#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๘ #มีความทะนงตัวว่าตนดีกว่าผู้อื่น ?? #ถาม​ : น้องสาวของโยมอยู่กับแม่ แล้วก็ดูแลแม่อยู่ น้องสาวสวดมนต์เยอะมาก และมักคิดว่าเธอทำถูกแล้ว และตนเป็นคนดีกว่าคนอื่น น้องมักเอาความคิดของตัวเองพูดให้แม่เชื่อแต่ตัวเธอเอง และคนอื่นไม่ดีเท่าเธอ เราจะมีวิธีแก้ไขตัวเธอ?หรือว่ามีการปรับปรุงความคิดนี้ได้อย่างไรดีเจ้าคะ? #ตอบ​ : มันพูดยาก.. คือเจ้าตัวต้องมารู้ตัวเอง ตัวน้องสาวต้องเห็นความผิดพลาดของตัวเอง ในแง่ที่ว่า ตัวเองทำดีนะดีแล้ว แต่ถ้ามันเลยเถิดถึงขั้นมองคนอื่นไม่ดี เรียกว่าขณะนั้นมี​ “มานะ” มีความทะนงตัว มีความคิดในเชิงเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับผู้อื่น เป็น​ “อุปกิเลส” ตัวหนึ่ง​ คนที่จะมาดูตรงนี้ได้ ต้องเจริญสติ​สักหน่อย ก็คือ​ มีสติรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสตัวนี้เป็นกิเลสที่พอรู้แล้วจะละอาย เจ้าตัวจะละอาย แต่ถ้ามีคนอื่นมาบอกนี่นะ..จะโกรธ เขาเองควรจะรู้ของเขาเอง ถ้าคนอื่นไปเตือนนี่นะ คนเตือนเนี่ยจะเสี่ยงมาก ครูบาอาจารย์เวลาเห็นลูกศิษย์มีมานะนี่นะ จะต้องดูก่อนว่าคนนี้ พร้อมจะรับฟังไหม? ถ้าพร้อมรับฟัง..ก็จะบอกได้ ถ้าไม่พร้อมจะรับฟังนี่นะ..บางทีท่านก็ปล่อยไปก่อน ยังไม่บอก ท่านบอกว่า “เปรียบเหมือนควาย มันอาจจะแว้งขวิดเราได้” อุปกิเลส​ที่​เรียกว่ามานะถือตัว​ คือเห็นว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น​เนี่ย​นะ.. .. ไอ้ความดีน่ะ.. ดี! แต่ตัว​ที่​ถือว่า​ “ตัวเองดีกว่าคนอื่น​” น่ะ​..ไม่ดี! เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอบุคคลที่มี​มานะ​ จะทำอย่างไรให้เขารู้สึกตัวได้? ก็ต้องให้เขาลองเจริญสติ ลองหาซีดีธรรมะของครูบาอาจารย์ในแง่ของสอนเจริญสติดูจิต ให้เขาไปฝึก บางทีเขาฝึกๆไป เห็นความไม่ดีของตัวเอง.. อย่างนี้เริ่ม​ง่าย​ล่ะ!.. แต่ถ้ายังเห็นความดีของตัวเองอยู่เรื่อยๆนี่นะ อย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเป็นการยากอยู่ แม้เราจะไปเตือน.. พี่ไปเตือน.. พระไปเตือน ก็อันตรายทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือจะเป็นพี่ก็อาจจะถูกแว้งกัด​เอา​ได้ ฉะนั้น​ คนที่มีมานะ​ ถือตัว ทะนงตัว บางทีอาจต้องได้รับบทเรียนแบบเจ็บๆ ประมาณว่าทำให้อายขายหน้า แล้วตัวเองก็จะรู้สึกว่า “โอโห้! บทเรียนครั้งนี้แพงมาก” เช่น มีอยู่คน​หนึ่ง​ รู้สึกว่าตนเองเนี่ยภาวนาดีมากเลย ไปกราบเรียนกับครูบาอาจารย์ว่า “ดิฉันภาวนามาถึงขั้นที่ไม่โกรธแล้ว” ไม่โกรธแล้วเหมือนเป็นพระอนาคามีแล้ว! ครูบาอาจารย์ดูแล้วไม่ใช่..ท่าน​ก็ด่าเลย​ “อีตอแหล!” อย่างนี้นะ อย่างนี้ครูบาอาจารย์​ท่าน​ทำได้ พอบอกโดนด่าว่า​ “อีตอแหล” เท่านั้น.. โยมคนนั้นโกรธเลย​ ทั้งๆที่เมื่อกี้บอกว่า.. ภาวนามาถึงขั้นที่ไม่โกรธแล้วนี่นะ มันโกรธเลย.. ลืมตัว​ ชี้หน้า​ว่าพระเลย..”พระอะไร.. พูดจาหยาบคาย!” แล้วก็เดินตึงตังๆออกนอกวัดไปเลย พ้นวัดไปแล้ว จึงรู้ตัวว่า “อ้าว! เมื่อกี้เราโกรธซะแล้ว” ก็เลยเห็นความไม่ดีของตัวเอง เห็นความผิดพลาดของตัวเอง แล้ว​จึง​กลับไป​กราบ​ขอขมา​และขอขอบคุณครูบาอาจารย์ที่่ท่านชี้ให้เห็นว่าเรายังมีกิเลส นี่โยมคนนี้ดีนะ ที่ยังเห็นกิเลสของตัวเอง แล้วกลับมาขอขมากับครูบาอารย์ท่านนั้น นี่เรียกว่า.. อาจจะต้องเจอครูบาอาจารย์ที่แบบโหดๆ อย่างนี้บ้าง ทีนี้ ถ้าเราไม่ถึงขั้นครูบาอาจารย์จะไปเตือนแบบนั้น​ คือเขาไม่ศรัทธา​เรา​มากพอ เราก็รอรอจังหวะก่อน บางที่อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะมาเห็นกิเลสตัวนี้ของเขา อดทนหน่อย! พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ”ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่​ ๒๕ กันยายน​ ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/apvXItStMqw (นาทีที่ 1:23:10 – 1:27:52)

อ่านต่อ