#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๑ ?? #ถาม : ตอนที่เราเจอกิเลสที่เป็นปมของเราที่มันเป็นจุดอ่อนน่ะค่ะ ทำไมเราดูแล้วมันไม่ดับ…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๑
??
#ถาม : ตอนที่เราเจอกิเลสที่เป็นปมของเราที่มันเป็นจุดอ่อนน่ะค่ะ ทำไมเราดูแล้วมันไม่ดับ แล้วมันใช้เวลานาน แล้วเราจะทำยังไงในครั้งต่อไปคะ?

#ตอบ : มันเป็นจุดอ่อนเพราะเราแพ้ตรงนี้ง่ายไง แล้วก็ไปอิน..ไปจมกับมัน

ตัวที่เรียกว่าเป็นจุดอ่อน คือ มีตัวนี้ทีไรก็ยึดว่าเป็นเราทุกที
ถ้าเป็นกิเลสทั่ว ๆ ไป มันก็แค่กิเลส มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดู..แล้วก็เห็นเป็นกิเลส เป็นสิ่ง ๆ หนึ่งที่ถูกดู ถ้าเราสามารถเห็นกิเลสทุกตัวด้วยวิธีนี้ได้ คือเห็นเป็นสิ่ง ๆ หนึ่งที่ถูกดู แค่นี้ก็หลุดเลยทันที

ทุกครั้งที่เห็นกิเลสว่าถูกดู..จะมีจิตเป็นผู้รู้เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องตั้งใจแยก มันแยกของมันเป็นธรรมชาติเลย
สิ่งใดถูกดูสิ่งนั้นมีผู้ดูเป็นผู้รู้ขึ้นมา ทำอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า ไม่ว่ากิเลสตัวนั้นมันจะเป็นตัวที่เราเคยแพ้หรือไม่เคยแพ้ก็แล้วแต่ มันก็เป็นสิ่ง ๆ หนึ่งให้เราดูเท่านั้นเอง
มันเศร้าหมองก็เพราะว่ามีกิเลสตัวนี้อยู่ พอเห็นปั๊บ! ความเศร้าหมองดับ แต่ถ้าคิดใหม่ก็เศร้าใหม่..เศร้าหมองใหม่

ฉะนั้น บางทีเห็นแล้วนะ แต่ทำไมมันไม่หาย? จริง ๆ มันหายแล้ว..แต่คิดใหม่ จึงเหมือนไม่หาย ด้วยความไวในการเกิดดับของจิต เมื่อสติยังไม่ไวพอที่จะแยกชัดว่าเมื่อกี้มีตัวรู้เกิดขึ้นมา ก็นึกว่ามันเกิดอยู่ต่อเนื่อง นึกว่ามันยังไม่ดับ แต่จริง ๆ มันดับแล้ว
เหมือนแสงจากหลอดไฟฟ้าเนี่ย จริง ๆ มันเกิด-ดับ ๆ แต่เราแยกไม่ออกว่ามันมีการเกิด-ดับ เพราะตาเราไวไม่พอ ตาเรามีความสามารถจำกัด
แต่เราสามารถพัฒนาคุณภาพของสติให้ไวพอที่จะแยกเกิด-ดับของจิตได้ สามารถทำได้ พอรู้ทันปุ๊บ! ดับแล้ว แต่พอคิดใหม่..ก็เกิดใหม่ เกิดกิเลสตัวเดิมนี่แหละ แต่เกิดขึ้นในขณะใหม่ ให้ดูอย่างนี้นะ

รู้ทันไป มันไม่มีตัวไหนที่มันจะครองใจเราได้นาน เพราะแค่รู้ทันนะมันก็มีสติขึ้นมาครองใจขณะนั้นแล้วเดี๋ยวเผลอใหม่..คือใจเราน่ะทิ้งสติไปเอง ไปคว้าอย่างอื่นมา พอตอนคว้าอย่างอื่นมาก็ลืมกาย-ลืมใจ ไปคว้าไอ้นู่น ไปคว้าไอ้นี่ คว้ามาแล้วก็กลายเป็นกิเลส เป็นอุปกิเลส อย่างที่บรรยายมานั่นแหละ และทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่สภาวะอย่างหนึ่งแค่นั้นเองที่ทำให้ใจเศร้าหมอง

อย่าไปคิดว่าเราแพ้ไอ้ตัวนี้.. แล้วเราก็เลยยอมแพ้ ไม่เอานะ ไม่มีกิเลสตัวไหนที่มันจะชนะเราถาวร ถ้าเราหมั่นรู้

จริง ๆ แล้ว ที่ว่าเราแพ้กิเลสตัวนี้นี่นะ แสดงว่ามันเกิดบ่อย เกิดบ่อยนี่เป็นข้อดีที่ว่า มันเกิดบ่อยเราก็จะเห็นบ่อย เห็นบ่อยเนี่ยจิตจะจำมันได้
ไม่ต้องไปตั้งท่าต่อต้านมันนะ ถ้าต่อต้านก็ทำผิด ไม่ต้องต่อต้าน แค่รู้เฉย ๆ มันเป็นเพียงแค่กิเลสตัวหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็รู้ไป
ถ้าต่อต้าน เราจะรู้สึกว่า “ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก” อย่างนี้ต่อต้านแล้ว เราไม่มีหน้าที่อะไรมาก..แค่รู้
ในสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าไม่ให้ต่อต้านอะไรเลย มีราคะก็ให้รู้ โทสะก็ให้รู้ โมหะก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็ให้รู้ หดหู่ก็ให้รู้ รู้อย่างเดียว ไม่มีว่า “ห้ามมี” หรือว่า “ต่อต้าน” “จงทำลายกิเลสนั้นไป” “จงไล่ฟันไล่บี้บีฑามัน” อะไรอย่างนี้ไม่มี แค่รู้!

รู้บ่อย ๆ เนี่ยนะ จิตจะจำสภาวะนั้นได้แม่นยำ แล้วจะกลายเป็นว่าเรามี “ถิรสัญญา” จากสภาวะนั้น
ถิรสัญญา หมายถึง การที่จิตจำสภาวะได้แม่น เช่น คนขี้โกรธ ทีแรกก็ว่า “โอ้โห.. เราแพ้ทางความโกรธ เห็นหน้านังนี่ทีไรนะเราจะไม่พอใจ ยิ่งนังนี่มาทีไรนะ..เราจะโกรธทุกที” แต่ถ้าเป็นคนเจริญสติดูจิตเนี่ยนะ นังนี่มา..โกรธ ก็รู้ทันโกรธ นังนี่มาอีกแล้ว มันไม่ไปไหน กูก็จะดูมันเนี่ย ทุกครั้งที่มันเห็นหน้านังนี่เนี่ยนะ..เราจะโกรธ เราก็รู้โกรธไป ยิ่งโกรธบ่อยยิ่งดี แต่โกรธนานไม่ดี เข้าใจมั้ย?
โกรธนานจะไม่มีสติ แต่โกรธบ่อย-รู้บ่อย ก็จะมีสติถี่ ๆ การมีสติถี่ ๆ เนี่ยมีประโยชน์ เพราะทุกครั้งที่เห็นความโกรธ จิตมันจะจำความโกรธ มันไม่ได้จำหน้านังนั่นนะ แต่ถ้าโกรธอยู่เนี่ยมันจะไปจำหน้านังนั่น ไปจำว่า “นังนั่นมันร้าย นังนั่นมันเลว” อย่างนี้นะ แต่ถ้าโกรธแล้วรู้ว่าโกรธ…มันจะเห็นสภาวะคือโกรธ จิตมันจะไม่มองหน้านังนั่น แต่มันจะมาดูไอ้ความโกรธในจิตเมื่อกี้นี้ จิตมันจะจำความโกรธ จำว่าสภาวะโกรธเป็นอย่างนี้
คราวนี้ไปดูหน้าคนอื่น ก็หมั่นไส้ โกรธ หงุดหงิด ขัดเคือง มันก็คือไม่พอใจ คือโกรธเหมือนกันนั่นแหละ ก็คนขี้โกรธน่ะนะ เป็นโทสะเหมือนกัน เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนคนก็แล้ว..แต่สภาวะคือความโกรธเหมือนกัน พอมีสติรู้ จิตก็จะจำความโกรธอีก เห็นความโกรธบ่อย ๆ กลายเป็นจำความโกรธได้แม่น คราวนี้โกรธใครเกิดความโกรธขึ้นมา เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนคนไปตั้งเยอะแยะหลายคนแล้ว แต่ความโกรธก็แบบเดิม ไม่ได้ตั้งใจจะดูความโกรธเลย..คราวนี้พอจิตจำได้แล้ว..มันมีสติดูความโกรธขึ้นมาเอง เรียกว่าเกิดสติโดยอัตโนมัติ ตรงนี้จึงจะเป็น “สัมมาสติ” แท้ ๆ
สติอัตโนมัติ คือไม่ได้ตั้งใจให้เกิดสติ แต่สติเกิดขึ้นเอง ทำไมถึงเกิดขึ้นเอง? เพราะเห็นความโกรธมาบ่อยแล้ว
กิเลสตัวนี้เหมือนกัน ที่เราบอกว่าเราแพ้ จริง ๆ ถ้ามองในแง่ดีคือ มันเกิดบ่อย มันเกิดบ่อยเราก็รู้มันบ่อย ๆ รู้บ่อย..เราจะได้ถิรสัญญาได้เร็ว
แต่ต้องดูเฉย ๆ อย่าไปต่อต้านนะ อย่าไปทำลายมัน อย่าไปคิดแก้ไขมัน ดูเฉยๆ

เรียบเรียงจากการตอบคำถาม โดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
ณ บ้านจิตสบาย วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๑
ไฟล์ 610325 อุปกิเลส ๑๖


อ่านบน Facebook