ถาม : หนูไม่กระจ่างในศีลข้อ ๔ ค่ะ คือการงด..
– คำหยาบ คือคำที่พูดให้ผู้อื่นโกรธเคืองใช่ไหมคะ ?
– คำเพ้อเจ้อ คือคำที่พูดไปไม่มีประโยชน์ใช่ไหมคะ ? คำจำกัดความนี้มันกว้างมาก แล้วการร้องเพลงถือเป็นการพูดเพ้อเจ้อรึเปล่าคะ ? และเพราะอะไร ?
– คำโกหก คือคำที่พูดไม่เป็นความจริงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองใช่ไหมคะ ? แล้วถ้าพูดไม่จริงแต่ไม่ได้หวังผลประโยชน์ของตน จะเป็นคำโกหกไหมคะ ?
– คำส่อเสียด คือคำที่ยุยงให้เขาแตกกันใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ถามมาเป็นชุดเลย !
มิจฉาวาจา คือ วาจาที่ผิด มี ๔ ได้แก่
๑. มุสาวาท การพูดเท็จ, พูดโกหก, พูดไม่จริง, หลอกลวง ๒. ปิสุณาวาจา การพูดส่อเสียด, พูดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน
๓. ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ, คำพูดเผ็ดร้อน, คำด่า ๔. สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อ, พูดเหลวไหล, พูดไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ
มุสาวาท มีองค์ประกอบของการละเมิดอยู่ ๔ (เรียกสั้น ๆ ว่า มีองค์ ๔) ได้แก่
๑. เรื่องไม่จริง ๒. จิตคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ๓. มีความพยายามเกิดจากจิตที่คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนนั้น
๔. ผู้อื่นเข้าใจความที่พูดนั้น (ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม)
มุสา แปลว่า เท็จ ได้แก่เรื่องที่ไม่เป็นจริง
วาท แปลว่า คำพูด ในที่นี้หมายถึง กิริยาที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่จริง ซึ่งอาจจะไม่ได้พูดเป็นเสียงออกจากปากก็ได้ เช่น พยักหน้า, บุ้ยใบ้, เขียนหนังสือ, ส่งไลน์, แชร์ข้อมูล เป็นต้น
การโกหก แม้ไม่หวังผลประโยชน์ของตน ก็ย่อมเป็นการโกหกอยู่ดี บางทีไม่ได้มีเจตนาทำลายประโยชน์เขา แต่เพราะเราโกหก เขาจึงเข้าใจผิด และพลาดจากประโยชน์ที่พึงได้รับ อย่างนี้ก็อาจจะเป็นไปได้
มุสาวาท มุ่งที่เจตนาทำลายประโยชน์ของบุคคลอื่น
ถ้าประโยชน์ที่ทำลายไปนั้นมาก ก็มีโทษมาก ถ้าประโยชน์ที่ทำลายไปนั้นน้อย ก็มีโทษน้อย
เช่น เป็นพยานให้การเท็จ ก็มีโทษมาก พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่พูดมุสา แม้ด้วยเหตุแห่งชีวิต
ปิสุณาวาจา มีองค์ ๔ คือ
๑. ผู้อื่นที่พึงให้แตกกัน
๒. มุ่งให้เขาแตกกัน โดยคิดว่า คนเหล่านี้จะแยกกัน ไม่กลมเกลียวกัน ด้วยอุบายอย่างนี้ หรือ ประสงค์ให้ตนเป็นที่รักแทนคนที่เขาเคยรัก คิดว่า เราจะเป็นที่รัก เป็นที่ไว้วางใจ ยิ่งกว่าคนนั้น ด้วยอุบายอย่างนี้
๓. ความพยายามที่เกิดแต่ความมุ่งให้เขาแตกกันนั้น ๔. ผู้นั้นรู้เรื่องนั้น
โดยหลักคือ ดูที่เจตนา เป็นเจตนาของผู้ที่มีจิตเศร้าหมอง ไม่ต้องการให้มีความรักความสามัคคีในกลุ่มคนเหล่านั้น
ถ้าทำความแตกแยกในบุคคลผู้มีคุณน้อย ก็มีโทษน้อย ถ้าทำความแตกแยกในบุคคลผู้มีคุณมาก ก็มีโทษมาก
ผรุสวาจา มีองค์ ๓ คือ
๑. คนอื่นที่ตนด่า ๒. จิตโกรธ ๓. การด่า
โดยหลักคือ เจตนาหยาบคาย อันเนื่องมาจากความโกรธ เป็นเหตุตัดความรักของผู้อื่น คือมุ่งให้เจ็บใจ มุ่งร้าย บางที วาจาหยาบ แต่ใจไม่หยาบ ก็มี
เช่น มีเด็กคนหนึ่ง อยากไปเที่ยวป่า แม่ห้ามก็ไม่ฟัง ไม่เอื้อเฟื้อต่อถ้อยคำของแม่ ดื้อเดินหนีไป แม่ก็ด่าไล่หลังไปว่า “ขอให้ควายป่าจงไล่มึง !”
