แผ่นดิน ขอให้พระแม่ธรณีเป็นพยาน ท่าของการที่มือคลายออกมา แล้วเอาข้างขวาเตะที่พื้นดินเนี่ยนะ ตรงนี้เรียกว่า “ท่ามารวิชัย” (มา-ระ-วิ-ชัย) – แปลว่า ชนะมาร ทำไมถึงชนะมาร? เพราะว่าพระแม่ธรณีออกมาเป็นพยานว่า “พระองค์ คือพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีมามากจริงนะ” แล้วก็เอาน้ำเท่าที่พระองค์ทำบุญสร้างบารมี แล้วมีการกรวดน้ำ ขอเอาเฉพาะน้ำในการกรวดน้ำ ที่พระองค์สร้างสมมา ตั้งแต่สร้างบารมีมา จะมาแสดงให้ดูว่า พระองค์สร้างบารมีมาจำนวนนับไม่ถ้วน ก็บีบมวยผมออกมา น้ำออกมาท่วมพญามารไปเลย ท่านี้จึงเรียกว่า “ท่ามารวิชัย” แต่บางคนเนี่ยไปเรียกท่านี้ผิดๆ ไปเรียกว่า ท่าสะดุ้งมาร จริงๆ ไม่ใช่สะดุ้ง ไม่ใช่ว่า มารมา..ตกใจ! คลายออกมาจากท่านั่งสมาธิ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ มีการคลายมาเพื่อจะขอให้พระแม่ธรณี หรือขอให้แผ่นดินเป็นพยาน เป็นพยานว่าพระองค์สร้างบารมีมา แล้วบัลลังก์ที่นั่งนี้ได้มาโดยชอบ ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของที่นั่งตรงนี้มาก่อน รับหญ้าจากโสตถิยพราหมณ์มา ๘ กำ แล้วพระองค์ก็มาปูเอง เลือกที่นั่งเอง ปูเอง ที่ตรงนั้นไม่ได้มีเจ้าของมาก่อน มารมาตู่ แต่จะเอาเสียงส่วนมากเข้ามาข่ม อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสียงส่วนใหญ่เนี่ยบางทีใช้ไม่ได้นะ มันต้องขึ้นอยู่กับว่า เป็นธรรมไหม? มันเป็นธรรมหรือเปล่า? ๕. มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายก็เป็นตัวขัดขวางนะ กำลังทำความดี จะสำเร็จอยู่แล้ว ..ตายเสียก่อน ก็เลยหมดเวลา ชาติที่ความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติที่เหมาะที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะมนุษย์เวลาสุขก็ไม่สุขมากไปจนทำให้เหลิง ทุกข์ก็ไม่ทุกข์จนขนาดที่ว่า ทุกข์แบบสัตว์นรก ก็ทุกข์พอทนได้ แต่ทุกข์เป็นการกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาท มันเป็นชาติที่เหมาะ ที่จะมาพัฒนาตัวเอง แล้วก็สามารถทำให้บรรลุมรรคผลได้ในชาตินี้ แต่!! ถ้าคิดจะทำความดีกว่าจะให้พ้นทุกข์ได้ มันต้องมีเวลา ใช่ไหม? การจะทำให้มรรคผลเกิดขึ้นเนี่ย ไม่ใช่.. “เอาล่ะ ฉันจะทำตอนนี้!”.. แล้วก็ได้เลย นับอีก ๕ วินาทีต่อไป มันไม่ใช่อย่างนั้น ! มันก็ต้องค่อยๆ สะสมตามกำลังของเรา ถ้าเราสั่งสมมาดี อดีตสั่งสมมาดีนะ ฟังธรรมประโยคเดียว หรือคาถาเดียว..ก็บรรลุ เช่นท่านพระพาหิยะ แต่เราเนี่ยคงไม่ได้สร้างสมบารมีมาขนาดนั้น อย่างมากเลย เราก็น่าจะเป็นประเภท “เนยยะ” เนยยะ คือ ผู้ที่พอแนะนำได้ พอจะฝึกสอนอบรมให้เข้าใจธรรมได้ คือ ฟังธรรมแล้ว ฟังธรรมอีก มาฝึกฝนแล้ว ฝึกฝนอีก มันก็ต้องใช้เวลา ใช้เวลาในการพัฒนา ในระหว่างพัฒนานั้น.. ตายไปซะก่อน อันนี้น่าเสียดาย เรียกว่า ความตายมาขัดขวาง ทำให้การทำความดีสูงๆ ขึ้นไปไม่สำเร็จ ..หมดเวลา หมดเวลาเนี่ย ถ้าไปเป็นเทวดา บางทีก็เหลิงกับความสุขในขั้นทิพย์ เหาะไปไหนก็สบายๆ เวลาดูอะไรก็น่าดูน่าชม เป็นผู้ชาย ตายไป เป็นเทพบุตร เจอเทพธิดาก็ ‘โอ้โห! สวยจังเลย’ ก็เพลินไปกับเทพธิดา เป็นเทพธิดา ตายไป เจอเทพบุตร ‘โอ้! หล่อจัง’ ก็เพลินไปกับเทพบุตร มันน่าหลงน่าเพลิน ความเป็นมนุษย์เนี่ยพอดีๆ ที่จะฝึกตน.. แต่ตายไปซะเสียก่อน ก็เรียกว่า หมดเวลาของการพัฒนา ในชาติของความเป็นมนุษน์นี้ เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาทั้ง ๕ อย่างก็คือ (๑) กิเลส (๒) อภิสังขาร (๓) ขันธ์ (๔) เทวบุตร (๕) มัจจุ ก็เป็นตัวขัดขวาง ในการที่เราจะบรรลุคุณความดียิ่งๆ ขึ้นไป นี่คือ “มาร” นะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=OprPtoR6LMk (นาทีที่ 33.00-47.45)

อ่านต่อ