#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๒ ?? #ถาม​ : คำ​ว่า​ “เดินปัญญา” คืออะไรคะ?​ และการเดินปัญญาที่ถูกต้อง​ ควรทำอย่างไรคะ?…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๒
??
#ถาม​ : คำ​ว่า​ “เดินปัญญา” คืออะไรคะ?​ และการเดินปัญญาที่ถูกต้อง​ ควรทำอย่างไรคะ?

#ตอบ​ : คำ​ว่า​ “เดิน​ปัญญา” ที่​ครูบาอาจาร​ย์สอน​ คือ​การ​ที่​ภาวนา​ เจริญ​สติ​ เจริญ​สมาธิ​มี​จิต​ตั้งมั่น​ จน​เห็น​กาย​เห็น​ใจ​แสดง​ลักษณะ​สาม​อย่าง​ (ได้แก่​ ความ​ไม่​เที่ยง, เป็น​ทุกข์​ หรือ​เป็น​อนัตตา)​ อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ เรียก​เป็น​ศัพท์​ว่า​ “เจริญ​วิปัสสนา”

ถ้า​นั่ง​สมาธิ​ แล้ว​มี​ความ​สุข​ เพลิน​ สบาย.. ชวน​ให้​ติดใจ​ อย่างนี้​ครูบาอาจารย์​ท่าน​เรียก​ว่า​ “เดิน​สมถะ” ยัง​ไม่​ใช่เดิน​ปัญญา​

ถ้า​จิต​ตั้งมั่น​แล้ว​ :-
– เห็น​กาย​หายใจ​-ใจ​เป็น​คน​ดู​ ความ​รู้สึก​จะ​ประมาณ​ว่า.. กาย​นี้​เป็น​สิ่ง​ที่​ใจ​ไป​รู้​เข้า​ เห็น​กาย​แยก​ออก​ไป​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​-จิต​เป็น​ผู้​รู้​ผู้​ดู​ หรือ..
– เห็น​เวทนา​แยก​ออก​ไป​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​-จิต​เป็น​ผู้​รู้​ผู้​ดู​ หรือ..
– เห็น​กิเลส​แยก​ออก​ไป​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​-จิต​เป็น​ผู้​รู้​ผู้​ดู​
ทั้งสามอย่าง​นี้​เรียก​ว่า​ “เดิน​ปัญญา” ได้​เหมือนกัน​ แต่​ยัง​ไม่​ถึง​ขั้น​วิปัสสนา​ เพราะ​การ​เห็น​อย่างนี้​ยัง​ไม่​จัด​ว่า​เห็น​ไตรลักษณ์​ แต่​ก็​นับ​ว่า​ดี​มาก​แล้ว​นะ​ เป็น​ปัญญา​ระดับ​แยก​ธาตุ​แยก​ขันธ์

ถ้า​แยก​ธาตุ​แยก​ขันธ์​แล้ว​ เห็น​ว่ากายก็​เป็น​กาย​-ไม่​ใช่​เรา​ เห็น​ว่า​เวทนาก็​เป็น​เวทนา-ไม่​ใช่​เรา​ เห็น​ว่า​กิเลสก็​เป็น​ความ​ปรุงแต่ง​ใน​จิต-ไม่​ใช่​เรา​ อย่าง​นี้​เรียก​ว่า​ “เดิน​ปัญญา” ระดับ​วิปัสสนา​ เพราะ​เห็น​ความ​เป็น​อนัตตาของ​ขันธ์ที่​เห็น

ถ้า​จิต​ตั้งมั่น​แล้ว​ เห็น​จิต​เกิด​ดับ​ เดี๋ยว​ก็​เป็น​ผู้​รู้​ เดี๋ยว​ก็​เป็น​ผู้​หลง​ อย่าง​นี้​เรียก​ว่า​ “เดิน​ปัญญา” ระดับ​วิปัสสนา​ เพราะ​เห็น​ความ​ไม่​เที่ยง​ของจิต

เทียบ​ใน​”โสฬส​ญาณ” หรือ​ ญาณ​ ๑๖​ สาม​ข้อ​แรก​ก็​นับ​ว่า​เป็น​การ​เดิน​ปัญญา​ แต่​ยัง​ไม่​ใช่​ “วิปัสสนา​ญาณ” สาม​ข้อ​นั้น​คือ
๑.​ นาม​รูปปริจเฉท​ญาณ​ ญาณ​จำแนก​แจก​ได้​ว่า​อะไร​เป็น​รูป​ อะไร​เป็น​นาม​
๒.​ ปัจจยปริคค​ห​ญาณ​ ญาณ​รู้​ปัจจัย​ของ​นาม​และ​รูป
๓.​ สัมม​สนญาณ​ รู้​ด้วย​การ​คิด​พิจารณา​เห็น​นาม​และ​รูป​โดย​ไตรลักษณ์

ถ้า​เห็น​รูป​นาม​แสดง​ความจริง​ เกิด​เป็น​ความ​รู้​เข้าใจ​สภาวะ​ตาม​ไตรลักษณ์​แง่​ใ​ด​แง่​หนึ่ง​ จึง​จัด​ว่า​เป็น​การ​เจริญ​วิปัสสนา​ ซึ่ง​ท่าน​ได้​รวบรวม​ไว้​ได้​ ๙​ อย่าง​ คือ
๑.​ อุทยัพ​พยญาณ​ ญาณ​เห็น​รูป​นาม​เกิด​ดับ
๒.​ ภังค​ญาณ​ ญาณ​เห็น​ว่า​สังขาร​ทั้งปวง​ล้วน​ต้อง​ดับ​สลาย
๓.​ ภยญาณ​ ญาณ​เห็น​สังขาร​เป็น​ภัย​น่า​กลัว
๔.​ อาทีนวญาณ​ ญาณ​เห็น​โทษ​ของ​สังขาร​ว่า​ไม่​ปลอดภัย
๕.​ นิพพิทาญาณ​ ญาณ​เห็น​ความ​จริง​แล้ว​หน่าย​ ไม่​เพลิดเพลิน​ติดใจ
๖.​ มุญจิตุกัมมยตาญาณ​ ญาณ​คำนึง​ปรารถนา​จะ​พ้น​ไป​จาก​สังขาร
๗.​ ปฏิสังขาญาณ​ ญาณ​ยก​เอา​สังขาร​มา​พิจารณา​ด้วย​ไตรลักษณ์​เพื่อ​หา​อุบาย​ปลด​เปลื้อง​ออก​ไป
๘.​ สังขารุเปกขาญาณ​ ญาณ​เป็นไป​โดย​ความ​เป็นกลาง​ต่อ​สังขาร
๙.​ อนุโลม​ญาณ​ ญาณ​เป็นไป​โดย​อนุโลม​แก่​การ​หยั่งรู้​อริยสัจ

ทั้ง​ ๑๒​ (๓+๙) ข้อ​นี้​ เรียก​ว่า​ “เดิน​ปัญญา”

๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook