#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๗ ?? #ถาม : เคยได้ยินมาว่า “การฆ่าตัวตาย นั้นบาปกว่า การฆ่าคนอื่น” จริงไหมครับ?…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๔๗
??
#ถาม : เคยได้ยินมาว่า “การฆ่าตัวตาย นั้นบาปกว่า การฆ่าคนอื่น” จริงไหมครับ?

#ตอบ : ปัญหานี้จะชี้ลงไปทีเดียวไม่ได้ว่าแบบไหนบาปกว่า เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ลองไล่ไปทีละเรื่องนะ

การฆ่าคนอื่น
การฆ่าคนอื่นนั้น ไม่จำกัดอยู่แค่การลงมือฆ่าด้วยตนเอง แต่ย่อมรวมไปถึง
– ฆ่าด้วยการใช้ให้ผู้อื่นไปทำ ไม่ว่าจะใช้ต่อกันกี่ทอดก็ตาม
– ฆ่าด้วยการใช้อาวุธให้เคลื่อนที่ไป เช่น ขว้าง ปา เหวี่ยง ทิ้ง โยน เป็นต้น
– ฆ่าด้วยการเตรียมเครื่องประหารแบบอยู่กับที่ เช่น หลุมพราง ลอบวาง เป็นต้น
– ฆ่าด้วยการใช้วิชาอาคม ไสยศาสตร์
– ฆ่าด้วยการใช้ฤทธิ์
– ฆ่าด้วยวิธีอื่นๆ เช่น วางยาพิษให้กิน ให้ยาบำรุงเกินขนาด พูดให้เจ็บใจจนเส้นเลือดแตกในสมองตาย แกล้งให้ของที่น่าพอใจอย่างยิ่งด้วยหวังว่าเขาจะซูบผอมตายเพราะหามาเสพอีกไม่ได้ ฯลฯ วิธีมีหลากหลายนะ
การฆ่าคนอื่น จะมีโทษมาก หรือโทษน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับ..
๑. กิเลสและความเพียรของผู้ฆ่า
ผู้ฆ่าใช้ความพยายามมาก ก็มีโทษมาก ถ้าใช้ความพยายามน้อยก็มีโทษน้อย
ผู้ฆ่าโกรธแค้นมาก วางแผนมาก ใช้วิธีทรมานมาก ก็มีโทษมาก
ผู้ฆ่ามีความเห็นว่าการฆ่าคนไม่บาป ก็มีโทษมาก
๒. คุณของคนที่ถูกฆ่า
– ฆ่าคนมีบุญคุณ มีโทษมากกว่า ฆ่าคนที่ไม่มีบุญคุณ
ฆ่าคนที่เคยช่วยเหลือ อุปถัมภ์ เลี้ยงดู มีโทษมากกว่าฆ่าคนที่ไม่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะถ้าฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ก็เป็นบาปหนัก ที่เรียกว่า อนันตริยกรรม ก็ยิ่งมีโทษมาก เป็นบาปที่สุด มีโทษหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางมรรคผล นิพพาน
– ฆ่าคนมีศีลมีธรรม มีโทษมากกว่า ฆ่าคนที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม
ฆ่าพระอริยะ มีโทษมากกว่าฆ่าโจรผู้ร้าย โดยเฉพาะถ้าฆ่าพระอรหันต์ ก็เป็นบาปหนัก ที่เรียกว่า อนันตริยกรรม ก็ยิ่งมีโทษมาก เป็นบาปที่สุด มีโทษหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางมรรคผล นิพพาน
โดยสรุปคือ ฆ่าคนที่มีคุณต่อตน ต่อสังคม ต่อบ้านเมือง ต่อโลก ก็มีโทษมาก เช่นในกรณีของ พระราชาพระนามว่ากลาปุ พระเทวทัต และ พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นต้น
พระราชาพระนามว่ากลาปุ โกรธขันติวาทีดาบส สั่งให้เพชฌฆาตฉุดดาบสให้ล้มลง แล้วให้เฆี่ยน, ให้ตัดมือ, ตัดเท้า, ตัดหู, ตัดจมูกดาบสผู้ไม่โกรธเมื่อถูกด่า, ถูกเย้ยหยัน และถูกประหารอยู่นั้น เมื่อพระราชาเสด็จกลับไปเพียงพ้นสายตาดาบสเท่านั้น ก็ถูกธรณีสูบ ไปเกิดในอเวจีมหานรก
พระเทวทัตพยายามฆ่าพระพุทธเจ้า แม้ไม่มีโอกาสทำสำเร็จ เพราะพระองค์ไม่มีวิบากในเรื่องนี้ แต่เพียงทำให้พระโลหิตห้อ ก็เป็นการทำอนันตริยกรรมเช่นกัน และในท้ายที่สุดพระเทวทัตนั้นก็ถูกธรณีสูบ ไปเกิดในอเวจีมหานรก และเป็นผู้ไหวติงไม่ได้เพราะถูกตรึงด้วยหลาวเหล็ก ถูกไฟไหม้อยู่ เพราะเป็นผู้ผิดในพระพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว
พระเจ้าอชาตศัตรู ด้วยการให้จับพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดามาคุมขังไว้ ให้ตัดพระกระยาหาร และให้ช่างตัดผมไปกรีดพระบาท ทำให้พระเจ้าพิมพิสารสวรรคต ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่องสามัญผล เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทูลลากลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว พระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว หากท้าวเธอจักไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมไซร้ ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน จักเกิดขึ้นแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว”
ใน สัพพลหุสสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต มีพุทธพจน์ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งปาณาติบาต อย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นผู้มีอายุน้อยให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์ ฯ”
แต่ผู้ที่เคยฆ่าคน และยังไม่ถึงขั้นอนันตริยกรรม ถ้าภายหลังได้พบกัลยาณมิตร มาฟังธรรมปฏิบัติธรรม ก็มีโอกาสบรรลุมรรคผลได้ ซึ่งก็มีหลายท่าน เช่น พระองคุลิมาลเถระ, พระกุณฑลเกสีเถรี และนายตัมพทาฐิกะ เพชฌฆาตเคราแดง เป็นต้น
พระองคุลิมาลเถระ เดิมชื่ออหิงสกะ ถูกอาจารย์หลอกให้ฆ่าคนเกือบพันคน ภายหลังมาพบพระพุทธเจ้า ออกบวชไม่นานก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระกุณฑลเกสีเถรี เดิมเป็นลูกสาวเศรษฐี หลงรักโจร หาอุบายจนกระทั่งได้โจรเป็นสามี แต่โจรนั้นก็ไม่เลิกความเป็นโจร หาอุบายหลอกภรรยาไปฆ่าที่ภูเขาทิ้งโจร แต่นางก็ซ้อนกล เอาตัวรอดด้วยการผลักโจรตกเขาตาย แล้วหนีไปบวชเป็นปริพาชิกา ต่อมาได้พบกับท่านพระสารีบุตรเถระ ถามตอบปัญหากันจนเกิดศรัทธา ออกบวชเป็นภิกษุณี เพียง ๒-๓ วัน ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
นายตัมพทาฐิกะ เพชฌฆาตเคราแดง ทำหน้าที่ฆ่าโจรทุกวัน วันละคนบ้าง ๒ คนบ้าง บางวันมากถึง ๕๐๐ คน ทำอย่างนี้อยู่เป็นเวลา ๕๕ ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ก็ได้ทำบุญกับท่านพระสารีบุตรเถระ พระเถระก็ได้ให้อุบายคลายความกังวล และแสดงธรรมให้ฟัง จนบรรลุเป็นพระโสดาบัน

ในทางพระวินัย ถ้าพระภิกษุฆ่าคนตาย ก็ต้องอาบัติปาราชิก
ฆ่าอมนุษย์ (เช่น ยักษ์ เป็นต้น) ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ฆ่าสัตว์เดรัจฉาน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
พยายามฆ่าตัวตาย ต้องอาบัติทุกกฏ

การฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตายก็หลายสาเหตุ ผลก็ต่างไปตามเหตุ
จะลองแจกแจงสาเหตุที่ทำให้คนคิดฆ่าตัวตาย เท่าที่คิดได้ และปรุงคำให้คล้องจองกัน ดังนี้
เชื่อลัทธิ หนีทุกข์ ปลุกความสนใจ ให้ชีวิตเป็นทาน กรรมฐานเพื่อธรรม
และยังมีกรณีพิเศษอีกด้วย
๑. เชื่อลัทธิ
เป็นกลุ่มคนที่เชื่อเจ้าลัทธิที่บอกว่า ถ้าได้ตายตามที่เขานำ ก็จะได้ไปสู่โลกหน้าที่ดีแสนดี เรื่องที่ยกมาอ้างก็มีทั้งอ้างพระเจ้า ดาวหาง มนุษย์ต่างดาว ฯลฯ เจ้าลัทธิมักจะพูดโน้มน้าวจิตใจเก่ง และโดยมากจะเป็นการฆ่าตัวตายหมู่

คนที่เชื่อและทำตาม ก็ด้วยหวังภพหน้าที่ดี แต่ไม่ทำเหตุ มีแต่กิเลสคือโมหะและโลภะ คือมีมิจฉาทิฏฐิ และโลภอยากได้สวรรค์ หรือโลกหน้าที่ดีนั้น

ผล – เมื่อตายด้วยอกุศล ผลที่ได้ก็ย่อมไม่สมหวัง เพราะมีทุคติเป็นทางไป
และที่น่ากลัวคือ ชาติต่อๆไป ก็มีโอกาสที่จะเชื่อเจ้าลัทธิมิจฉาทิฏฐิได้อีก เว้นไว้แต่จะได้พบกัลยาณมิตรมาช่วยชี้แนะ

๒. หนีทุกข์
อาจสืบเนื่องมาจากทุกข์หลายแบบ เช่น อกหักรักสลาย หนี้สินรุงรัง ความผิดหวังในชีวิต มีปัญหาสุขภาพ เป็นต้น แล้วคิดว่า “ถ้าตายได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ที่ประสบอยู่”
คนที่ฆ่าตัวตายด้วยเหตุนี้ มักเป็นผู้มีใจเศร้าหมองอย่างหนักหน่วง กว่าจะตัดสินใจฆ่าตัวเองได้ จิตจะต้องมีอกุศลอย่างแรงกล้า ทั้งโมหะและโทสะ ทั้งมืดมัวและทุกข์โศก จิตใจก็อ่อนแอไร้กำลัง
ผล – เมื่อตายด้วยจิตเศร้าหมอง ก็ย่อมไปสู่ทุคติ
แต่ที่น่ากลัวคือ จิตจะต้องจมทุกข์ซ้ำซากยาวนานตลอดอายุขัยในภพชาตินั้น
และที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ จิตจะมีความเคยชินที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีนี้ เป็นนิสัยติดไปข้ามภพข้ามชาติ มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจอย่างนี้อีกในชาติต่อๆไปด้วย ผู้ที่กล่าวว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปมาก ก็น่าจะหมายเอาคนกลุ่มนี้ เพราะตายไปพร้อมกับมีมิจฉาทิฏฐิอย่างแรง
คนกลุ่มนี้ ถ้าได้กัลยาณมิตรมาช่วยชี้แนะให้เข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม อธิบายให้เข้าใจว่าจะต้องรับผลอะไร เห็นโทษภัยของการตายด้วยใจเศร้าหมอง หยุดความเข้าใจผิดที่คิดว่าการฆ่าตัวตายอย่างนี้เป็นเรื่องดีนั้นเสีย
ขณะใดที่มีความคิดจะปลิดชีพตนเองอีก แล้วตัดสินใจไม่ทำตามความคิดนั้น ก็จะทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นทุกๆขณะ และสามารถละเส้นทางอันน่ากลัวนั้นลงได้

๓. ปลุกความสนใจ
บางคนเชื่อว่าตนมีต้นทุนทางสังคมดีพอสมควร การตายของตนน่าจะทำให้สื่อมวลชนและคนทั้งหลายสนใจได้ ก็ฆ่าตัวตายด้วยหวังจะให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ตนต้องการ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะได้ผลดังหวังหรือไม่ อาจเป็นประเด็นถกเถียงกันขึ้นมาชั่วคราว เรื่องที่เรียกร้องดังกล่าวก็ถูกกลืนหายไปในกระแสข่าวอื่นตามกาลเวลา

คนที่ฆ่าตัวตายด้วยเหตุนี้ มักเป็นผู้ที่กำลังผิดหวังกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ สิ้นหวังกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ ท้อใจที่ไม่มีใครมาแก้ไข ก็เป็นเหตุให้จิตยังขุ่นมัว

ผล – คนที่คิดทำอย่างนี้ ถ้ายังมีความผิดหวัง หรือความท้อใจแฝงอยู่ คติที่ไปก็ไม่น่าจะดี

๔. ให้ชีวิตเป็นทาน
เมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ ก็ยอมสละชีวิตเลือดเนื้อกายใจให้ เพื่อให้ผู้นั้นพ้นทุกข์
ดังเช่นเรื่องเล่าถึงฤษีตนหนึ่ง เห็นเสือแม่ลูกอ่อนในหลุมลึก อดอาหาร ไม่มีกำลังจะพาตนและลูกน้อยขึ้นมาได้ แม่เสือกำลังตัดสินใจจะกินลูกตนเอง ฤษีจึงตัดสินใจกระโดดลงไปในหลุม สละชีวิตเป็นทาน เพื่อให้ชีวิตแก่เสือแม่ลูกนั้น

การให้ทานด้วยการสละชีวิต ถือเป็นการสร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่ ในระดับปรมัตถบารมี ผู้ที่ทำอย่างนี้ได้จึงมักจะเป็นพระโพธิสัตว์

ผล – คนที่จะทำอย่างนี้ได้ ใจต้องมีเมตตากรุณาและกล้าหาญมั่นคงอย่างมาก สภาพศพอาจดูไม่สวย หรืออาจจะไม่เหลือซากศพด้วยซ้ำ แต่ใจสวยใจหล่อ และสว่างไสวด้วยคุณธรรม มีปีติหล่อเลี้ยงใจให้ไปสู่สุคติ บางคนบุญกุศลพาให้จิตรวมก่อนตาย ก็ไปเป็นสหายในหมู่พรหม บารมีที่ได้สะสมก็เป็นเหตุให้ได้ตรัสรู้ในอนาคต

๕. กรรมฐานเพื่อธรรม
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ยอมเอาชีวิตเข้าแลก ดังที่ครูบาอาจารย์กล่าวว่า “ยอมสละชีพเพื่อธรรม”
ดังเช่น ภิกษุ ๗ รูป ในสมัยก่อนที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะจะเสื่อม เดินทางไปด้วยกัน ถึงภูเขาลูกหนึ่ง แล้วกล่าวแก่กันว่า “ผู้มีความอาลัยในชีวิตจงกลับไป ผู้ไม่มีความอาลัยจงขึ้นภูเขาลูกนี้”
จากนั้น ทั้งหมดก็พากันผูกบันไดขึ้นหน้าผาของภูเขานั้น แล้วผลักบันไดลง กระทำสมณธรรมจนกว่าจะบรรลุมรรคผล หรือไม่ก็จบชีวิตบนนั้น
คืนแรก พระเถระบรรลุอรหัตตผล รุ่งเช้าท่านก็ไปบิณฑบาตมาเผื่อพระภิกษุที่เหลือ แต่พระภิกษุเหล่านั้นกล่าวปฏิเสธอาหารนั้นด้วยคำว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านได้ทำอย่างนี้ด้วยอานุภาพของตน ถ้าแม้พวกกระผมจักยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้เช่นท่านไซร้ จึงจะไปบิณฑบาตมาฉันเองครับ”
วันที่สอง พระเถระรูปที่สองบรรลุอนาคามีผล ก็ไปบิณฑบาตมาเผื่อพระภิกษุที่เหลือ แต่ก็ถูกปฏิเสธแบบเดียวกัน
ในที่สุด ไม่นาน ภิกษุผู้บรรลุพระอรหัตก็ปรินิพพานไป พระอนาคามีก็ไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาส ส่วนพระ ๕ รูปนอกนี้ แม้เพียรพยายามอยู่ก็ไม่อาจทำคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้ ซูบผอม มรณภาพลงในที่นั้นเอง

ผล – พระ ๕ รูปนั้น แม้ยังไม่บรรลุมรรคผล แต่ก็เป็นผู้มีจิตเป็นกุศล เข้มแข็ง ไม่อาลัยต่อชีวิต ไปบังเกิดบนสวรรค์ ท่องเที่ยวไปในเทวโลกตลอดหนึ่งพุทธันดร

ในคราวพุทธกาลนี้ คนหนึ่งได้เป็นพระราชาพระนามว่า ปุกกุสาติ ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่โรงของช่างปั้นหม้อ ก็บรรลุอนาคามิผล ไปปรินิพพานบนพรหมโลก
คนหนึ่งเป็น พระกุมารกัสสปะ ออกบวชแล้วมาทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า จบการตอบปัญหานั้นแล้ว ก็บรรลุอรหัตตผล
คนหนึ่งเป็น พระทัพพมัลลบุตร ออกบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบ บรรลุอรหัตผลตอนปลงผมเสร็จ ในวันบวชนั่นเอง
คนหนึ่งเป็น สภิยปริพาชก ทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้าแล้วขอบวช ไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล
อีกคนหนึ่งเป็น พาหิยะ ทารุจีริยะ ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเพียง ๑ คาถา ก็บรรลุอรหัตตผล
สรุปว่า ผู้สละชีวิตเพื่อธรรม แม้ยังไม่บรรลุมรรคผล แต่ก็ทำให้มีอินทรีย์แก่กล้ามากขึ้น การปฏิบัติธรรมในชาติต่อไปก็ง่ายขึ้น

จะเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อต่างเหตุ ก็ต่างผลจริงๆ

ยังมีการฆ่าตัวตายที่พิเศษกว่าที่กล่าวมานี้อีก คือ

ต่อ

๖. กรณีพิเศษ
มีสิ่งที่ยากจะเกิด แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว คือ ฆ่าตน แต่บรรลุมรรคผล เช่น พระโคธิกเถระ และ พระฉันนะ เป็นต้น

พระโคธิกเถระ
ท่านเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง เมื่อท่านทำฌานที่ ๒ บ้าง ที่ ๓ บ้าง ให้เกิดขึ้นถึง ๖ ครั้ง แต่แล้วฌานนั้นก็เสื่อมไปเพราะโรคนั้น
ท่านก็เพียรทำฌานให้เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๗ แล้วคิดว่า “เราเสื่อมจากฌานถึง ๖ ครั้งแล้ว ก็คติที่ไปของผู้มีฌานเสื่อมนั้นไม่แน่นอน คราวนี้ล่ะ เราจะนำศัสตรามา…” ดังนี้แล้ว จึงถือมีดที่ใช้สำหรับปลงผม นอนบนเตียง เตรียมจะเชือดคอตนเอง
พญามารเห็นว่าท่านเป็นผู้หมดความอาลัยในชีวิต (ไม่ใช่หมดอาลัยตายอยาก) และเริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว ย่อมบรรลุพระอรหัตได้แน่ จึงรีบไปทูลให้พระศาสดาทรงทราบ เพื่อทรงห้าม
แต่กลับได้รับคำตอบจากพระองค์ว่า “โคธิกะนั้นถอนตัณหาขึ้นพร้อมทั้งรากได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว”
เพราะในขณะที่พญามารมาหาพระพุทธเจ้านั้น พระโคธิกะได้ใช้มีดตัดก้านคอตนเองเรียบร้อยแล้ว
พญามารไม่เชื่อ พยายามแสวงหาวิญญาณของพระโคธิกะ หาเท่าไรก็ไม่พบ ที่ไม่พบก็เพราะท่านบรรลุอรหัตตผลแล้ว และปรินิพพานแล้วนั่นเอง

