#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๑๘ #วิปัสสนู ต่างกับ #วิปัสสนา อย่างไร ?? #ถาม : “วิปัสสนู” เทียบเคียงกับ​ “วิปัสสนา” มัน​ต่างกันยังไง? แค่ไหนครับ? #ตอบ : “วิปัสสนู” เป็นการเรียกสั้น​ๆ​ ที่จริงมีคำเต็มคือ “วิปัสสนูปกิเลส” แปลว่า อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา​ ทำให้วิปัสสนามัวหมองข้องขัด เป็นอุปกิเลสที่เกิดกับผู้เจริญวิปัสสนาในขั้นที่เป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน เรียกว่า ตรุณวิปัสสนา คือ บางทีเจริญวิปัสสนาไปแล้ว..เกิดแสงสว่าง เช่น​ ดูจิตไปนี่..เห็นกิเลส กิเลสเกิดขึ้นแล้ว..เห็นกิเลส ตอนเห็นกิเลส..กิเลสดับ ตอนเห็นกิเลสแล้ว..กิเลสดับเนี่ย ขณะนั้นเรียกว่า “มี​สติ​​เห็น​จิต” ตอนมีสติเห็นจิต​..ก็เกิดกุศล​ ‘สติ’ เป็นตัวกุศลนะ​ พอกิเลสดับไปแล้ว​..ใจก็สว่าง ที่ใจสว่างขณะนั้นนะ! ถ้าไปเข้าใจว่า​แสงสว่างที่เกิดขึ้น​เป็นการบรรลุมรรคผล แสงสว่างนั้นก็กลายเป็นโทษ เป็นเครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา คนที่เจริญวิปัสสนามาถึงระดับนี้​ เห็นกิเลสดับ แล้วจิตมันสว่างขึ้นมาเนี่ยนะ​ แล้วไปเข้าใจว่าความสว่างนี้เป็นมรรคผล​ ไอ้ความเข้าใจผิดอย่างนี้​ เรียกว่า​ “อุปกิเลส” เป็นอุปกิเลสของวิปัสสนา​ จึงเรียกว่า​ “วิปัสสนูปกิเลส” คนไทยก็มาเรียกสั้น​ๆ​ ว่า​ “วิปัสสนู​” พอไปเทียบกับคำว่า “วิปัสสนา” มัน​ก็เลยอาจจะงงว่า​ลงท้ายสระ “อู” กับลงท้ายสระ “อา” เนี่ย​ มันต่างกันอย่างไร​? จริง​ๆ​​ คำมันยาว​ “วิปัสสนูปกิเลส​” มันมาจากคำ ๒ คำ​ คือ​ “วิปัสสนา​” บวกกับคำว่า​ “อุปกิเลส” “อุปกิเลส​” ก็คือ​ เครื่องเศร้าหมอง “กิเลส​” ก็แปลว่า ความเศร้าหมอง ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ อย่างนี้นะ ฉะนั้น ความเศร้าหมองที่เกิดจากวิปัสสนา​ ก็คือว่า​ เจริญวิปัสสนามาแล้ว​..แล้วเกิดปรากฏการณ์บางอย่าง​ แล้วเข้าใจว่าปรากฏการณ์นั้น​ มันพิเศษเหลือเกิน​ น่าจะเป็นเครื่องหมายของการบรรลุธรรม ประมาณนี้นะ​! ก็เลยไม่ก้าวหน้าต่อไป​ เกิดเป็นความเศร้าหมองจากการเจริญวิปัสสนา​.. มีอยู่สิบอย่าง ได้แก่ โอภาส คือ แสงสว่าง ปีติ ความอิ่มใจ ปลาบปลื้ม ญาณ ความรู้ที่คมชัด ปัสสัทธิ ความสงบเย็นกายใจ สุข เป็นสุขที่ฉ่ำชื่นไปทั้งตัว อธิโมกข์ มีศรัทธาแรงกล้า ปัคคาหะ มีความเพียร อุปัฏฐาน มีสติชัดมาก อุเบกขา วางจิตเป็นกลาง นิกันติ ความติดใจพอใจ ดูดีทั้งนั้นเลยนะ! ครูบาอาจารย์​บางที​ท่านเคยบอก​เล่าประสบการณ์ว่า​.. ตอนมีสติชัดมาก​ๆ​ เนี่ย เห็นแม้กระทั่งเม็ดในอากาศ​ เรียกว่า​ ความรับรู้มันชัดเจนมาก​ อย่างนี้นะ​ มีความเพียร.. ถ้าเพียรมาก​ ก็เข้าใจว่าความเพียรแบบนี้ น่าจะเป็นเครื่องหมายของการบรรลุ​อะไรอย่างนี้แหละ คือ​มันเป็นความเข้าใจผิด​ มีของดีต่าง ๆ เกิดขึ้น มีสภาวะดี ๆ เกิดขึ้นในใจ​หลังจากเจริญวิปัสสนาแล้ว​ แล้วเข้าใจว่า​..มันเป็นเครื่องหมายของการบรรลุธรรม​ อย่างนี้นะ​ คือเรียกว่าเป็น​ “วิปัสสนูปกิเลส​” ที่เข้าใจ​อย่างนี้​ แล้วมันเป็นเครื่องเศร้าหมอง เพราะว่ามันจะไม่เจริญต่อแล้ว​ เหมือนบอกว่า “สมบูรณ์แล้ว​!” “สมบูรณ์แล้ว​!..ก็​ไม่เจริญกว่านี้อีกแล้ว”​ มันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์​มากกว่าสมบูรณ์แล้วใช่ไหม​? พอคิดว่าบรรลุธรรมแล้ว​ ก็เลยไม่ภาวนา ไม่ทำอะไรต่อที่จะ​ให้เจริญมากกว่านี้​ ฉะนั้น การที่เห็นปรากฏการณ์ต่าง​ ๆ​ จากการภาวนา​ แล้วคิดว่า​ ไอ้ปรากฏการณ์ดีๆ แปลก​ๆ​ เหล่านั้น​ เป็นเครื่องหมายของการบรรลุธรรมเนี่ย​ เป็นการคิดแบบผู้ที่ตกอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสนะ​ บางที..คนที่ประสบกับวิปัสสนูปกิเลสเนี่ย​ เพียงแค่เขา​รู้สึกตัวขึ้นมาว่า​ “ไอ้เนี่ย!​..มันไม่ใช่” วิธีแก้ไข ก็คือว่า..​ รู้ก่อนว่า​ “ไอ้เนี่ย!​..มันไม่ใช่​” เป็นเพียงปรากฏการณ์อันหนึ่ง วิธีจะพ้นจากสภาวะวิปัสสนูปกิเลส​ ก็ทำจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง​ ไอ้ที่หลง​วิปัสสนูฯไปเนี่ย​ เป็นเพราะ​จิตมันไม่ตั้งมั่น​ จิตไหลไปหาปรากฏการณ์นั้น​ เช่น​ มีแสงสว่างปรากฏขึ้นเนี่ย​.. มีสติ..แล้ว​จิตมันสว่างขึ้นมา​ จิต​..มันไหลไปหาแสงสว่างนั้น​ มันจมอยู่ในแสงสว่างนั้น​ ก็ให้รู้ทันว่า..จิต​เมื่อกี้​ มันเคลื่อนไป​ หรือ​ไม่ต้องไปสนใจแสงสว่างนั้น​แล้ว​..มารู้สึกตัว​ ตอนมารู้สึกตัวเนี่ย​ ด้วยใจแบบนักปฏิบัติที่เคยทำมาจนถึงได้วิปัสสนา​ จนเกิดวิปัสสนูฯ เนี่ย​นะ​ เพียงแค่เขาทำสมถะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่ต้องเป็นสมถะเพื่อสมาธิแบบลักขณูปนิชฌาน​.. จิตไม่ไหลไปหาอารมณ์ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา​ แล้วก็จะรู้เลย​ว่า​ “ไอ้สภาวะแสงสว่างนั้น..ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกเห็น​ จิต..