#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๐๗ ??? #ถาม : เราสามารถที่จะรู้ใจรู้กายไปในขณะเดียวกับที่เราฟังธรรมได้ไหมคะ? …

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๐๗
???

#ถาม : เราสามารถที่จะรู้ใจรู้กายไปในขณะเดียวกับที่เราฟังธรรมได้ไหมคะ?

#ตอบ : ได้

แต่ว่าแรกๆเนี่ย ตอนฟังธรรม เราจะฟังเพื่อเอาความเข้าใจรู้เรื่องราว ฉะนั้นตอนรู้เรื่องราวเนี่ยจะมารู้กายรู้ใจไม่ได้ ก็ต้องมารู้ว่าท่านสอนอะไร หลักการปฏิบัติเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร ท่านยกตัวอย่างหรือเล่านิทานประกอบว่าอย่างไรบ้าง คือมารู้เรื่องราว อย่างนี้ในขณะที่ฟังนั้นยังไม่ต้องรู้กายรู้ใจ ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานตลอดเวลาในขณะที่ฟังธรรม เพราะขณะนั้นเรามีจุดมุ่งหมายคือจะฟังเพื่อให้รู้เรื่องราว ตอนรู้เรื่องราวเนี่ยไม่ได้ดูกาย ไม่ได้ดูเวทนา ไม่ได้ดูจิต ไม่ได้ดูธรรมนะ
แต่ฟังไป..เรียนไปเนี่ยนะ ในเรื่องราวที่เราเรียนอยู่เนี่ยมันเป็นความรู้ในชุดที่ว่ามาสอนเราให้เจริญสติ ความรู้ชุดนี้เนี่ยนะในระหว่างที่เราฟังไปเนี่ย เราเองก็อาจจะมีสักแว้บหนึ่ง..มาเห็นกายบ้าง เห็นใจบ้างก็ได้ แต่ไม่ได้เห็นตลอด เวลาส่วนใหญ่คือส่งออกมาเพื่อจะฟังเรื่องราว เพื่อทำความเข้าใจ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการฟังธรรมเพื่อเอาความเข้าใจ เพื่อให้ได้หลักในการปฏิบัติกลับไป
แต่ในระหว่างที่ฟังนั้นก็มีบางแว้บที่มารู้สึกตัวได้บ้าง
มันไม่เหมือนไปดูหนังดูละคร ดูหนังดูละครเนี่ยไม่มีดาราคนไหนชี้กลับมาหาคนดูหรอกว่า “รู้สึกตัว” ใช่ไหม? เพราะฉะนั้นเราจะดูแล้วก็เพลินไปในจอ เพลินไปในเรื่องราว มันอิน(in)ไปในเรื่องราว มันขาดสติตลอดเวลา ๒ ชั่วโมงที่เราดูอยู่
แต่ฟังธรรมไปเนี่ย ถ้าเป็นฟังธรรมในแง่ของการปฏิบัติ ผู้แสดงจะแสดงไป แล้วก็บอกแง่การปฏิบัติ คนฟังนี้ก็จะเก็บเอาบางคำเนี่ยมารู้สึกตัวทีละแว้บ ทีละแว้บ ไม่ใช่รู้สึกตัวตลอด ๒ ชั่วโมงในการฟังนะ แต่ว่าฟังไปแล้วก็เก็บเนื้อหาทำความเข้าใจ แล้วก็นำมาปฏิบัติ บางทีก็ปฏิบัติในขณะที่ฟังนั้นเลย..เป็นบางขณะ เป็นแว้บๆ แล้วพอได้ความเข้าใจแล้วเนี่ย จากตรงนี้พอท่านเสร็จจากการบรรยายตรงนี้แล้วก็เจริญสติต่อไปได้เลย เอาความรู้ที่ได้เรียนเมื่อกี้นี้มาฝึกเลย
บางทีถ้าเป็นนักฟังที่ดีขึ้นมาอีก ก็ปฏิบัติตั้งแต่นั่งอยู่ตรงนี้เลย ครูบาอาจารย์ยังไม่ออกมา หรือออกมาแล้วแต่ยังไม่เริ่มพูด เรากำลังนั่งรออยู่ ก็รู้สึกตัวได้เลย ภาวนารอท่านไปเลย ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่สอนแบบจากจิตสู่จิต คำสอนก็จะพอดีกับจิตเราเลย ต่อยอดหรือตอบปัญหาเราพอดีเลย เข้าใจไหม?
พอฟังธรรมเสร็จแล้ว แยกย้ายกันไป โยมก็เดินด้วยความรู้สึกตัว
สมมุติว่าฟังธรรมแล้วอิ่มใจ ก็เห็นความอิ่มใจ, ปลื้มใจ..ก็เห็นความปลื้มใจ ความปลื้มใจถ้าเราไม่รู้นะ ก็อิน(in)ไปกับความปลื้ม ก็ขาดสติเหมือนกัน
เราเผลอ..บางทีก็ไม่ใช่เผลอไปกับในสิ่งที่ไม่ดีอย่างเดียว เผลอไปในสิ่งที่ดีก็มี
ครั้งหนึ่งมีโยมไปฟังธรรมหลวงปู่สิม พุทธาจาโร แล้วก็คิดถึงลูกที่อเมริกา คิดในใจนะคิดในใจว่า ‘โห.. หลวงปู่สิมแสดงธรรมครั้งนี้เนี่ยดีมากเลย เสียดายที่ลูกไม่มาด้วย’ คิดแค่นี้เท่านั้นเอง แว้บเดียวเท่านั้นเองนะ หลวงปู่สิมชี้หน้าดุเลย “ตัวอยู่ที่วัด ใจไปอยู่อเมริกา ไม่ได้เรื่อง!”
โยมคนนั้นตกใจเลยนะ แต่แทนที่จะรู้สึกตัวมีสติขึ้นมา กลับตกใจ ‘หลวงปู่รู้ได้ไง?’ คิดไปในแง่นี้อีก
จริงๆ คือแม้จะเป็นเรื่องดีนะ เช่น ฟังธรรมอยู่แล้วปลื้มใจว่าหลวงปู่สอนดี แล้วคิดถึงลูก จะว่ามีกรุณากับลูกก็ได้นะ อยากให้ลูกได้มาฟังบ้าง เทียบแล้วกับคนทั่วๆไปเหมือนคิดดีอยู่ แต่จริงๆถ้าในแง่ของสติปัฏฐาน..ขณะนี้กำลังลืมตัวใช่มั้ย? ใจกำลังเผลอไปหาลูก..ไม่รู้ว่าเผลอ กายกำลังนั่งฟังอยู่นั่ง..ก็ไม่รู้ว่ากายกำลังนั่งอยู่ ในกาย-ในใจนี้ไม่รู้อะไรเลย! รู้แต่ว่า.. “ลูกอยู่อเมริกา น่าจะมาฟังธรรมดีๆอย่างนี้” อย่างนี้นี่นะ ในแง่สติปัฏฐาน..ใช้ไม่ได้เลย
ตอนที่หลวงปู่สิมยังชี้ว่าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าเราเป็นนักภาวนาที่ดี ก็แค่รู้ว่า..เมื่อกี้นี้เผลอไป หรือว่าหลวงปู่ทักแล้วตกใจ..ก็รู้ว่าตกใจ อย่างนี้ใช้ได้เลย เจริญสติเลย

๖ มีนาคม ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook