#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๑๖ #การเจริญสติปัฏฐาน ?? #ถาม​ : อยากทราบวิธีดู กายในกาย​ เวทนาในเวทนา​ จิตในจิต​ และธรรมในธรรมครับ? #ตอบ​ : อันนี้เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะมีคำเป็นชุดอยู่ว่า “ตามดูกายในกาย… ตามดูเวทนาในเวทนา… ตามดูจิตในจิต… ตามดูธรรมในธรรม…” ที่ว่า “กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม” เนี่ย​ ก็มีอธิบายได้ ๒ แง่ใหญ่ ๆ ยกตัวอย่าง อย่างดู “กายในกาย” ก่อน “กายในกาย” ในแง่ที่หนึ่ง ก็คือ​ กายมันมีหลายส่วน​ ก็ดูเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้​ เป็นตัวแทนของกาย เรียก​กายในกาย​ เช่น​ ดูลม​หายใจ​ ลมหายใจนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย​ ก็รู้ว่านี่เป็นเพียงกาย ในกายทั้งหมดนี้​ หรือว่าจะดู ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง ก็คือ​แต่ละส่วน​ ๆ ก็คือส่วนหนึ่งของกาย ในกายทั้งหมดนี้​ เวลาดูกายก็คือ ยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งมาพิจารณา​ และเห็นว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด จึงใช้คำว่า “กายในกาย” ดู “เวทนาในเวทนา” ก็เช่นเดียวกัน​ เวทนาก็มีสุข​, ทุกข์​ หรือเฉย​ ๆ​ คือไม่สุขไม่ทุกข์​ ภาษาบาลีเรียกว่า​ “อทุกขมสุข​” เห็นสุข ก็คือ เห็นเป็นแค่เวทนาในบรรดาเวทนาทั้งหลาย​ เห็นทุกข์ ก็เห็นเป็นแค่เวทนาในบรรดาเวทนาทั้งหลาย​ นี่คือ เห็น “เวทนาในเวทนา​“ เห็น “จิตในจิต”​ ก็คือ​ เห็นจิตมันแสดงการปรุงแต่งต่าง ๆ​ นานา พระพุทธเจ้าเวลาให้ดูจิตในจิตเนี่ย​ พระองค์ให้ดูว่า.. จิตมีราคะ​ ก็ให้รู้ว่า..มีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็ให้รู้ว่า..ไม่มีราคะ เป็นต้น ราคะ​ ก็เป็นหนึ่งในความปรุงแต่งในจิตนี้​ อย่างนี้ก็เรียกว่า เห็น “จิตในจิต​“ เห็น “ธรรมในธรรม” ก็เช่น เห็นความลังเลสงสัย ก็รู้ว่า นี่เป็นเพียงสภาวะหนึ่งในนิวรณ์ เป็นต้น แง่นี้คือ เห็น​ส่วนย่อยในส่วนองค์รวม​ อีกแง่หนึ่ง “กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม” ก็คือว่า​ เห็น “กายในกาย” ก็คือ​มันเป็นแค่ “กาย​“ คนเวลาเห็น “กายที่ไม่ใช่กาย​“ มันจะเห็นเป็นยังไง? ก็เห็นเป็น “กู​“ เห็นเป็น “ฉัน” อย่างนี้นะ​ อย่างนี้ไม่ใช่​.. ความจริงมันก็คือ “กาย” นั่นแหละ​! ลม ก็คือ “กาย​“ ผม, ขน, เล็บ ก็คือ “กาย​“ ‘ไม่ใช่ผมฉัน ไม่ใช่เล็บฉัน​ ไม่ใช่ตัวฉัน ไม่ใช่ฉัน’ ถ้ากำลังนั่ง​ ก็เป็น “กาย” อยู่ในอิริยาบถนั่ง​ ถ้าเดินจงกรมอยู่​ ก็เห็น “กาย” กำลังอยู่ในอิริยาบถเดิน​ ไม่ใช่ “กู” เดิน ไม่ใช่ “ฉัน” เดิน นี่ก็คือ เห็น “กายในกาย​“ เวลาเห็นเวทนา​ ก็เวทนานั่นแหละ​ เห็นสุข ก็คือ สุขเวทนา​ เห็นทุกข์ ก็คือ ทุกขเวทนา​ ‘ไม่ใช่ฉันทุกข์ ไม่ใช่ฉันสุข ไม่ใช่ฉันเฉย ๆ ด้วย’ มันเป็นแค่ “เวทนา”​ เห็น “เวทนาในเวทนา” ก็คือ.. เห็นเป็นเวทนา ไม่ใช่เห็น​เป็น “ฉัน”​ ไม่ใช่เห็นเป็น “เรา​“ ไม่ใช่เห็นเป็น “กู​“ เวทนา ก็เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง​ เวลาดูจิต เห็นราคะ.. ก็แค่ราคะ ไม่ใช่เป็น ”เรา” ​มีราคะ​ ไม่ใช่ “ฉัน” มีราคะ ‘ไม่ใช่ฉันโกรธ​ ไม่ใช่ฉัน​โลภ​ ไม่ใช่ฉันหลง​’ มันเป็นแค่​ เป็นความปรุงแต่งเกิดขึ้นในใจ​ เรียกว่า​ เห็น “จิตในจิต” เห็นโทสะในจิต,​ เห็นโมหะในจิต​, เห็นฟุ้งซ่านในจิต, เห็นหดหู่ในจิต อย่างนี้ก็เรียกว่า เห็น “จิตในจิต​“ แล้วคือ​ มันเป็นเพียงแค่สภาวธรรม เป็นรูปธรรมบ้าง เป็นนามธรรมบ้าง​ ถ้าเห็นรูป..ก็เป็นรูปธรรม​ ถ้าเห็นเวทนา หรือเห็นจิตแสดงเป็นกิเลสต่าง ๆ​ ..ก็เป็นนามธรรม​ ก็สักแต่ว่า​ รูปธรรมบ้าง​-นามธรรมบ้าง​ ที่เกิดขึ้นมา​ ให้สติไปรู้เข้าเท่านั้นเอง​ ไม่มีเราในบรรดาสิ่งเหล่านี้เลย รูป..ก็ไม่ใช่เรา​ เวทนา..ก็ไม่ใช่เรา​ จิตทั้งหลาย..ก็ไม่ใช่เรา​ ธรรมทั้งหลาย​ ก็เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นต้น ..ก็ไม่ใช่เรา​ ขันธ์ ๕ มี​ รูป​, เวทนา​, สัญญา​, สังขาร​, วิญญาณ​..ไม่ใช่เรา​ อายตนะ​ทั้ง ๖ นี้ ก็มีอะไรบ้าง​? ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ คู่กับ รูป, รส, กลิ่นเสียง, สัมผัส​, ธรรมารมณ์ เหล่านี้​..ไม่ใช่เราทั้งหมดเลย​ เห็นเป็นเพียงสภาพธรรม​ อันนี้เห็น “ธรรมในธรรม” นะ! เห็นเป็นสภาพธรรมของมันไปตามอย่างนี้​..ไม่มีเรา​ เรียกว่าเห็น “กายในกาย”.. ‘ไม่ใช่เห็นกูในกาย เห็น “เวทนาในเวทนา” ‘ไม่ใช่เห็นว่ากูเจ็บ กูปวด​’ เห็นเพียงแค่เวทนา เห็น “จิตในจิต​“ ก็คือ​ เห็นมันแสดงความปรุงแต่ง​ เป็นราคะ​, โทสะ​, โมหะ​, ฟุ้งซ่าน​, หดหู่​ เป็นต้น เห็น “ธรรมในธรรม” ก็เห็นสภาวะธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มี นิวรณ์, ขันธ์, อายตนะ เป็นต้น ก็เป็นเพียงสภาวะธรรม​ เห็นทีไรก็เข้าใจมากขึ้น​ ว่าชีวิตนี้เป็นเพียงแค่องค์ประกอบ​ของรูปธรรมนามธรรม​มาประกอบกัน​ พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/xGwa3WUjc4Y (นาทีที่​ 12:30​ -​17:43)

อ่านต่อ