#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๔ ?? #ถาม : ตามพระพุทธพจน์ พ่อแม่ เป็นอรหันต์ของบุตร หรือ เป็นพรหมของบุตร ครับ?…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๔
??
#ถาม : ตามพระพุทธพจน์ พ่อแม่ เป็นอรหันต์ของบุตร หรือ เป็นพรหมของบุตร ครับ?

#ตอบ : เท่าที่ทราบ ไม่เคยพบว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า “พ่อแม่เป็นอรหันต์ของบุตร” นะ
มีแต่ที่ตรัสว่า “เป็นพรหมของบุตร”
พระพุทธพจน์นั้นมีปรากฏใน พรหมสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ดังนี้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีพรหม
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีบุรพาจารย์
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีอาหุไนยบุคคล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุรพาจารย์นี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าอาหุไนยบุคคลนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร ฯ

มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร
ท่านเรียกว่าพรหม ว่าบุรพาจารย์ และว่าอาหุไนยบุคคล
เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงนมัสการ และสักการะ มารดาบิดา
ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง
เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดา นั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”

คำว่า “พรหม” ในที่นี้ เป็นชื่อของท่านผู้ประเสริฐ
พ่อแม่ย่อมประเสริฐด้วยคุณธรรม ๔ ประการ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
คือมีพรหมวิหาร ๔ นี้ กับบุตรของตนอยู่เสมอ
ในศาสนาพราหมณ์ เชื่อกันว่าทุกสิ่งในโลก รวมทั้งมนุษย์ทั้งหลายเกิดมาจากพระพรหม
แต่พระพุทธองค์แสดงให้เห็นความจริงว่า มนุษย์เกิดได้ก็เพราะมีพ่อแม่ พ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดที่แท้จริง
นอกจากจะให้กำเนิดแล้ว ยังเลี้ยงดูด้วยความปรารถนาดี, เมื่อร้องไห้หรือไม่สบายก็มาบำบัดทุกข์ให้, บันเทิงเริงใจด้วยเมื่อเห็นลูกก้าวหน้าไปในทางที่ดี, เมื่อลูกมีครอบครัวแยกเรือนออกไปพ่อแม่ก็วางใจว่าลูกเราสามารถเป็นอยู่ได้ตามลำพัง

ที่ว่าเป็น “บุรพาจารย์” ก็เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้ลูกเรียนรู้การใช้ชีวิตมาตั้งแต่เกิด สอนให้กิน สอนให้นอน สอนให้นั่ง สอนให้เดิน สอนให้พูด สอนว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ สอนสิ่งต่างๆ มากมาย ก่อนที่จะส่งไปให้อาจารย์เหล่าอื่นสอนศิลปวิทยาการต่างๆ
อาจารย์เหล่าอื่นทั้งหมดจึงชื่อว่า “ปัจฉาจารย์” คืออาจารย์ที่มาทีหลัง

ที่ว่าเป็น “อาหุไนยบุคคล” นั้น แปลว่า เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือมีคุณอันสมควรแก่ลูกที่จะนำของมาให้ด้วยความนอบน้อม เพื่อแสดงความนับถือเชิดชูบูชา จัดหาข้าวน้ำ ผ้านุ่งผ้าห่ม เตียงตั่ง เครื่องลูบไล้ผัดทาต่างๆ
บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อเห็นลูกปรนนิบัติพ่อแม่แล้วก็ย่อมสรรเสริญ เพราะการทำอย่างนั้นเป็นบุญใหญ่ เป็นเหตุให้ไปสถิตอยู่ในสวรรค์ ร่าเริงบันเทิงใจด้วยทิพยสมบัติ

เข้าใจว่า ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าเปรียบมารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตรว่าเป็น “อาหุไนยบุคคล” นี้ ก็ทำให้มีผู้ไปเทียบกับสังฆคุณ ที่มีคำว่า “อาหุเนยโย” ก็เลยโยงไปว่า พ่อแม่ก็น่าจะเป็นพระอรหันต์ของลูกด้วย
ตรงนี้ขออธิบายว่า
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร เป็นอาหุไนยบุคคลเฉพาะกับบุตรของตนเท่านั้น
พระอริยบุคคล เป็นอาหุไนยบุคคลกับสัตว์ทั้งหลาย
จะเห็นได้ว่า ไม่เหมือนกัน
ถ้ามารดาบิดาฝึกภาวนาจนกระทั่งบรรลุผลเป็นพระโสดาบัน มารดาบิดานั้นก็เป็นอาหุไนยบุคคลสำหรับบุตรของตนด้วย และเป็นอาหุไนยบุคคลสำหรับสัตว์ทั้งหลายด้วย แต่ก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์อยู่ดี
เพราะคำว่า “อรหันต์” คือผู้พ้นจากกิเลส ทรงความบริสุทธิ์ ละสังโยชน์ได้ทั้งหมด
สำหรับพระพุทธเจ้า จะใช้คำเต็มว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” (พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง)
สำหรับพระสาวก จะใช้คำเต็มว่า “อรหันตขีณาสพ” (พระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะแล้ว)

มีนิทานจีนอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า
ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “เอียฮู” ได้ข่าวว่าที่เมืองเสฉวนได้มีพระเถระรูปหนึ่ง ชื่อ “บ่อจี่ไต้ซือ” เป็นพระอรหันต์ผู้สำเร็จฌานอภิญญา มีวิชาอายุวัฒนะ ทำให้อายุยืน เอียฮูอยากได้วิชาวิเศษนั้นบ้าง อย่างน้อย หากได้พบพระอรหันต์แล้วก็จะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต
เอียฮูออกตามหาพระอรหันต์ โดยทิ้งแม่ที่แก่ชราหูตาฝ้าฟางให้อยู่กับบ้านตามลำพัง แม้ว่าแม่จะห้ามจะอ้อนวอนเท่าไรเขาก็ไม่ฟัง ยังยืนยันว่าจะไปให้ได้ ปล่อยให้ผู้เฒ่าหงอยเหงา นั่งนอนเศร้าเฝ้าบ้านอยู่เดียวดาย
เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ในระหว่างทาง เอียฮูพบพระเถระรูปหนึ่ง เห็นแล้วเลื่อมใส จึงเข้าไปกราบ แล้วถามว่า “ท่านมาจากไหน?”
พระเถระก็ตอบว่า “เรามาเมื่อน้ำจืด”
เอียฮูก็ถามต่อไปว่า “แล้วพระคุณเจ้าจะเดินทางต่อไปที่ไหนอีก?”
พระเถระตอบว่า “เราไปแล้วไม่มีใจ”
เอียฮูจึงถามต่อไปว่า “พระคุณเจ้าอายุพรรษาเท่าไรแล้ว?”
พระเถระตอบว่า “เราเรียนวิชาอายุวัฒนะได้สำเร็จแล้ว อายุของเราจึงประมาณไม่ได้ว่าเท่าไร”
เอียฮูดีใจว่าใช่พระอรหันต์ที่เราตามหาแน่ จึงถามหยั่งเชิงต่อไปว่า “พระคุณเจ้ามีอายุยืนเพื่อที่จะคอยใครหรือ?”
พระเถระจึงตอบว่า “เรามีอายุยืนเพื่อที่จะคอยคนที่ไม่มีความรู้สึกตัวว่าชั่ว”
เอียฮูรู้สึกว่านี่เป็นปริศนาธรรม จึงถามจี้เข้าเรื่องว่า “ท่านคือพระอรหันต์นามว่าบ่อจี่ไต้ซือ ใช่หรือไม่?”
พระเถระย้อนถามว่า “เธอถามถึงพระอรหันต์นามว่าบ่อจี่ไต้ซือไปทำไม?”
เมื่อเอียฮูบอกจุดประสงค์แล้ว พระเถระจึงบอกว่า “การที่จะพบพระอรหันต์นั่นไม่ยากหรอก เธอไม่ต้องเดินทางไปยังเสฉวนให้เหนื่อย เธอจงเดินกลับไปบ้านของเธอเถิด ถ้าพบผู้ใดที่ใส่เสื้อกลับใส่รองเท้ากลับ นั่นแหละคือพระอรหันต์ของเธอ เธอจง อย่าลืมคำที่เราบอกนะเอียฮู”
เอียฮูได้ยินพระเถระพูดเช่นนั้น ก็หันหน้ากลับเพื่อเก็บสัมภาระ รู้สึกอัศจรรย์ว่าในหมู่บ้านเราก็มีพระอรหันต์ด้วยหรือ จึงหันกลับไปเพื่อจะซักไซ้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ปรากฏว่าพระเถระหายตัวไปเสียแล้ว เอียฮูก็ยิ่งศรัทธาเชื่อมั่นในคำของพระเถระ รีบมุ่งหน้ากลับบ้าน
ระหว่างเดินทางก็ทบทวนคำของพระเถระอยู่เสมอ กลับถึงหมู่บ้านก็ดึกมากแล้ว ผู้คนหลับกันหมดแล้ว พอถึงหน้าบ้านก็เคาะประตูเรียกแม่ “แม่.. แม่จ๋า.. ลูกกลับมาแล้ว เปิดประตูที”
แม่ผู้เฝ้าคิดถึงแต่ลูก กินไม่ได้นอนไม่หลับมานาน ผ่ายผอมลงมาก เพิ่งจะเคลิ้มไป ได้ยินเสียงลูกมาเรียกที่หน้าบ้าน ทีแรกก็คิดว่าฝันไป ไม่เชื่อหูตัวเอง ฉุกคิดว่า “นี่เราไม่ได้หลับ นี่เสียงลูกมาเรียกจริงๆ”
แม่ที่รู้สึกสุดแสนดีใจ รีบกระวีกระวาดไปรับลูก ด้วยความที่รีบหยิบเสื้อมาสวม รีบหยิบรองเท้ามาใส่โดยไม่ทันดูให้ดี พอเปิดประตู เอียฮูเห็นแม่ใส่เสื้อกลับใส่รองเท้ากลับตรงตามที่พระเถระบอกไว้ว่า “ผู้ใดที่ใส่เสื้อกลับใส่รองเท้ากลับ นั่นแหละคือพระอรหันต์ของเธอ” เอียฮูเกิดความสำนึกผิด ก้มลงกราบที่เท้าผู้เป็นแม่ แล้วหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจในการกระทำของตน แล้วขอโทษที่ตนได้ทอดทิ้งไป ให้คำมั่นว่าต่อแต่นี้ไปตนจะประพฤติตนเป็นลูกที่ดีของแม่ จะไม่ทอดทิ้งแม่อีก เพราะแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก
เมื่อเอียฮูกตัญญูกับแม่ ปรนนิบัติแม่ดุจเป็นพระอรหันต์ ขยันขันแข็งทำงานเพื่อแม่ ข้าวในนาก็อุดมสมบูรณ์ ชีวิตเขาก็กลับเจริญรุ่งเรือง

นิทานเรื่องนี้ก็ทำให้เราคุ้นเคยกับคำว่า “พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก” มากยิ่งขึ้น ถ้าเข้าใจและรู้ที่มาที่ไปก็ไม่น่าจะมีปัญหา
แต่ถ้าอยากจะเป็นพระอรหันต์ แล้วหาทางลัดด้วยการไปมีลูก อย่างนี้ก็น่าจะผิดทาง!

๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑


อ่านบน Facebook