#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๑๐ #การดูจิตเหมาะกับคนช่างคิด ?? #ถาม : ขอให้พระอาจารย์ช่วยอธิบายถึงหลักการปฏิบัติที่ว่า “การรู้สึกตัว รู้ที่จิต” และ “รู้ถึงจิตที่รู้” ขั้นตอนการปฏิบัติในการเดินจิตค่ะ #ตอบ : การดูจิตนี่ เหมาะสำหรับคนที่เป็นประเภทพวกช่างคิด พวกช่างคิดนี่ จิตทำงานอยู่บ่อย ๆ จิตทำงานบ่อย ๆ นี่ คือมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตนี่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ก็เหมาะสำหรับคนที่พวกช่างคิดนี่จะมาดูจิต เพราะจิตมันทำงานเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่เป็นจิตนิ่ง ๆ ถ้าเป็นจิตนิ่งๆ ก็เป็นพวกทำสมาธิทำฌานได้ เขาจะมีจิตนิ่ง ๆ การดูจิตของคนจิตนิ่ง ๆ แล้วนี่นะ จิตไม่ได้แสดงไตรลักษณ์ให้ดู ไตรลักษณ์คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตขณะนั้นที่นิ่งอยู่ มันไม่ได้แสดงไตรลักษณ์ แต่จิตที่กำลังทำงาน เดี๋ยวคิดนู้นเดี๋ยวคิดนี่ เป็นคนช่างคิดนี่นะ เหมาะที่สำหรับจะมาเจริญสติปัฏฐานในแง่ของการดูจิต แต่อยู่ ๆ จะไปดูจิตเลยเนี่ย บางทีก็ยาก ก็ควรจะทำสมถะไว้ก่อน ให้สมถะเป็นเพียงเครื่องเทียบให้เห็นว่า จิตที่เผลอจากสมถะนั้นหรือองค์ภาวนานั้น เป็นจิตที่เผลอ เช่น ดูลมหายใจ หรือว่า หายใจเข้า-หายใจออก หรือว่า หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”นี่นะ หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”เนี่ย เป็นที่อยู่สำหรับทำสมถะของเรา แต่ทำสมถะครั้งนี้ ไม่ได้ทำสมถะเพื่อรักษาจิตให้อยู่กับองค์ภาวนาของเราไปตลอดเวลา เพราะจิตคนที่เหมาะสำหรับคนดูจิตนี่นะ เป็นจิตที่ชอบล่อกแล่ก ชอบคิดชอบนึก ช่างปรุงช่างแต่ง ฉะนั้นเวลาอยู่กับ​ลมหายใจ หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”นะ มันก็อยู่ได้ไม่นานหรอก มันทนไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ต้องคิดนู้นคิดนี่อยู่เรื่อย ๆ นะ แต่การคิดหลังจากที่เรามีการภาวนาเป็นสมถะ คือหายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”นี่ เราจะมีข้อสังเกตุได้ว่า ถ้ามันผิดไปจาก”พุทโธ”เมื่อไหร่ เรียกว่า..เผลอ เพราะเราตั้งใจ ตั้งกติกาไว้เมื่อสักครู่นี้ว่า เราจะใช้”พุทโธ” หรือ”ลมหายใจ”นี่ เป็นเครื่องอยู่ของจิต ถ้ามันออกจากที่อยู่ตรงนี้ (พุทโธ หรือ ลมหายใจ) แสดงว่า​ มันเผลอ เราก็จะรู้ได้ง่ายว่า ทุกครั้งที่ลืม”พุทโธ” หรือ​ ลืม”ลมหายใจ”ไป​ ไปรู้เรื่องอื่น..ขณะนั้นเผลอแล้ว บางทีก็ไม่ได้รู้อะไรชัดเจน​ แค่เบลอ ๆ แค่เบลอ ๆ มันลืมที่อยู่ (พุทโธ หรือ ลมหายใจ) ก็เรียกว่า​เผลอแล้วเหมือนกัน ใจมันจะมีการลอย ก็เห็นว่า..จิตมันลอย มันมีการเคลื่อน ก็เห็นว่า..จิตมันเคลื่อน หรือว่า​ มันดับจากตรงนี้ แล้วไปเกิดตรงนู้น​ ก็เห็นว่า..