พระฉันนะ (ไม่ใช่เป็นพระเถระที่ออกไปด้วยกันกับเจ้าชายสิตธัตถะตอนออกอภิเนษกรมณ์)
ท่านอาพาธ เป็นไข้หนัก ทนทุกขเวทนาเหลือประมาณนั้นไม่ไหว จึงได้บอกกับพระสารีบุตรว่า “ผมจะหาศาตรามาฆ่าตัว อย่างมิให้ถูกตำหนิได้”
พระสารีบุตรห้าม แล้วสนทนาธรรมกัน
เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปไม่นาน พระฉันนะก็ได้หาศาตรามาฆ่าตัวเสียทันที
พระสารีบุตรกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรับรองว่า พระฉันนะตายอย่างไม่ควรตำหนิได้จริงว่า “ดูกรสารีบุตร บุคคลใดแล ทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเราเรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุหาศาตรามาฆ่าตัวอย่างไม่ควรถูกตำหนิ”
ท่านอธิบายว่า ท่านเอาศัสตราสำหรับคร่าชีวิตมาตัดก้านคอแล้ว ก็มีความกลัวตายปรากฏขึ้น ท่านรู้ตัวว่ายังเป็นปุถุชน เกิดสลดใจ ตั้งวิปัสสนาพิจารณาสังขาร สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นสมสีสี แล้วก็ปรินิพพาน

นี่เป็นตัวอย่างของกรณีพิเศษจริงๆ นำมากล่าวไว้เพื่อให้เนื้อหาครบเท่านั้น แต่อาตมาไม่แนะนำให้ทำตามอย่างนะ เพราะผู้ที่จะทำได้อย่างนี้ต้องมีพื้นฐานการปฏิบัติมาอย่างดี ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน พวกเราในยุคนี้ถ้าทำ ก็น่าจะไม่ได้ผลอย่างนี้ เสี่ยงที่จะไปอบายเสียมากกว่า

………………………
มีการฆ่าตัวตายอีกแบบหนึ่งที่แนะนำให้ทำ !
คือ ฆ่าตัวตนให้ตาย
ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความเข้าใจความจริง ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ละสักกายทิฏฐิคือความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนเสียได้

เริ่มจากฆ่ากิเลสทีละขณะด้วยสติ
โกรธแล้วรู้สึกตัว ความโกรธก็ถูกฆ่าดับไปขณะหนึ่ง เกิดเป็นตัวรู้ขึ้นมาแทน
หลงแล้วรู้สึกตัว ความหลงก็ถูกฆ่าดับไปขณะหนึ่ง เกิดเป็นตัวรู้ขึ้นมาแทน
ฟุ้งซ่านแล้วรู้สึกตัว ความฟุ้งซ่านก็ถูกฆ่าดับไปขณะหนึ่ง เกิดเป็นตัวรู้ขึ้นมาแทน

