#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๗ ?? #ถาม​ : ผม​สับสน​ความหมายระหว่าง​ “ตั้ง​สัจจะ” กับ​ “อธิษฐาน” ว่าแตกต่าง​กัน​อย่างไรครับ?…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๑๗
??

#ถาม​ : ผม​สับสน​ความหมายระหว่าง​ “ตั้ง​สัจจะ” กับ​ “อธิษฐาน” ว่าแตกต่าง​กัน​อย่างไรครับ?
เช่น​ ตั้ง​สัจจะ​ว่า​จะ​บวช​ ๑​ เดือน​ที่​วัด​แห่ง​หนึ่ง แล้ว​อยู่​ได้​แค่​สัปดาห์​เดียว​ก็​พบ​ว่า​วัดนั้น​ไม่​เหมาะ​ จะ​สึกหรือ​ไป​อยู่​ที่​อื่น​ อย่างนี้​จะ​เสีย​สัจจะ​หรือ​เสีย​อธิษฐาน​ไหม​ครับ?

#ตอบ​ : ดู​ศัพท์​ก่อน​นะ

อธิษฐาน​ มา​จาก​คำ​ภาษา​บาลี​ว่า​ อธิฏฺฐาน​ แปล​ว่า​ ความ​ตั้งใจ​มั่น

ใน​ทาง​พระวินัย​ จะ​หมาย​ถึง​ ความ​ตั้งใจ​ให้แน่นอน​ลง​ไป
เช่น​ อธิษฐาน​พรรษา​ ก็​คือ​ตั้งใจ​ว่า​จะ​อยู่​จำ​พรรษา​ที่​อาวาส​นี้​ตลอด​ ๓​ เดือน​ ด้วย​คำ​ว่า​ “อิมัสฺมิง​ อาวาเส​ อิมัง​ เต​มาสัง​ วัสสัง​ อุเปมิ”

อธิษฐาน​บริขาร​เครื่องใช้​ เช่น​ ตั้งใจจะ​ใช้​ผ้า​ผืน​นี้​เป็น​ผ้า​สังฆาฏิ​ ก็​นำ​ผ้า​นั้น​มา​อธิษฐาน​ว่า​ “อิมัง​ สังฆาฏิง​ อธิฏฐามิ” เป็นต้น

ใน​ทาง​ธรรม​ จะ​หมายถึง​ การ​ตัดสินใจ​เด็ดเดี่ยว​ ตั้งใจ​มั่น​แน่ว​ที่​จะ​ทำ​การ​ให้​สำเร็จ​บรรลุ​เป้าหมาย​
ถ้า​เป็น​ความ​ตั้งใจ​มั่น​ ไม่​หวั่นไหว​ เพื่อ​บรรลุ​พระ​โพธิญาณ​ แม้​จะ​ต้อง​สละ​ทรัพย์สิน​ หรือ​อวัยวะ​ หรือ​แม้แต่​ชีวิต​ ก็จัด​เป็น​บารมี​อย่าง​หนึ่ง​ เรียก​ว่า​ อธิษฐาน​บารมี​

ตัวอย่าง​ที่​พระ​โพธิสัตว์​บำเพ็ญ​อธิษฐาน​บารมี​ที่​เด่น​ชัด​ คือ​ใน​คราว​ที่​เสวย​พระ​ชาติ​เป็น​พระ​เตมีย์​ ยอม​สละ​ชีวิต​อธิษฐาน​วัตร​ ให้​คน​ทั้งหลาย​เข้าใจ​ว่า​เป็น​ใบ้​และ​เป็น​คน​ง่อยเปลี้ย​ โดย​พระ​องค์​ตรัสว่า​
“มารดา​บิดา​มิ​ได้​เป็น​ที่​เกลียดชัง​ของ​เรา​ ทั้ง​ยศ​ใหญ่​เรา​ก็​มิได้​เกลียดชัง​ แต่​พระ​สัพพัญญุต​ญาณ​เป็น​ที่รัก​ของ​เรา​ เพราะฉะนั้น​เรา​จึง​อธิษฐาน​วัตร”
(และ​การ​อธิษฐาน​นี้​ จัด​เป็น​ปรมัตถบารมี​ด้วย)​
ท่าน​กล่าว​ว่า​ บารมี​ทั้ง​ ๑๐​ ข้อ​ ย่อม​บริสุทธิ์​ ไม่​กำเริบ​ ก็​ด้วย​อำนาจ​ของ​อธิษฐาน​นี้

สัจจะ​ แปล​ว่า​ ความ​จริง

ใน​แง่​การ​สร้าง​สัจจบารมี​ จะ​หมาย​ถึง​ การ​ไม่​กล่าว​คำ​เท็จ​เพราะ​เหตุ​แห่ง​ทรัพย์​สิน​ เงิน​ทอง​ ยศ​ตำแหน่ง​ หรือ​เพราะ​เหตุ​แห่ง​สุขภาพ​ร่างกาย​ ในที่สุด​แม้​แต่​เหตุ​แห่งชีวิต​
หมายความ​ว่า​ ไม่มี​แรงจูงใจ​ใด​ๆ​ ที่​จะ​ทำให้​กล่าว​คำ​เท็จ​ได้​เลย

ตัวอย่าง​ที่​พระ​โพธิสัตว์​บำเพ็ญ​สัจจบารมี​ที่​เด่น​ชัด​ คือ​ใน​คราว​ที่​เสวย​พระ​ชาติ​เป็น​พระ​เจ้า​สุตโสม​ ถูก​พระ​เจ้า​โปริสาท​จับไป​ได้​ เพื่อ​ประหาร​เป็น​พลีกรรม​ต่อ​เทวดา เมื่อ​พระเจ้า​สุต​โสม​ระลึก​ถึง​คำ​ปฏิญญา​ที่​ก็​ไว้​กับ​พราหมณ์​ จึง​ขอ​เข้า​ไป​ใน​กรุง​อินทปัต​เพื่อ​เปลื้อง​คำ​ปฏิญญา​นั้น​ เมื่อ​เสร็จ​ธุระแล้ว​ พระองค์​ก็​รักษา​สัจจ​วาจา​ ยอม​สละ​ชีวิต​เข้าไป​หา​พระเจ้า​โปริสาท​

ส่วน​คำ​ว่า​ “ตั้ง​สัจจะ” ใน​ความรู้สึก​ของ​คน​ไทย​ทั่วไป​ เช่น​ที่​ปรากฏ​อยู่​ใน​คำ​ถาม​นี้ น่าจะ​มี​ความหมาย​ไป​ใน​ทำนอง​”ตั้ง​สัตย์​ปฏิญาณ” คือ​เป็น​การ​ให้​คำ​มั่น​สัญญา​ด้วย​ความ​สัตย์​ ถ้า​ทำ​ไม่ได้​ตาม​นั้น​ ก็​จะ
– เสีย​สัจจะ​ คือ​ สัจจะ​ต่อ​วาจา​ (ใน​กรณี​ที่​เคยมี​การ​กล่าว​วาจา​ไว้)​
– เสีย​อธิษฐาน​ (ในกรณีที่​เคย​ตั้งใจ​ว่า​จะ​อยู่​ให้​ถึง​ ๑​ เดือน)​

กรณี​นี้​จึง​เป็น​บทเรียน​ว่า​ ก่อน​จะ​ตั้ง​สัจจะ​แบบนี้ ควร​จะ​ไป​ศึกษา​ดู​สถานที่, บุคคล, ข้อ​วัตร, บรรยากาศ, ฯลฯ​ ให้​ดี​เสีย​ก่อน​ มิฉะนั้น​จะ​ลำบาก​ใจ​ใน​ภายหลัง

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook