#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๒๖ (ต่อเนื่องจากนิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๒๕) ?? #ถาม : ถ้ากลัวเก็บกดจากการอดทน ถ้ากับคนเดิมเรื่องคล้ายๆเดิม…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๒๖
(ต่อเนื่องจากนิมฺมโลตอบโจทย์
๑๒๕)
??

#ถาม : ถ้ากลัวเก็บกดจากการอดทน ถ้ากับคนเดิมเรื่องคล้ายๆเดิม เรื่องที่คนอื่นกระทำกับเราโดยไม่มีเหตุผล เราก็โต้ตอบพูดออกมาอย่างมีเหตุมีผล น่าจะได้นะคะ แต่น้ำเสียงหรืออารมณ์ ต้องควบคุมให้ได้ค่ะ แล้วพิจารณาผลที่ตามมาประกอบด้วย แต่ถ้าเจอกันครั้งเดียว อะไรทนได้ก็ทนค่ะ แล้วก็เจริญเมตตาช่วยให้ความโกธรน้อยลง ค่อยดูความโกธรน่าจะได้นะคะ

#ตอบ : ทำแบบที่ว่านี้ก็ได้นะ

ใน สีติสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้เย็นอย่างยิ่ง
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน?
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ย่อมข่มจิต​ ในสมัยที่ควรข่ม
๒. ย่อมประคองจิต​ ในสมัยที่ควรประคอง
๓. ย่อมยังจิตให้ร่าเริง​ ในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
๔. ย่อมวางเฉยจิต​ ในสมัยที่ควรวางเฉย
๕. เป็นผู้น้อมไปในธรรมประณีต
๖. เป็นผู้ยินดียิ่งในนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรกระทำให้ แจ้งซึ่งความเป็นผู้เย็นอย่างยิ่ง ฯ”

ธรรมดาจิตควรข่มไว้ด้วยสมาธิ ในเวลาที่ฟุ้งซ่าน
ค​วรประคอง​ด้วยความเพียร ในเวลาที่จิตตกไปตามความเกียจคร้าน
ควรให้ร่าเริงด้วยกุศล เช่น ปราโมทย์ ปีติ ในเวลาที่จิตขาดความแช่มชื่น

๓ ข้อแรกนี้ เรียกว่าทำสมถะก่อน แต่ก็อย่าลืมเจริญวิปัสสนาด้วยนะ
สังเกตคำว่า “ในสมัยที่ควร” คือทำได้ แต่ไม่ใช่ทำทุกสมัย หรือทุกเวลา ทุกโอกาส

เพราะข้อต่อมา พระองค์แนะว่าควรวางเฉยด้วยอุเบกขาบ้าง อันหมายถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์
คือในเวลาที่ภาวนาอบรมจิตมาสม่ำเสมอแล้ว ก็อย่าไปแทรกแซงสภาวะที่เห็นนั้นเสียทุกครั้ง ให้มีใจเป็นกลางบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ปัญญาเห็นตามความเป็นจริง เห็นสภาวะแสดงไตรลักษณ์

สองข้อท้าย เป็นการตั้งเป้าหมายให้ตรง
เช่น ทำสมถะได้แล้ว ก็ไม่หยุดเพียงนี้ เพราะยังมีธรรมที่ประณีตยิ่งกว่า คือวิปัสสนา
และไม่ได้ภาวนาเพื่อหลบปัญหาไปเป็นคราวๆ แต่ภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญา ให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์
ซึ่งก็คือ เป็นผู้ยินดียิ่งในนิพพานนั่นเอง

๙ สิงหาคม ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook