#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การนั่งสมาธิ #ถาม : เคยฟังหลวงพ่อฯ ให้นั่งสมาธิ – ขาขวาทับขาซ้าย – มือขวาทับมือซ้าย – ให้ตั้งกายให้ตรง แล้วโยมนั่งได้แป๊บเดียวค่ะ เพราะสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จะขอมานั่งที่เก้าอี้ได้ไหมคะ เพราะว่าอายุก็มากแล้วค่ะ? #ตอบ : ได้..ได้เลย! นั่งเก้าอี้ได้ คือ การนั่งขัดสมาธิราบ “ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย” นี้ สำหรับคนที่สุขภาพดีๆ คือ สมัยก่อนนี้ที่อินเดีย เก้าอี้คงไม่ได้มีทั่วไป โดยเฉพาะพระภิกษุนะ เวลาอยู่กุฏิ หรือไปตามป่า นั่งกับพื้น ก็มีท่านี้ล่ะ ที่จะนั่งแล้วนั่งได้สบาย ปัจจุบันนี้.. อย่างโยมบอกว่า “สุขภาพไม่ดี” อาจจะเป็นเพราะอายุ หรือว่า อาจจะเป็นเพราะความเจ็บป่วย “นั่งเก้าอี้” ก็ได้นะ ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ท่า ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า – อิริยาบทเราอยู่ในท่าไหน เรารู้ไหม? – มีสติรู้กายไหม..ว่าอยู่ในท่าไหน? – เดินอยู่ แล้วรู้ไหม..ว่ากายกำลังเดิน? – เห็นความเคลื่อนไหวของร่างกายไหม? – เห็นกายเป็นกายไหม? เวลานั่งอยู่นี้ นั่งแม้แต่นั่งเก้าอี้ อิริยาบทนี้ ท่าของกายนี้ เป็นอย่างนี้ รู้ไหม? “รู้ไหม?” หมายถึงว่า รู้ว่า : ‘กายนี้’ เป็นอย่างนี้ไหม? ไม่ใช่รู้ว่า ‘เรา’ เป็นอย่างไร? นะ รู้ว่า ‘กาย’ เป็นอย่างนี้ไหม? “เห็นกายเป็นกาย” เห็นกาย กำลังอยู่ในอิริยาบทอย่างนี้ เรียกว่า “เจริญสติปัฏฐาน – รู้อิริยาบถ” (เดิน ยืน นั่ง นอน) หรือว่า ระหว่างนั่งอยู่นี้ มันมีการเหลียวซ้าย-แลขวา นี่คือ “อิริยาบทย่อย” มันมีความเคลื่อนไหวอย่างนี้ รู้บ้างไหม? มีการยกมือไป-ยกมือมา เหยียด-คู้ อะไรอย่างนี้ รู้ไหม? อันนี้ก็เป็น “อิริยาบทย่อย” อยู่ใน “สัมปชัญญะปัพพะ” (หมวดสัมปชัญญะ) มันอยู่ที่ว่า ร่างกายเป็นอย่างไร รู้ ‘กาย’ ไหม? จิตใจทำงานอย่างไร รู้ ‘จิต’ ไหม? นั่งๆ อยู่นี้อาจจะรู้ที่กาย เห็นกายหายใจ นั่งอยู่..เห็นกายหายใจ มี “กายหายใจอยู่นี้” เป็น “อารมณ์” เป็นจุดเริ่มต้นก่อน ..แล้วพอมีความเผลอเกิดขึ้น รู้ทันความเผลอไหม? เผลอไป-ไม่รู้.. เผลอไป-มีราคะ-รู้ทันราคะ ก็ยังได้ เผลอไป-ไม่รู้-ไปรู้ตอนที่มีโทสะ ก็ยังได้ ฟุ้งซ่าน-แล้วก็รู้ หดหู่-แล้วก็รู้ ประมาณอย่างนี้ เห็นทันกิเลสนั่นเอง นั่งอยู่-รู้ทันกิเลส นั่งอยู่-แล้วมีกิเลสเกิดขึ้น-รู้ทันกิเลส ..แล้วก็เห็นกายนั่งต่อ กายที่นั่งอยู่นี้ ถ้ารู้กายอย่างที่ว่า ให้มันเป็น “ที่อยู่” ก็เห็น ‘กายที่นั่งอยู่นี้’ เป็นที่อยู่ เป็นเครื่องอยู่ คือทำสมถะจากการเห็นอิริยาบถนี้ก่อน ก็ยังได้นะ รู้กายไป แล้วพอจิตมันมีความเคลื่อนไหว มีการทำงานของจิต-รู้ทันจิต มีกิเลสเกิดขึ้น-รู้ทันกิเลส รู้แล้ว มารู้กายที่กำลังนั่งนี้ต่อ ก็เรียกว่าเอา ‘กายที่นั่งอยู่นี้’ เป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะนั่งที่เก้าอี้ .. หรือนั่งราบ .. ได้ทั้งนั้น เพราะว่าตัวสำคัญคือ “รู้กาย” มันไม่ได้รู้ว่าจะต้องท่านั้น.. ท่านี้.. มันไม่มีข้อบังคับนะ ไม่ใช่ว่าต้องนั่ง ‘ขาไหนทับขาไหน’ ด้วยซ้ำ คือ นั่ง หรือว่า มีอิริยาบถอย่างไร รู้ตามความเป็นจริงว่า มีอิริยาบทอย่างนั้น ถามว่า “นั่งเก้าอี้ได้ไหม?”..ก็ได้ โดยหลักการ ก็คือว่า “รู้กาย ตามที่เป็น” ถ้าจิตมันทำงาน “รู้จิต ตามที่มันเป็น” “รู้ซื่อๆ” “รู้ด้วยใจเป็นกลาง” เห็นกาย ก็เห็นกายตามเป็นจริง เวลาจิตมันทำงาน ก็เห็นจิตตามที่มันเป็นจริง มันก็สามารถที่จะเจริญกรรมฐานได้ ทั้งสมถะและวิปัสสนา ได้ทั้งหมดเลยนะ สามารถทำได้ ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=c3XEHbrk4ZU (นาทีที่ 1:18:56 – 1:23:11)

อ่านต่อ