#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๗๙ ถาม : โยมศรัทธาในพระพุทธศาสนามากค่ะ ชอบเดินสายไปกราบพระตามวัดต่างๆ แต่ภาวนาไม่ก้าวหน้า…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๗๙

ถาม : โยมศรัทธาในพระพุทธศาสนามากค่ะ ชอบเดินสายไปกราบพระตามวัดต่างๆ แต่ภาวนาไม่ก้าวหน้า ทำอานาปานสติไม่สงบสักที มีอาจารย์มาแนะให้ทำวิปัสสนาก่อน โดยการฝึกมีสติรู้สึกตัว ลองทำแล้วก็เบื่อค่ะ จิตมันคิดตลอดว่า “แล้วไง? ก็รู้สึกแล้ว แล้วไงต่อ?” ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

ตอบ : อืมมม.. ตอนที่คิดว่า “แล้วไง? ก็รู้สึกแล้ว แล้วไงต่อ?” ขณะนั้นเราเผลอคิดไปแล้ว และมีโทสะหน่อยๆ ด้วย ไม่ได้รู้สึกตัวแล้ว!
การฝึกสติรู้สึกตัวเพื่อเป็นบาทฐานไปเจริญวิปัสสนานั้น ต้องเป็นการรู้สึกลงมาที่กายที่ใจเท่านั้น
ถ้าลองทำแล้วเบื่อ แล้วรู้ว่าจิตเมื่อกี้มันเบื่อ ก็เรียกว่ารู้สึกตัวแล้ว มีสติรู้จิตแล้ว!
จะรู้ว่าจิตมีโทสะก็ได้ เพราะเบื่อกับโทสะก็อยู่กลุ่มเดียวกัน
ถ้าคิดว่า “แล้วไง? ก็รู้สึกแล้ว แล้วไงต่อ?” แล้วรู้ว่าจิตเมื่อกี้มันเผลอคิด ก็เรียกว่ารู้สึกตัวแล้ว มีสติรู้จิตแล้ว!
เราส่วนมากเคยชินที่จะไปรู้เรื่องราวนะ ช่วงที่คิดว่า “แล้วไง? ก็รู้สึกแล้ว แล้วไงต่อ?” มันก็หลงไปหาคำตอบ จมไปกับโทสะ ลืมดูกายใจ กายกำลังนั่งอยู่ก็ไม่รู้สึกตัว จิตกำลังเผลอคิดก็ไม่รู้สึกตัว กำลังมีโทสะไม่พอใจสภาวะที่เป็นก็ไม่รู้สึกตัว
ตอนที่รู้เรื่องราว ตอนนั้นจิตรู้อารมณ์บัญญัติ
ตอนที่รู้สึกตัว ตอนนั้นจิตรู้อารมณ์รูปนาม
ถ้าจับจุดนี้ได้ ก็น่าจะง่ายขึ้น

มองอีกมุมหนึ่ง ตอนที่คิดว่า “แล้วไง? ก็รู้สึกแล้ว แล้วไงต่อ?” ตอนนั้นกำลังมีนิวรณ์ด้วย คือกำลังอยากรู้คำตอบ อยากรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วมันจะได้ผลอย่างไร? เกิดความลังเลสงสัย
ถ้าแค่รู้ว่า นี่มันเป็นนิวรณ์ นิวรณ์ก็ดับไป

อีกมุมหนึ่ง ตอนที่คิดว่า “แล้วไง? ก็รู้สึกแล้ว แล้วไงต่อ?” ตอนนั้นกำลังมีตัณหาด้วย ถ้ารู้สึกว่าอยากพ้นไปจากสภาวะนี้ ก็เป็นวิภวตัณหา ถ้าไม่รู้ทันมัน มันก็ผลักดันจิตให้ควานหาทางที่จะพ้นอยู่นั่นเอง!
ตัณหามันเหมือนเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว แต่จะคอยออกคำสั่งอยู่เรื่อย สั่งให้หาสุข สั่งให้หนีทุกข์ สั่งทั้งวันทั้งคืน เราก็เหนื่อยไปสิ ทำตามสำเร็จไป..มีสุขแป๊บเดียว มันสั่งใหม่อีกแล้ว เราก็ต้องดิ้นรนแสวงหาไปตลอดไม่ได้พักผ่อน เหมือนเป็นทาสตัณหา
เราก็แค่รู้ทันว่า นี่มันคือตัณหา มันแอบแฝงมาคอยบงการพฤติกรรมของเราอยู่ ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ พอรู้ทัน มันก็ดับไป แต่ดับชั่วคราวเป็นขณะๆ นะ ซึ่งจิตก็เก็บเป็นข้อมูลว่า สิ่งนี้เกิดได้ดับได้ ไม่เที่ยง

