#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๗๐ ?? #ถาม : ใส่บาตร ไม่ถอดรองเท้า จะบาปมั้ยคะ? #ตอบ : ตามธรรมเนียมของไทย เมื่อจะใส่บาตร…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๗๐
??
#ถาม : ใส่บาตร ไม่ถอดรองเท้า จะบาปมั้ยคะ?

#ตอบ : ตามธรรมเนียมของไทย เมื่อจะใส่บาตร มักจะนิยมถอดรองเท้าก่อน เพื่อแสดง “ความเคารพ”

ก็ต้องย้อนไปในสมัยพุทธกาล
สมัยนั้น ถือกันว่า การใส่รองเท้าหรือถอดรองเท้า เป็นวิธีแสดงออกถึงความเคารพและไม่เคารพวิธีหนึ่ง
เช่น ไปในสถานที่ต่าง ๆ ที่ควรให้ความเคารพ ไม่ว่าจะเป็น ในเขตเจดีย์ ในเขตโบสถ์ ก็จะถอดรองเท้าก่อนจะเข้าไปในเขตนั้น
ถ้าใส่รองเท้าเข้าไป ก็เป็นการไม่เคารพสถานที่นั้น
ถ้าเป็นพระภิกษุ ก็จะมีโทษ เป็นอาบัติทุกกฏ

เวลาบิณฑบาต พระภิกษุท่านก็มีปกติไม่ใส่รองเท้า เมื่อชาวบ้านจะใส่บาตร ก็จะถอดรองเท้าก่อน จึงจะนำอาหารมาใส่บาตร ซึ่งก็เป็นวิธีแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง คือ ไม่อยู่ในที่ที่สูงกว่าพระ (ผู้ใส่รองเท้า ถือว่าอยู่สูงกว่าผู้ที่ไม่มีรองเท้า) เรียกว่า “ใส่บาตรด้วยความเคารพ”

สำหรับผู้ที่มีศรัทธา การใส่บาตร(รวมถึงการถวายของพระ) จะไม่เหมือนการให้แก่คนทั่วไป
การให้ทานด้วยการใส่บาตร(รวมถึงการถวายของพระ) ผู้ให้รู้ว่าผู้รับเป็นนักบวช เป็นผู้ทรงศีล เป็นเนื้อนาบุญ จะรู้สึกว่าเป็นโอกาสดี เป็นบุญเหลือเกินที่ท่านมาโปรด และรู้สึกอยู่ว่า ผู้รับ(คือพระ)อยู่ในฐานะที่สูงกว่า

เคยเห็นที่ต่างจังหวัด บางแห่งเขาปูเสื่อหรือวางแผ่นไม้ไว้ ให้พระยืนรับบิณฑบาตบนเสื่อหรือแผ่นไม้นั้น แล้วโยมใส่บาตรด้วยอาการคุกเข่าบนพื้นดิน
โยมขี่จักรยานมา พอจะผ่านพระ ก็ลงมาเดินจูงจักรยาน พ้นพระไปแล้วจึงขึ้นขี่ไปตามปกติ
แม้แต่ขี่จักรยานยนต์ ก็จะดับเครื่อง แล้วลงมาจูงเหมือนกัน
นี่ก็เป็นตัวอย่างการแสดงความเคารพ

ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่นอยู่ในที่เฉอะแฉะ ไม่ถอดรองเท้า ก็ไม่ได้ถือว่ามีความผิด และไม่เป็นบาป แต่ควรก็ใส่บาตรด้วยอาการนอบน้อม
ในปัจจุบันมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ทำให้ญาติโยมไม่สะดวกที่จะถอดรองเท้า (เช่น รองเท้าทหาร) กรณีอย่างนี้จะไม่ถอดรองเท้าก็ได้ ขอให้ใส่บาตรด้วยกิริยาที่งดงาม แสดงว่ามีความเคารพก็แล้วกัน

(กรณีตำรวจ,ทหาร ในเครื่องแบบ ก็ให้ถอดหมวก
หมวก ก็เป็นของใช้อีกอย่างที่ควรถอด เพื่อแสดงความเคารพ)

ที่สำคัญคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้มีบัญญัติบังคับอะไรกับผู้ถวาย
แต่ญาติโยมก็ต้องการแสดงความเคารพ จึงเป็นธรรมเนียมที่จะแสดงอาการกิริยาอันงดงามต่าง ๆ ออกมา

บางคนไม่ทราบธรรมเนียมเหล่านี้ เห็นพระภิกษุเดินบิณฑบาต เกิดมีจิตศรัทธา หรือมีใจเอื้อเฟื้อ คิดจะนำอาหารมาใส่บาตร แต่ไม่ได้ถอดรองเท้า ถ้ามีคนมาทักท้วง (หรือตำหนิ หรือต่อว่า) คนนั้นก็อาจจะเกิดโทสะ หมดศรัทธา อาจจะคิดว่า “เรื่องมากจัง” บรรยากาศที่กำลังเป็นกุศลดูดี ก็บังเกิดรังสีอำมหิตไปเสีย
ยิ่งถ้าอยู่ต่างประเทศ แล้วพระไปบิณฑบาต หากต้องบังคับให้เขาถอดรองเท้าก่อน ก็อาจจะไม่มีชาวต่างชาติใส่บาตรก็ได้

การแสดงออกซึ่งความเคารพของแต่ละท้องถิ่นก็ไม่เหมือนกัน
ถ้าเป็นต่างประเทศ เขาก็มีวิธีของเขา ไม่จำเป็นต้องทำตามธรรมเนียมไทยเป๊ะ ๆ
เว้นแต่ว่าเขามีศรัทธา ต้องการเข้ามาศึกษาและทำตามแบบเรา
ก็ค่อย ๆ สอนกันไป

ขอยกตัวอย่างสิกขาบท ที่สื่อถึงการแสดงความเคารพบางข้อ เช่น

ครั้งหนึ่ง พระฉัพพัคคีย์รับบิณฑบาต โดยไม่เอาใจใส่ ทำ
อาการดุจทิ้งเสีย
เรื่องถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
“ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ”
ภิกษุใดไม่เอื้อเฟื้อ รับบิณฑบาตโดยไม่เคารพ ทำเหมือนจะทิ้ง
ต้องอาบัติทุกกฏ

นี่เป็นบัญญัติสำหรับฝ่ายภิกษุ ผู้รับบิณฑบาต ถ้าบิณฑบาตโดยไม่เคารพ ก็มีโทษ

แต่สำหรับผู้ใส่บาตร ถ้าถอดรองเท้าได้ก็ควรถอดนะ
ถ้ามีเหตุจำเป็น จะไม่ถอดก็ไม่เป็นไรนะ

พระอาจาร์ยกฤช นิมฺมโล

๕ สิงหาคม ๒๕๖๒


อ่านบน Facebook