ทันใดนั้น ควายป่าก็ปรากฏแก่เด็กนั้น เหมือนอย่างคำของแม่ทีเดียว เด็กนั้นได้ทำสัจจกิริยาว่า
“สิ่งที่แม่ของเราพูดด้วยปาก จงอย่ามี สองที่แม่คิดด้วยใจ จงมีเถิด” ควายป่านั้นก็ได้แต่ยืนนิ่ง เหมือนเป็นควายเชื่อง ๆ ที่ถูกผูกไว้ในป่านั่นเอง
คำพูดของแม่อย่างนี้ ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะมีจิตใจอ่อนโยน บางทีเป็นผรุสวาจา ทั้งที่คำดูเหมือนว่าอ่อนหวาน เพราะผู้พูดมีเจตนาร้าย มีจิตหยาบ
กล่าวผรุสวาจากับผู้มีคุณน้อย ก็มีโทษน้อย กล่าวผรุสวาจากับผู้มีคุณมาก ก็มีโทษมาก
สัมผัปปลาปะ มีองค์ ๒ คือ
๑. มุ่งแล้วถ้อยคำที่ไร้ประโยชน์ ไร้สาระ ๒. พูดเรื่องนั้นออกมา
รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ก็ยังพูด ไม่คำนึงว่าใครจะพอใจหรือไม่ พูดมากก็มีโทษมาก พูดน้อยก็มีโทษน้อย
ไม่ได้มีเจตนาโกหก แต่พูดเพ้อเจ้อไปแล้วมีคนเชื่อ ก็มีโทษมาก ถ้าไม่มีใครเชื่อ ก็มีโทษน้อย พูดเจือกิเลสมากก็มีโทษมาก เจือกิเลสน้อยก็มีโทษน้อย
การร้องเพลง เป็นมิจฉาวาจาได้ทั้ง ๔ แบบ หรืออาจจะเป็นสัมมาวาจาก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและเจตนาในการร้อง
ที่แสดงไว้ว่า พูดอย่างนี้มีโทษน้อย พูดอย่างนั้นมีโทษมาก ไม่ได้หมายความว่ามีโทษน้อยแล้วพูดได้นะ
แต่ให้เข้าใจว่า ควรเว้นมิจฉาวาจาทั้งหมด เพราะมีโทษทั้งนั้น
ใน เวฬุทวารสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
“… อริยสาวกย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ถ้าใครจะทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ (มุสาวาท) ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา, ก็ถ้าเราจะทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่นเหมือนกัน…
… อริยสาวกย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ถ้าใครจะยุยงให้เราแจกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา, ก็ถ้าเราจะยุยงคนอื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่นเหมือนกัน…
… อริยสาวกย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ถ้าใครจะพูดจากับเราด้วยคำหยาบ (ผรุสวาท) ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา, ก็ถ้าเราจะพูดจากับคนอื่นด้วยคำหยาบ
ก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่นเหมือนกัน…
… อริยสาวกย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ถ้าใครจะพูดจากับเราด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปะ) ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา, ก็ถ้าเราจะพูดจากับคนอื่นด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่นเหมือนกัน,
สิ่งใด ตัวเราเองไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ ถึงคนอื่นก็ไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจเหมือนกัน, สิ่งใดที่ตัวเราเองไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ ไฉนจะพึงเอาไปผูกใส่คนอื่นเล่า,
อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมงดเว้นจากการ (กล่าวเท็จ, คำส่อเสียด, คำหยาบ และ) พูดเพ้อเจ้อด้วยตนเองด้วย (๑) ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจาก
การ (กล่าวเท็จ, คำส่อเสียด, คำหยาบ และ) พูดเพ้อเจ้อด้วย (๑) ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากการ (กล่าวเท็จ, คำส่อเสียด, คำหยาบ และ)
พูดเพ้อเจ้อด้วย (๑), วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามด้านอย่างนี้”
๑๔ กันยายน ๒๕๖๐