วิธีเดียวที่จะเป็นอิสระจากตัณหาไปได้จริงๆ ก็คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนะ
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานคือการหันมาเผชิญหน้ากับความจริง รู้กายตามที่เป็นจริง รู้ใจตามที่เป็นจริง
กรณีนี้..
มันเผลอคิด..ก็รู้ตามจริงว่ามันเผลอ
มันเบื่อ..ก็รู้ตามจริงว่ามันเบื่อ
มันมีนิวรณ์..ก็รู้ตามจริงว่ามันมีนิวรณ์
มันมีตัณหา..ก็รู้ตามจริงว่ามันมีตัณหา
ความจริงมันอาจจะไม่ดี แต่รู้ทีไร มันก็ดีทุกที โดยเฉพาะถ้าเป็นกิเลส รู้ทีไรกิเลสจะดับทุกที
เพราะกิเลสเป็นสภาวธรรมฝ่ายอกุศล การรู้ตามจริงก็คือมีสติ เป็นสภาวธรรมฝ่ายกุศล เมื่อกุศลเกิด อกุศลก็ดับ เป็นธรรมชาติตามปกติของมัน
รู้บ่อยๆ คือเจริญวิปัสสนาบ่อยๆ จิตก็จะเก็บข้อมูลที่เป็นจริงได้มาก จนมากพอที่จะสรุปเป็นปัญญาขึ้นมาว่า “กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา” ก็เรียกผู้ที่รู้ความจริงนี้ว่าพระโสดาบัน
งานยังไม่จบ ทุกข์ของพระโสดาบันก็ยังมีอยู่ ท่านก็ต้องเจริญสติ เจริญวิปัสสนาเพื่อสะสมข้อมูลที่เป็นจริงต่อไป จนกว่าจะละวางความยึดถือกายและใจลงได้สิ้นเชิง

งานของเราตอนนี้คือ เจริญวิปัสสนา
ถ้าจะทำสมถะบ้าง ก็เพื่อเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา
เช่น ทำอานาปานสติ เพื่อเรียนรู้จิต
เห็นกายหายใจ แล้วเผลอคิด ก็รู้ว่าจิตเผลอ
เห็นกายหายใจ แล้วสงสัย ก็รู้ว่าจิตมันมีความสงสัย
ให้จิตแสดงไตรลักษณ์ให้ดู เห็นไตรลักษณ์แง่ใดแง่หนึ่งก็ได้ชื่อว่าเจริญวิปัสสนา
สิ่งที่จะแสดงไตรลักษณ์ได้ มีเพียงรูปนาม/กายใจนี้เท่านั้น ฉะนั้น อย่าเพลินไปกับสมมุติบัญญัตินานนัก

อีกอย่างหนึ่ง รูปนาม/กายใจที่จะรู้ ก็ต้องเป็นรูปนาม/กายใจในปัจจุบันด้วย
ถ้าจะรู้กาย ต้องเป็นกายที่เป็นปัจจุบันแท้ๆ
ถ้าจะรู้ใจ ต้องเป็นใจที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ เรียกว่าเป็นปัจจุบันสันตติ
เช่น ฝึกอานาปานสติ แล้วคิดว่า “แล้วไง? ก็รู้สึกแล้ว แล้วไงต่อ?”
ตอนนี้ไม่ได้เห็นกายหายใจแล้ว ปัจจุบันกำลังเผลอคิด จิตที่จะมารู้สึกตัวเป็นจิตดวงใหม่มารู้จิตที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ
ก็จะเห็นประมาณว่า เมื่อกี้เผลอ
เห็นแล้วก็แค่เห็นนะ ไม่ต้องไปแก้ไข ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เพราะจิตที่ถูกเห็นนั้นมันดับไปแล้ว จะไปแก้อดีตไม่ได้แล้ว
ทำได้แค่รู้

แต่ทำแค่รู้นี่แหละ จิตจะเห็นความจริง แล้วฉลาดขึ้นเป็นลำดับ

จิตไม่สงบ จะบังคับให้สงบ..มันยากนะ
จิตไม่สงบ รู้ว่าไม่สงบ..ง่ายกว่า
มันจะยากตรงที่คิดว่า “มันง่ายไป” นี่แหละ!

๑ กันยายน ๒๕๖๒


อ่านบน Facebook