#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๙ #เดินจงกรมว่าพุทโธ #นอนว่าพุทโธ ?? #ถาม : การเดินจงกรม”พุทโธ” กับ การนอนภาวนา”พุทโธ” ต้องทำอย่างไรครับ? #ตอบ : เดินจงกรม กับ นอน แล้วมีคำบริกรรม”พุทโธ”ด้วยนี่นะ เอาเดินก่อนนะ.. เดินส่วนใหญ่ ถ้าใช้คำบริกรรม”พุทโธ” ก็จะสัมพันธ์กับการใช้ขาก้าวไป จะใช้ขาซ้ายก้าวไป พูดในใจว่า “พุท” ขาขวาก้าวไป พูดในใจว่า “โธ” อย่างนี้ก็ได้ “พุทโธ พุทโธ” พร้อมกับจังหวะการเดิน.. ก็อาศัย”พุทโธ”นั้นเป็นเครื่องอยู่ และ “พุทโธ”นั้น ก็พร้อมกับการเดินด้วย เดินไป”พุทโธ พุทโธ”ไป เดินไปจนถึงปลายทาง ทีนี้ เวลาเดินจงกรมในรูปแบบนี่ มันจะต้องมีจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นก่อนจะเดิน..ก็ต้อง​ยืน ก็เริ่มด้วยยืน..แล้วทำความรู้สึกตัว ตอนยืน..ก็ไม่มี”พุทโธ”อะไร ทำความรู้สึกตัวว่า ตอนนี้รูปร่างกายเรากำลังอยู่ในท่ายืน.. เมื่อพอสมควรแล้ว ก็ทำไว้ในใจว่าจะเดินแล้ว จะเดิน..ก็ก้าวเท้า จะก้าวเท้าซ้ายก่อน หรือก้าวเท้าขวาก่อนก็ได้ ถ้าเราเริ่มด้วยเท้าซ้าย ก็พูดในใจว่า “พุท” ก้าวต่อไปเป็นเท้าขวา ก็พูดในใจว่า “โธ” ก็ “พุท”, แล้วก็ “โธ” สลับกันไปพร้อมกันกับการก้าวเดิน ถ้าจะเริ่มด้วยการก้าวเท้าขวาก่อน.. ก็พูดในใจว่า “โธ” ก่อน แล้วค่อยก้าวเท้าซ้าย “พุท” อย่างนี้ก็ได้ เดินไป ก็กลายเป็น “พุทโธ” ไปเอง ก็แล้วแต่ว่าใช้คำไหน? พร้อมกับการก้าวของขาไหน? แล้วแต่เราจะกำหนด อันนี้เป็นสมมุติเฉย ๆ อาศัยภาพ..คือร่างกายที่เคลื่อนไหว แล้วก็อาศัยเสียง..ที่เราพูดอยู่ในใจกำกับไปด้วย ทั้งภาพทั้งเสียงที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวในท่าเดินนี่ ก็เป็นเครื่องอยู่ของจิตสำหรับทำความสงบ คือทำสมถะ ถ้าจิตมีความพอใจในการเคลื่อนไหว กับการบริกรรม”พุทโธ” มันก็จะเดินด้วยความสงบ ก็ได้สมถกรรมฐานกับการเดินครั้งนั้น ทีนี้ ถ้าเดินไป”พุทโธ”อยู่สองสามก้าว..แล้วเผลอคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือว่า​ แค่มีเสียงอะไรก๊อกแก๊กข้างๆ..แล้วมันก็เผลอไปฟัง จิตทำงานอย่างอื่นนอกจากเดิน แล้วก็มีคำบริกรรม อะไรก็ตามที่มันผิดไปจากนี้ เรียกว่า​ จิตมันทำงานนอกเหนือจากองค์กรรมฐาน ก็ให้รู้ว่ามันมี “ความเผลอ” เกิดขึ้น อาจจะเป็นเผลอคิด..เผลอเพลินไปเรื่องราวต่างๆ หรือจิตเผลอทำงาน.. เช่น หู..ไปได้ยินเสียง เราสนใจเสียงขึ้นมา มันก็กลายเป็น​ จิตทำงานผ่านหู การทำงานตรงนี้​ เรียกว่า “โสตวิญญาณ” จากเดิมจิตมี “คำบริกรรม” เป็นอารมณ์ พร้อมกับมีท่าทางของการเดินเป็นเครื่องอยู่สำหรับทำสมถะ พอมีความเผลอเกิดขึ้น จิตมันออกจากการทำสมถะนี้ ก็ให้รู้ว่า​ จิตมีความเผลอเกิดขึ้น ก็เรียกว่าทำสมถะไป ถ้าออกจากสมถะ..ก็ให้รู้ทันจิตที่เผลอ อย่างนี้ก็ใช้ได้ เดินไป “พุทโธ”ไป..แล้วก็รู้ทันจิตที่เผลอ ตอนเผลอ..ถ้าเรารู้เฉย ๆ ว่ามีความเผลอเกิดขึ้น..ความเผลอก็ดับให้ดู เห็นความเกิด-ดับ อย่างนี้เรียกว่า เจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่ถ้าจิตอยู่กับการเดิน ขวา”พุท” ซ้าย”โธ”, ขวา”พุท” ซ้าย”โธ”..ไปเรื่อย ๆ นะ ถ้าอยู่แต่ตรงนี้ไม่เผลอไปไหน ก็เรียกว่า ได้ทำสมถะกรรมฐาน ทำจิตให้สงบ​อยู่กับอารมณ์”พุทโธ”พร้อมกับการเดิน ..