มันเกิด-ดับ ๆ จิตมันจะแสดงอาการของมันอย่างไร ก็รู้ไปตามจริง ว่ามันเป็นอย่างนั้น เรียกว่าเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ให้ดู เห็นจิตมันเกิดดับเปลี่ยนแปลง เห็นจิตมันเป็นไปเอง ตามเหตุ ตามปัจจัย เรียกว่า​ เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ให้ดู ตอนเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์นี่​ ถ้าเห็นตรงนี้ เรียกว่า​ “เจริญวิปัสสนา” ถ้าจิตอยู่กับที่นิ่ง ๆ อยู่ในอารมณ์นี้ เช่น ดูลมหายใจเข้า-หายใจออก แล้วอยู่กับมันนิ่ง ๆ นี่นะ ก็จะอาศัยลมหายใจนี้ เจริญสมถกรรมฐาน “สมถกรรมฐาน” แปลว่า งานฝึกจิตให้สงบ ให้จิตสงบอยู่กับอารมณ์ที่ต้องการ หรืออารมณ์ที่เราชอบหรือตั้งต้นเอาไว้ เช่นดูลมหายใจ ก็อยู่กับลมหายใจนาน ๆ อย่างนี้ ได้สมถะ แต่ถ้ามันไม่ยอมอยู่ ก็อาศัยที่มันไม่อยู่นี่แหละ ดูความจริงไปเลยว่า ความเผลอเกิดขึ้น ความเผลอเป็นความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ แล้วรู้ทันความเผลอ..เห็นความเผลอดับไป ความจริงที่เราเห็นนี่นะ เห็น หนึ่ง​ คือ”เห็น​ความเผลอ​ ที่เกิดขึ้นจริงๆ” สอง เห็นความเผลอที่เกิดขึ้นเมื่อกี้นี้.. ดับไปแล้ว เห็นความจริงว่า “มันเกิด-ดับ” สาม เห็นความจริงว่าความเผลอที่มันเกิด-ดับเนี่ย..”ไม่ใช่เรา” เป็นเพียงสภาวะนึงที่เป็นนามธรรม..แล้วถูกรู้โดยจิตที่เป็น “ผู้รู้” นี้ เห็นมันแสดงความจริงอย่างนี้ สามระดับ บางคนเห็นระดับแรกอย่างเดียว คือว่าเห็นว่า..มีความเผลอเกิดขึ้น แต่ไม่เห็นว่า​ มันเกิด-ดับ ก็ให้ฝึกเห็นไปเรื่อย ๆ เจริญกรรมฐานไปเรื่อย ๆ เห็นความเผลอ..แล้วก็กลับมา อยู่ที่อารมณ์กรรมฐานเดิมใหม่ หายใจเข้า”พุท” หายใจออก”โธ”ต่อไป ก็เห็นความเผลออีก จิตมันเผลอ..ก็เห็นความเผลออีก เห็นไปบ่อย ๆ ก็จะเห็นว่ามันเกิด-ดับด้วย เพราะทันทีที่เห็นมัน..มันไม่เผลอแล้ว ความเผลอเกิดขึ้น เห็นความเผลอ..ความเผลอดับ ก็จะกลายจะเป็นว่า เริ่มเห็นความจริงในระดับที่สอง คือ มีความเผลอเกิดขึ้นจริง..แล้วความเผลอนั้นก็เกิด-ดับด้วย แต่ยังรู้สึกว่า..ไอ้ความเผลอที่ว่านี่​เป็นเรา คือ​เราเป็นผู้เผลอ ดูไป ๆ ไอ้ผู้เผลอ..ไม่ใช่เรา ประมาณว่า..ความเผลอนั้นเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ที่เมื่อกี้ เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป​ “ไม่ใช่เรา” ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้​ ก็เริ่มพัฒนามากขึ้น ได้ “เจริญวิปัสสนา” เรียกว่า อาศัยสมถะเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้ แล้วเจริญวิปัสสนาไปเรื่อย ๆ ใช้วิปัสสนานำสมถะ หรือเรียกอีกอย่างว่า ใช้ปัญญานำสมาธิ แล้วทำอย่างนี้แหละ มันจะทำให้มีสมาธิเกิดขึ้นง่าย สมาธิในแง่ที่ว่าเกิดขึ้นง่ายนี่ จะเป็นสมาธิที่เห็นจิตเคลื่อน พอจิตเคลื่อนไป..รู้ทัน จิตเคลื่อนไป..รู้ทันเนี่ย จิตเคลื่อน มันเป็นสภาวะที่จิตไม่ตั้งมั่น “สมาธิ” แปลว่า จิตตั้งมั่น อย่าแปล สมาธิ ว่าเป็นจิตสงบนะ! สมาธิ แปลว่า จิตตั้งมั่น จิตที่เคลื่อนไป แสดงความไม่ตั้งมั่น เห็นจิตที่เคลื่อน..