ตัวรู้เกิดขึ้นมาทีไร จะรู้สึกได้ว่า..กิเลสถูกรู้ มีตัวผู้รู้อยู่ต่างหาก
และไม่ใช่ “เรา” ทั้งที่กิเลส และที่ตัวผู้รู้
และจิตก็จะเรียนรู้ทุกทีว่า กิเลสก็เกิดดับ ตัวผู้รู้ก็เกิดดับ
เห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมบ้าง เห็นความไม่ใช่ตัวตนขอองสภาพธรรมบ้าง จนกระทั่งบรรลุมรรคผล
ก็เป็นอันฆ่ามิจฉาทิฏฐิดับไปได้

พึงเข้าใจไว้ด้วยว่า คำว่าฆ่าตัวตน หรือฆ่ากิเลสในที่นี้ ก็กล่าวโดยอาศัยแนวจากพุทธพจน์ในธรรมบท เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ ซึ่งมีเรื่องราวดังนี้

วันหนึ่ง ภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ที่วัดเชตวัน
ขณะนั้น พระลกุณฏกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลนัก
พระพุทธเจ้าตรัสขึ้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือไม่? ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้ว เป็นผู้ไม่มีทุกข์ เดินไปอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นงงว่าพระองค์ตรัสอะไรอย่างนั้น มองดูหน้ากันและกัน แล้วทูลถามว่า “พระองค์ตรัสอะไรหนอ? พวกกระหม่อมฉันไม่เข้าใจ พระเจ้าข้า”

พระองค์จึงตรัสเป็นพระคาถาย้ำไปอีกว่า
บุคคลฆ่ามารดาแล้ว ฆ่าบิดาแล้ว
ฆ่าพระราชาทั้งสองพระองค์แล้ว
ทำลายทางเสือผ่านที่ ๕ ได้แล้ว
ก็ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์ อยู่อย่างไร้ทุกข์

อธิบายว่า
ตัณหา ชื่อว่า มารดา เพราะทำให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในภพทั้ง ๓
อัสมิมานะ-ชื่อว่า บิดา เพราะการถือว่า นี่ฉัน นี่กู กูเป็นนั่น เหมือนเป็นบิดาให้เกิดความรู้สึกว่า “เราเป็นเสนาบดีของพระราชาชื่อโน้น หรือ ฉันเป็นซีอีโอของบริษัทชื่อโน้น” เป็นต้น
สัสสตทิฏฐิ(ความเห็นว่าเที่ยง) และอุจเฉททิฏฐิ(ความเห็นว่าขาดสูญ) ชื่อว่า พระราชาผู้กษัตริย์สองพระองค์ เพราะมิจฉาทิฏฐิทุกชนิด ย่อมอิงอาศัยทิฏฐิทั้งสองนี้ เหมือนชาวโลกอาศัยพระราชา
วิจิกิจฉา(ความสงสัย)- ชื่อว่า ทางเสือผ่านที่ ๕ เพราะทางที่เสือผ่านย่อมเป็นทางมีภัย ไปลำบาก เปรียบได้ดังนิวรณ์ที่เป็นธรรมกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม
ในที่นี้ระบุว่าเป็นนิวรณ์ข้อ ๕ คือความสงสัย
(ตรงนี้อาตมาเข้าใจว่า เป็นเพราะภิกษุเหล่านั้นกำลังมีความสงสัยเกิดขึ้นในใจด้วย และผู้ที่ฆ่าตัณหาและอัสสมิมานะแล้ว ก็ย่อมหมดสงสัยในพระรัตนตรัยและในปฏิปทาที่ผ่านมาด้วย)
พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่สิ้นอาสวะแล้ว

เราฟังแล้วอาจจะตกใจ และรู้สึกว่ายากจัง
แต่พระภิกษุเหล่านั้น ฟังแล้วบรรลุอรหัตตผลเลยทีเดียว
พูดอีกสำนวนก็ได้ว่า
“มรรคมีองค์ ๘ ฆ่าความเป็นปุถุชนให้ตายไป
ยังผลให้ความเป็นพุทธะเกิดขึ้นมาแทน”

๘ มกราคม ๒๕๖๒


อ่านบน Facebook