ก็รู้อยู่ต่างหาก​” คราวนี้ ไอ้สภาวะแสงสว่าง ก็หลอกไม่ได้แล้ว​ ไอ้ตอนแรกที่เห็นความแสงสว่าง​นี่ มันตื่นเต้นดีใจ​ ก็ไหล​ไปหาแสงสว่างนั้น​ ก็คิดว่า​ “แสงสว่างนี้ ดีจัง​!” แล้วก็เป็นสภาวะที่น่าจะเป็นเครื่องหมายว่า​ “ฉันบรรลุอะไรสักอย่างแล้ว!” อะไรอย่างนี้นะ​ ที่แท้ มันก็​เป็นเพียง​.. สิ่ง​ๆ​ หนึ่ง​ที่ถูกรู้​ มันเป็นสภาวะ​ หรือเป็นปรากฏการณ์อันหนึ่ง​ที่เกิดขึ้น​จากการปฏิบัติเท่านั้นเอง​ แล้วยังมีสภาวะอื่น​อีกมากมาย​ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิด-ดับเปลี่ยนแปลง​ ไม่เที่ยง,​ เป็นทุกข์,​ เป็นอนัตตา​ทั้งหมดเลย​..แม้แต่​ ตัวรู้​! เหมือน​ “ฉันรู้” อะไรนี่นะ​ จริง​ ๆ​ แล้ว​ “ก็​ไม่ใช่ฉัน” ด้วย​.. เป็นเพียง​ ตัวรู้​ ซึ่งเดี๋ยวก็​รู้​..เดี๋ยวก็​เผลอ​ เดี๋ยวก็​รู้​..เดี๋ยว​ก็​คิด​ อย่างนี้ ทั้งหมดเนี่ย​..ต้องเข้าใจว่า​ มันไม่เที่ยง,​ เป็นทุกข์,​ เป็นอนัตตา​ ก็กลับมาเจริญวิปัสสนาใหม่​ ทุกครั้งที่เห็นรูปธรรม​ นามธรรม​ แสดงไตรลักษณ์แง่ใดหนึ่ง​ คือ​ไม่เที่ยง,​ เป็นทุกข์​ หรือเป็นอนัตตาเนี่ยนะ​ ก็เข้ามาสู่วงจร​ในระดับของวิปัสสนาอีกครั้งหนึ่ง หลุดพ้นจากการถูกอุปกิเลสของวิปัสสนาครอบงำ​ คำว่า “อุปกิเลสของวิปัสสนา” ก็เมื่อควบรวมคำแล้ว​ ก็กลายเป็นว่า “วิปัสสนูปกิเลส” นะ และจะเกิดกับผู้ที่เจริญวิปัสสนาเท่านั้นด้วย​ ฉะนั้นผู้ที่เกิดวิปัสสนูปกิเลสเนี่ย ไม่ต้องตกใจ​ ไม่ต้องเสียใจ​ และไม่ต้องกังวลใจ​ ก็เพียงแค่..ทำให้เกิดจิตตั้งมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง​ พอจิตตั้งมั่น มันก็มองออกแล้ว บางทีเนี่ย จะมีคำสรุปอาการของวิปัสสนูปกิเลส​ ด้วยคำสั้น​ ๆ​ ว่า​ “เป็นความฟุ้งซ่านในธรรม​” มันเป็นฟุ้งซ่านนะ​! แต่ไม่ใช่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ​ แบบคนทั่ว​ ๆ​ ไป​ แต่มัน​ฟุ้งในธรรม​ ติดในธรรมสิบอย่าง ตามที่ว่ามานั่นแหละ ภาษาบาลีใช้คำว่า​ “ธัมมุทธัจจะ” สองคำรวมกัน “ธัมมะ” กับ “อุทธัจจะ” ..กลายเป็นคำใหม่ขึ้นมา ​เป็น​ “ธัมมุทธัจจะ” “อุทธัจจะ” แปลว่า​ ฟุ้งซ่าน​ แต่ฟุ้งซ่าน​เนี่ย..ฟุ้งซ่านในธรรม​ ฟุ้งซ่าน..​ไปในเรื่องของ​ เห็นแสงสว่าง​ แล้วฟุ้ง​ไปว่า​.. “เราบรรลุแล้ว!” อะไรอย่างนี้นะ​ คิดไปเอง​ คิดเข้าข้างตัวเอง​ คือทุกคนเนี่ย​ เวลาจะมาภาวนาเนี่ย​ มันก็ต้องอยาก​บรรลุธรรมแหละ​.. พอเจอสภาวะดีๆ ดูเหมือนว่ามันเที่ยง เราบังคับได้​ ก็ชวนให้เข้าใจผิด ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่าง​ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “อนิจจัง” และเป็น “อนัตตา​” “ทำไมมันเที่ยง? ทำไมเราบังคับได้?” ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่า​ เราเองน่าจะผิด​ พอรู้สึกว่าเราเองน่าจะผิดเนี่ยนะ​..ลองกลับมาเริ่มต้นใหม่​ เริ่มจากทำกรรมฐานใหม่​ ทำสมถกรรมฐานขึ้นมาก่อน​ แล้วก็ทำสมถะ​..เพื่อรู้ทันจิต​ พอทำสมถะ เพื่อรู้ทันจิตเนี่ย​..จิตเผลอไป..ก็รู้​ จิตไหลจมไปในปรากฏการณ์ที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลาย..ก็รู้​ อย่างนี้ พูดง่าย​ ๆ​ ว่า​ จิตเผลอ..ก็รู้​ จิตเพ่ง..ก็รู้ ไม่ว่าจะ​เผลอ​ หรือจะ​เพ่ง​เนี่ย​.. แค่รู้​เฉย​ๆ​ มัน​เผลอ​ไป..ก็อันนี้เห็นง่าย​ แต่ไอ้​เพ่ง​เนี่ย..อาจจะเห็นยากหน่อย บางทีเพ่งเบาๆ คือไปทำการประคับประคองให้มันอยู่นิ่ง​ๆ​ กับอารมณ์นั้น​ ประคองปรากฏการณ์ที่ดีนั้น..ให้อยู่นาน​ๆ​ ประมาณนี้นะ​ อย่างนี้ให้รู้เลยว่า​.. “เนี่ย!​ ทำไปเพราะความอยากแล้วนี่” พออยากไป​รู้ชัดๆ..จิต​มันก็ไปสนใจสิ่งนั้น​ พอสนใจสิ่งนั้น​ พูดภาษาปัจจุบัน ก็เรียกว่า​ “มันมีการโฟกัส ณ จุดๆ หนึ่ง” ถ้ามีจุด, มีขอบ, มีเขต อะไรอย่างนี้นะ​ แสดงว่า​ เราเพ่งแล้ว​ ถ้าเพ่งอย่างนี้​..ก็ให้รู้ทัน​ รู้ทันจิตที่มันไหลไปหาอารมณ์​ อย่างนี้ก็เรียกว่า​ เห็นจิตที่มันเคลื่อนไป เห็นจิตที่เคลื่อนไป​เนี่ย.. ความเคลื่อน​อันนั้นนะ!​..ถูก​เห็น​นะ​ ขณะที่​เห็น​..จะกลายเป็น​ “จิตที่ไม่เคลื่อน​” จิตไม่เคลื่อนเนี่ย..พูดอีกแง่หนึ่งก็เรียกว่า​ “จิตตั้งมั่น” ฉะนั้น​ เห็น​จิตเคลื่อน​.. ก็ได้​ “จิตตั้งมั่น​” พอจิตตั้งมั่น​..ก็จะเห็นความจริงเลย​ ภาษาพระ​ ก็เรียกว่า​เกิด​ “ยถาภูตญาณทัสสนะ​” ศัพท์ยากหน่อย​ แปลว่า “ความรู้ความเห็นตามที่มันเป็น” เห็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้น​ ที่เคยถูกหลอก..ก็เห็นว่า​ มันเป็นเพียงการปรากฏการณ์อันหนึ่ง แล้ว​จิต​..ก็เป็น​ ผู้รู้​ อยู่ต่างหาก​ ความจริงอันนี้​..พอเห็นไปแล้วนะ​ แทนที่จะไปติดไอ้อาการที่ดีๆ เหล่านั้น​..ก็กลายเป็นว่า​ คลายวาง​ เห็นความจริง..แล้วก็หน่าย พอหน่าย..แล้ว​ก็คลายวาง​ พอคลายวาง..ก็​ หลุดพ้น​ อย่างนี้​นะ ถ้าหลุดพ้นเพียงชั่วคราว​..ก็ให้รู้อีก​ ถ้าหลุดพ้นเพราะมรรคผล​..