#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๖๒ ?? ถาม​ : ในการกล่าวถวายสังฆทาน ถ้าในพิธีมี ผ้าไตรจีวร ด้วย พร้อมบริวารอื่นๆ…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๖๒
??
ถาม​ : ในการกล่าวถวายสังฆทาน
ถ้าในพิธีมี ผ้าไตรจีวร ด้วย พร้อมบริวารอื่นๆ
ผมต้องใช้คำว่า
“อิมานิ มะยัง ภันเต ติจีวรานิ สังฆทานนานิ สัปปะริวารานิ…” หรือว่า
“อิมานิ มะยัง ภันเต บังสุกุละจีวรานิ สังฆทานนานิ สัปปะริวารานิ…”
ครับ?

ตอบ​ : ถ้า​จะ​ถวาย​ไตร​จีวร​แด่​สงฆ์​ ก็​คือ​ถวาย​เป็น​สังฆทาน​ มี​บริวาร​อื่น​ๆ​ด้วย​ ก็ใช้​คำ​ถวาย​ดังนี้

– คำ​ถวาย​ผ้า​ไตรจีวร

“อิมานิ มะยัง ภันเต ติจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ติจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าไตรจีวร​ กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าไตรจีวร​ กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์​และความสุข​แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย​ สิ้นกาลนานเทอญ”

ไม่​ใช้​คำ​ว่า​ “สังฆะทานานิ” นะ​
คำ​ว่า​ “ภิกขุ​สังฆัสสะ” ก็​เป็น​การ​ระบุ​ว่า​ถวาย​แด่​สงฆ์​ ซึ่ง​ก็​เป็น​สังฆทาน​อยู่​แล้ว

ถ้า​จะ​ถวาย​เป็น​ “​ผ้า​บังสุกุล” ​ ที่​คน​ไทย​เรียก​กัน​ว่า​ “ผ้าป่า” ก็​ใช้​คำ​ถวาย​ดังนี้

– คำ​ถวาย​ผ้า​บังสุกุล

“อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวร​ กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ”

ข้อ​สังเกต​ คำ​ว่า​ ผ้า​บังสุกุล​ ใน​ภาษา​ไทย​ มี​ศัพท์​บาลี​ว่า​ ปํสุกูลจีวร​ อ่าน​ว่า​ ปัง-สุ-กู-ละ-จี-วะ-ระ​ ศัพท์​บาลีใช้​ ป​ ปลา
ปํสุ​ แปล​ว่า​ ฝุ่น
ปํสุกูล​ แปล​ว่า​ กอง​ฝุ่น, คลุก​ฝุ่น
ปํสุกูลจีวร​ แปล​ว่า​ ผ้า​คลุก​ฝุ่น​ เก็บ​ความหมาย​ก็​คือ​ ผ้า​ที่​เขา​ทิ้ง​แล้ว​ ไม่​มี​เจ้าของ

ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ ​การ​ถวาย​ไตร​จีวร​ กับ​ ถวาย​บังสุกุล​จีวร​ ก็​คือ

การ​ถวาย​ไตร​จีวร​ เรียก​อีก​อย่างว่า​เป็น​การ​ถวาย “คหบดี​จีวร” (อ่านว่า คะ-หะ-บอ-ดี-จี-วอน) แปลตามศัพท์ว่า ผ้าของผู้เป็นเจ้าบ้าน คือผ้าที่ได้จากผู้ครองเรือน
ซึ่ง​หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ขอพุทธานุญาตให้พระภิกษุสามารถรับจีวรที่มีผู้ศรัทธาถวายได้ และพระพุทธเจ้า​ก็ทรงอนุญาต ผู้​ถวาย​เมื่อ​กล่าว​คำ​ถวาย​แล้ว​ก็สามารถ​นำ​ผ้า​ไป​ถวาย​พระ​ภิกษุ​กับ​มือ​ได้​