ได้จิตตั้งมั่น แต่เป็นตั้งมั่นหนึ่งขณะ! การตั้งมั่นหนึ่งขณะเนี่ย เรียกว่าได้สมาธิหนึ่งขณะ ภาษาบาลีเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” นี่เรียกว่า​ อาศัยเจริญปัญญาไปก่อน แล้วค่อยไปได้สมาธิภายหลัง เห็นความฟุ้งซ่าน.. เห็นความเผลอ​ เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป เห็นความเผลอเกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป​ ขณะที่เห็นอยู่นี่..มันจะเห็นว่าจิตมัน “มีการเคลื่อน” ด้วย​..ที่เผลอนี่ มันเคลื่อนจากตรงนี้ ประมาณว่าตรงปลายจมูกนี่..แล้วมันเคลื่อนไป อย่างนี้ก็ได้ เห็นความเคลื่อนเกิดขึ้น..ได้ความไม่เคลื่อน เห็นความเผลอ..ได้ความไม่เผลอ เห็นความเคลื่อน..ได้ความไม่เคลื่อน ความเคลื่อนของจิต คือ จิตไม่ตั้งมั่น เห็นจิตเคลื่อน.. จึงได้ “จิตตั้งมั่น” แล้วอาศัยสติและสมาธิที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา แล้วก็พัฒนาปัญญาไปด้วย เห็นแม้กระทั่งว่า จิตที่เป็น “ผู้รู้” เนี่ย..ก็ไม่ใช่เรา! จากที่เคยเห็นว่า ไอ้ความเผลอ​ เกิดขึ้นมา..แล้วก็ดับไป เห็นความเผลอ​ เกิด-ดับ ก็จริง แต่รู้สึกว่า “เรา” เป็นผู้รู้ ดูไปๆ เนี่ย.. “ผู้รู้​” ก็ “ไม่ใช่เรา” เพราะเดี๋ยวก็เป็น”ผู้รู้”..เดี๋ยวก็เป็น”ผู้คิด” เดี๋ยวก็เป็น”ผู้รู้”..เดี๋ยวก็เป็น”ผู้เผลอ” เห็นทั้งหมดนี่ แสดงไตรลักษณ์ให้ดู ความเผลอที่ถูกรู้..ก็แสดงไตรลักษณ์ ตัวรู้เอง..ก็แสดงไตรลักษณ์ด้วย ตัว “ผู้รู้” เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ไม่เกิด เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมา​ แล้วก็ดับไป..มันก็ไม่ใช่เรา เดี๋ยวก็เป็น “ผู้รู้” ..เดี๋ยวก็เป็น “ผู้คิด” ทั้งหมดแล้วก็คือ มาเรียนรู้ความจริงของชีวิตนี้ ทางด้านรูปธรรมและนามธรรม แต่ถ้าเป็นพวกที่ช่างคิด ก็มาเรียนรู้เรื่องนามธรรมก่อน เพราะตัวหลักใหญ่ก็คือตัวนามธรรมนี่แหละ คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่า”จิต”..เนี่ย​ เป็นเรา และ”กายนี้”..เป็นเพียงแค่ของเรา ไอ้ตัวสำคัญ คือ​ตัวจิต ถ้าเราเห็นความจริงของจิตว่า..ไม่ใช่เราแล้ว ไอ้ร่างกายก็พลอยเห็นว่า..มันไม่ใช่เรา​ ไปแล้วด้วย จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน ก็รู้ทันที่จิต ก็เข้าใจถึงชีวิตนี้ไปด้วย พอเห็นจิตนี้..ไม่ใช่เราแล้วเนี่ย ทั้งกายนี้ ใจนี้..ก็ไม่ใช่เราไป ถ้าเห็นความจริงว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา ก็จะกลายเป็นพระโสดาบัน นี่คือวิธีการภาวนาของคนที่ เริ่มต้นจากทำสมถะไม่ค่อยได้.. แต่ว่าพัฒนาได้! พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ”ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่​ ๒​ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/clyuwC-c_JU (นาทีที่ 1:41:16 – 1:49:15​ )

อ่านต่อ