นี่คือ เดิน”พุทโธ”นะ … ส่วนนอน”พุทโธ” ก็น่าจะใช้กายที่หายใจในอิริยาบถนอน รู้กายที่มีลมเข้ากับลมออก พร้อมกับมี “คำบริกรรม” กายมีอิริยาบถคือนอน ถ้ายังไม่ตายก็มีลมหายใจ ฉะนั้น เราก็เอาลมหายใจนี่ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นอารมณ์สำหรับการทำสมถะกรรมฐาน ที่นี้ สำหรับคนบางคนนี่ ดูลมอย่างเดียวมันจะฟุ้งซ่านง่าย ก็อาศัยคำบริกรรมกำกับไปด้วย ก็คือ หายใจเข้า”พุท”, หายใจออก”โธ” มีอิริยาบถคือนอน แล้วมันไม่นอนนิ่งๆ กายนี้ยังไม่ตาย มันก็ทำงานก็หายใจ..ก็เห็นว่า​ กายนี้กำลังหายใจ กายหายใจเข้า ก็นึกบริกรรมในใจว่า “พุท” กายหายใจออก ก็นึกบริกรรมในใจว่า “โธ” ถ้าเผลอจากนี้ไป ให้รู้ทันว่าเผลอ นอนๆไป คิดเรื่องอื่น ก็ลืม “พุทโธ” คิดเรื่องอื่นเรียกว่า “เผลอ” ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ก็เรียกว่า “เผลอ” ทั้งหมด รู้ทันว่าเผลอ..ความเผลอก็ดับ ก็กลายเป็น​ ขณะที่รู้ทัน​นี่..ขณะที่รู้จิตเผลอ เป็นขณะที่มีกุศลเกิดขึ้นแล้ว รู้ทันว่าจิตเผลอ..ความเผลอ ก็ดับไป อันนี้​ แทนที่เราจะรู้..แล้วปล่อยลอย ๆ เมื่อรู้แล้ว..ก็กลับมารู้ที่กายกำลังนอนและกำลังหายใจ กลับมา​.. ถ้ากำลังหายใจออก​..ก็”โธ”ไปเลย หายใจเข้า..ก็”พุท” คือจะรู้ตอนไหน..เราก็บังคับไม่ได้ เราจะกลับมารู้สึกตัวตอนที่หายใจออกก็ได้.. กลับมารู้สึกตัวตอนหายใจเข้าก็ได้.. แต่ตอนเริ่มต้นเนี่ย ครูบาอาจารย์จะแนะนำว่า ตอนเริ่มต้นให้เริ่มด้วยหายใจออกก่อน ให้เริ่มรู้ตัวตอนหายใจออก เพราะว่าถ้าเริ่มด้วยรู้ตัวตอนหายใจเข้านี่ มันมักจะเพ่ง! ตอนหายใจเข้าเนี่ย มันมักจะสูดลมเข้าไป แล้วก็รู้สึกว่าแน่น ๆ ลองเริ่มต้นด้วยการหายใจออกนะ หายใจออก​แล้วก็รู้สึกตัว​ บริกรรมว่า “โธ” ไปก่อนก็ได้ หายใจเข้า​ ก็บริกรรม “พุท” หายใจไป ก็กลายเป็น “พุทโธ” ไปเอง “พุทโธ”ไป..แล้วก็รู้ทันจิตที่เผลอ ตอนเริ่มต้นด้วยหายใจออกเนี่ย ใจมันจะไม่หนักไม่แน่น เพราะมันเป็นการผ่อนคลาย การหายใจออก มันร่างกายผ่อนคลาย จิตใจก็ผ่อนคลายได้ง่าย เป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการภาวนา ก็ปรับไปใช้กับอิริยาบถอื่นก็ได้ เช่น อิริยาบถนั่ง..ร่างกายอยู่ในท่านั่ง นั่งนิ่ง ๆ แต่มันไม่นิ่งจริง ร่างกายมันทำงานอยู่ มันมีการหายใจ ก็หายใจเข้า”พุท”, หายใจออก”โธ” “พุทโธ”ไป..แล้วก็รู้ทันจิตที่เผลอ อย่างนี้ก็ได้นะ ถ้าเผลอจาก “พุทโธ” นี้ไป ก็รู้ทันว่า​..จิตทำงานอย่างอื่นแล้ว เห็นความเผลอ..ความเผลอดับ ไม่ต้องดูเรื่องที่คิด แต่เห็นว่ามีการทำสมถะอยู่ คือ เห็นกายหายใจ แล้วก็มีคำบริกรรม “พุทโธ” ไป เผลอจากสมถะนี้เมื่อไหร่ เรียกว่าเผลอ คือทำสมถะ เพื่อให้เห็นจิตที่เผลอ เผลอเนี่ย เผลอหลากหลายมาก เราไม่ต้องบอกเจาะจงว่า เผลอไปคิดเรื่องนั้น.. เผลอไปคิดเรื่องนี้.. เพราะพอจะคิดว่าเผลอไปคิดเรื่องอะไร..จะกลายเป็นฟุ้งซ่าน! แค่เรารู้ว่าเผลอ.. เมื่อกี้เผลอไป.. ไม่ต้องไปลงรายละเอียดว่าเผลอเรื่องอะไร.. อย่างนี้จะดีกว่า คือมันจะเห็นว่า​ มีสภาวะคือเผลอเกิดขึ้น..แล้วก็ดับไป มันจะเข้าวิปัสสนาได้ง่ายกว่า! พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ”ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/xyVWwqKi7oo (นาทีที่​13:55​ – 21:00 )

อ่านต่อ