แต่​การ​ถวาย​บังสุกุล​จีวร​ ผู้​ถวาย​เพียง​แต่​กล่าว​คำ​ถวาย​ แล้ว​พระ​ภิกษุ​จะ​ไป​ชัก​ผ้า​บังสุกุล​เอง​ แบบ​ที่​เรา​เห็น​เวลา​ไป​ถวาย​ผ้าป่า​ทั่วไป

ครั้ง​หนึ่ง​ ตอน​ที่​อาตมา​บวช​ได้​ประมาณ​ ๔-๕​ พรรษา เคย​มี​โยม​นำ​ผ้า​จีวรมา​พาด​ไว้​ที่​ต้น​ทองหลางหน้า​กุฏิ​ที่​อาตมา​พัก แล้ว​พูด​ด้วย​เสียง​อัน​ดัง​ว่า​ “ผ้า​จีวร​นี้​ไม่มี​ผู้​หวงแหน​ พระ​ภิกษุ​รูป​ใด​ปรารถนา​จะ​นำ​ไป​ใช้​ เพื่อ​ประโยชน์​สุข​แก่​โยม​ ก็​กรุณา​พิจารณา​นำ​ไป​ใช้​ได้​ด้วย​เทอญ”
แล้ว​ไปแอบ​อยู่​ตรง​ไหน​ก็​ไม่ทราบ​ แต่​ก็​ถือ​ว่า​เป็น​การ​กล่าว​คำ​ถวาย​แล้ว

อาตมา​ได้​ยิน​อย่างนั้น​ ก็​ห่ม​จีวร​ แล้วเดิน​ลง​ไป​ดู​ หา​อยู่​ว่า​เขา​พาด​ผ้า​ไว้​ตรง​ไหน​ พอ​เห็น​แล้ว​ก็ชัก​บังสุกุล​
อย่างนี้​ก็​เรียก​ว่า​ “ผ้าป่า” เหมือนกัน​ แต่​เป็นแบบ​ดั้งเดิม

ผ้าป่า​แบบ​นี้​ พระ​ภิกษุมักจะ​ชัก​ผ้าด้วยคำว่า
“อิทัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ”
แปล​ว่า​
ผ้าบังสุกุลจีวรอันไม่มีเจ้าของ​หวงแหน​นี้ ย่อม​ถึงแก่ข้าพเจ้า​ ใน​กาล​บัดนี้​เทอญ

ถ้า​เป็น​การ​ทอด​ผ้า​บังสุกุล​ใน​งานศพ​ ก็​ไม่ต้อง​กล่าว​คำ​ถวาย​ เพียง​แต่​เจ้าภาพ​วาง​ผ้า​ไว้​ (คำ​ว่า​ “ทอด” ​ใน​ที่​นี้​ แปล​ว่า​” วาง​”)​ ทอดไว้หน้าศพ​บ้าง​ ทอดบนสายโยงหรือภูษาโยงที่ต่อจากศพ​บ้าง สำหรับให้ภิกษุมาปลงกรรมฐานและชักไป​ เมื่อนิมนต์​พระ​ภิกษุ​ชัก​บังสุกุล​ พอท่าน​มา​ถึง​ที่​ที่​ผ้า​วาง​อยู่ ท่านก็​ชัก​ผ้า​ได้​เลย​

คำ​ที่​พระ​ภิกษุ​ใช้​ชัก​ผ้า​บังสุกุล​ใน​กรณี​นี้ ก็​มัก​จะ​ใช้​คำ​ว่า​
“อะนิจจา​ วะตะ สังขารา
อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิตฺวา นิรุชฌันติ
เตสัง วูปะสะโม สุโข”

แปล​ว่า​
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ย่อมเกิดขึ้นและดับไป
ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นได้​ เป็นสุข

ขณะ​ที่​ชัก​ผ้า​ ก็เป็น​การ​ที่​พระ​ภิกษุอาศัย​ศพ​นั้น​เจริญกรรมฐาน​

๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒


อ่านบน Facebook