#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เดินพุทโธ #ถาม: เวลาเดินจงกรม โยมใช้ภาวนาคำว่า “พุทโธ” ไว้ที่เท้า ซึ่งโยมว่า ‘ไม่เหมาะ’ มีคนบางคนบอกว่า “พุทโธ เป็นคำที่สูง” จะใช้คำอื่นได้ไหมเจ้าคะ? #ตอบ: จริงๆ ใช้คำนี้ก็ได้นะ มันเป็นเพียงคำบริกรรม เราบริกรรม คำว่า “พุทโธ” ใช้บริกรรมที่ “ใจ” เราไม่ได้เอาพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธคุณ มาเหยียบย่ำ เพียงแต่ว่า ระลึกถึงพุทธคุณ ทุกก้าวเดิน ขวาย่าง..“พุท” ซ้ายย่าง.. “โธ” คือ มันมี “พุทโธ” อยู่ที่ “ใจ” อย่าไปนึกว่า มีคำว่า.. “พุท” แล้วเราไปเหยียบทับ ไม่ใช่อย่างนั้น! “โธ” แล้วซ้ายเหยียบทับ ไม่ใช่อย่างนั้น! ในทุกๆ ก้าว จะมีคำบริกรรม ขาขวาก้าว.. “พุท” ขาซ้ายก้าว.. “โธ” เราไม่ได้ไปเหยียบคำว่าพุทโธ แต่ทุกการก้าวเดิน เป็นตัวกระตุ้น ให้เรามีคำบริกรรมขึ้นมา ในเมื่อมี “๒ ขา” เราก็ใช้ “๒ คำ” “พุท-โธ” ก็เดินอย่างนี้แหละ ถ้าเราไม่สบายใจ มีคนทักแล้ว เราไม่สบายใจ เราจะเปลี่ยนคำก็ได้ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก็ได้ หรือไม่มีเลยก็ได้ จะไม่มีคำบริกรรม มีแต่ความรู้สึกตัวว่า ‘ร่างกายกำลังเดินอยู่’ ก็ยังได้ มันไม่ได้มีความหมายว่า เราจะเอาคำนั้นมาเหยียบย่ำ ไม่ใช่อย่างนั้น! ไม่ใช่เขียนใส่กระดาษ แล้วเอาขาไปเหยียบทับ ไม่ใช่อย่างนั้น! มันเป็นการบริกรรมด้วยใจ มีคำว่า “พุท” ในขณะที่เดินย่างเท้าขวา มีคำว่า “โธ” ในขณะที่ใช้เท้าซ้ายเคลื่อนไหว มันเป็นเพียงคำบริกรรม อย่าไปคิดมาก ว่า ‘เราใช้คำสูงมาเกี่ยวกับเท้า’ ไม่ใช่อย่างนั้น! และอย่างที่บอก ถ้าไม่สบายใจจริงๆ สมมุติว่า มีคนมาพูด จนเราอาจจะรำคาญ หรือว่าอาจจะคล้อยตามไป.. จริงๆ ไม่ควรจะคล้อยตาม แค่ว่าเขาพูดมาก ก็เปลี่ยนคำก็ได้ เขาจะได้ไม่ต้องมาว่าเรา บางทีเราไม่ถนัดที่จะอธิบายว่า จริงๆแล้ว เขาเข้าใจผิด เราไม่ถนัดที่จะอธิบาย เราก็จะเปลี่ยนก็ได้ ตอนบรรลุธรรม มันไม่ได้บรรลุด้วยคำบริกรรม คำบริกรรมเป็นตัวช่วยให้ เกิดมีความรู้สึกตัวขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เราจะใช้ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก็ได้ จะไม่หนอก็.. “ขวาย่างรู้” “ซ้ายย่างรู้” ก็ได้ หรือ “ขวา” “ซ้าย” “ขวา” “ซ้าย “ ก็ยังได้นะ คือ ขอให้มีความรู้สึกตัว ตัวเด่นมันคือว่า ใช้ความรู้สึกตัวว่า ร่างกายกำลังเคลื่อนไหว ใช้ “กายที่กำลังเคลื่อนไหว” นี้ เป็น “ที่อยู่ของจิต” ท่านให้รู้สึกตัวแม้กระทั่ง ในเวลาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ถ้าการปฏิบัติธรรม เป็นของสูงนะ การปฏิบัติธรรมเป็นของสูง ควรจะใช้ตอนเข้าส้วมไหม? หรือว่าไม่ควรใช้? ต้องใช้ “ทุกขณะ” ใช่ไหม? อิริยาบถของเรามันไม่ใช่ว่า เป็นการใช้ของสูงของต่ำอะไร มันใช้เพื่อรู้สึกตัว-เจริญสติ สติมันอยู่ที่ว่า มี จิตรู้กาย หรือ จิตรู้ใจ รู้กาย หรือ รู้ใจ มีสติรู้กาย หรือ มีสติรู้ใจ มันไม่ได้ไปวัดว่า เป็นของต่ำ? ของสูง? ในลักษณะอย่างนั้น “มีสติ” – รู้กาย – รู้เวทนา – รู้จิต – รู้ธรรม ..รู้ได้หมดเลย มันไม่มีต่ำมีสูง ในขณะที่การปฏิบัติ มีแต่ “รู้” หรือ “ไม่รู้” “รู้” หรือ “เผลอ” เผลอ..แล้วรู้ก็ยังดี มันอยู่ที่ว่า ”มีสติ-รู้” หรือเปล่า? รู้แล้ว รู้ด้วยใจ มีคุณภาพอย่างไรด้วย? รู้ด้วย “ใจเป็นกลาง” หรือ “ไม่เป็นกลาง” รู้แล้ว “พอใจ” “ไม่พอใจ” รู้แล้ว “ไปแทรกแซงไหม?” มันควรจะมาพัฒนาในเรื่องนี้ ไม่ใช่ไปติดในคำบริกรรมว่าเป็นของสูง แล้วก็เลยไม่กล้าใช้กับอิริยาบถ กับอวัยวะต่ำๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่เกี่ยวกันเลย ขอทำความเข้าใจกันเสียใหม่นะ หลักการ คือ ให้มีคำบริกรรม เพื่อกระตุ้นให้มีสติ เพราะฉะนั้น คำบริกรรมมันอยู่ที่ใจ แล้วทำใจให้มีสติ ในทุกๆ การเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือ ถ้าจิตมันเผลอ..ก็ให้รู้นะ … เป็นอย่างนี้นะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/zoGIXy4zUto (นาทีที่ 1:26 – 6:57)

อ่านต่อ