ก็จะมีอาการอีกแบบหนึ่ง​ คือ​มันจะย้อนมา ไม่ว่าจะย้อนมาดูตอนไหน​ ก็จะเห็นเลยว่า​ สังโยชน์​ถูกละไป ถ้าเป็นพระโสดาบัน​ ก็ละสังโยชน์ ๓ ตัว คือ.. ละสักกายทิฏฐิ มองมา​ในกายนี้ ในใจนี้..ก็จะไม่เห็นเรา​ ไม่เห็นความเป็นเรา​ ละวิจิกิจฉา ไม่ลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย มีความศรัทธา​ตั้งมั่น​, เชื่อ​ไม่คลอนแคลนในพระพุทธเจ้า, พระธรรม และพระสงฆ์ ละสีลัพพตปรามาส ไม่ถือการปฏิบัติในศีลและพรตที่ผิด​ๆ ตัวสำคัญที่ชัดหน่อยคือ​ ข้อแรก​นั่นเอง​ คือ รู้ว่า, มีความเห็นว่า​ กายนี้..ไม่ใช่เรา และ​ใจนี้..ก็ไม่ใช่เราด้วย​ แต่ต้องดูนาน ๆ หน่อย​นะ บางทีคนที่ทำถึงขั้นที่ว่า​ วิปัสสนูปกิเลสเนี่ย​ ก็น่าจะทำสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานมามากพอสมควร​ บางทีในขณะที่ทรงฌาน..มันจะไม่เห็นว่ามีเรา​ แต่พอออกจากฌานแล้ว..อาจจะมี ฉะนั้น​ อย่าไปดูตอนทรงฌาน​ อย่าไปดูตอนเข้าสมาธิ​ ให้ดู..ตอนชีวิตปกติ เวลาถูกคนด่า​..เราโกรธ​ แล้ว​มันโกรธ​ ก็โกรธได้นะ!​..แต่มันมี​เรา​ไหม? หรือว่า​ อยากจะกินอะไร​..มันเหมือนเราอยากจะกินจริง​ๆ​ นะ​.. มี​เรา​จริง​ๆ​​ นะ​ อย่างนี้​ ก็ให้ดูตอนที่เผลอ​ ตอนเผลอ​..มันจะแสดงตัวตนออกมา ถ้ายังไม่ใช่เป็นพระอริยะนะ ยังเป็นปุถุชนอยู่นี่​..ความรู้สึกว่ามีตัวตน​ จะมี​ จะผุดขึ้นมา ดังนั้น ไม่ว่าจะมีปรากฏการณ์อะไร​ จริงๆ แล้ว ถ้าจะให้ปลอดภัย คือ​อย่าเพิ่งเชื่อ​ ดูไป ดูไปนานๆ แล้วความจริงก็จะปรากฏเอง แล้วก็​ไม่ต้องคิดจะไปต่อยอด เอาแค่ว่า​..เริ่มต้นใหม่อยู่เรื่อยๆ ครูบาอาจารย์จะใช้คำว่า “นับหนึ่ง! นับหนึ่งใหม่!” ทุกๆ ขั้นตอนของการภาวนา​ ให้นับหนึ่งใหม่​ คือ​ เริ่มต้นรู้สึกตัว​ บางคนเนี่ย​นะ ก็ใช้ว่า “เห็นกายหายใจ​” เห็นกายหายใจ​ แล้วดูจิต​..เผลอไป​ การนับหนึ่ง ก็คือ​ การกลับมาเห็นกายหายใจ​ แล้วจิตเผลอ​..รู้ทัน​ แล้วนับหนึ่ง ไม่ต้องไปนับ​ สอง, สาม, สี่.. เห็นจิตเผลอ..แล้วรู้ทันเนี่ยนะ​ ไม่ใช่ว่าเห็นเผลอ..แล้วคือ​ สอง แล้วก็ เห็นเผลออีกครั้ง..คือ​ สาม ไม่ใช่อย่างนั้น นับหนึ่ง​ คือ​เริ่มต้น​.. รู้สึกว่ากายกำลังหายใจ แล้วพอเผลอไป..รู้ทัน​ ไม่ต้องนับอะไรนะ​! แล้วกลับมานับหนึ่งใหม่​ ตอนที่ไม่รู้ตัวเลย​เนี่ย..ศูนย์​! ไม่มีอะไร​เพิ่มเลย​ กลับมา​นับหนึ่ง​.. คือ​รู้ว่า​กายกำลังหายใจ​ โดยมีเป้าหมายว่า​ การเห็นกายหายใจครั้งนี้​ เป็นเพียงแค่เครื่องเทียบ​ เพื่อดูว่าจิตจะเผลอไปเมื่อไหร่? ไม่ใช่มาเห็นกายหายใจ​เพื่อรักษาให้จิตอยู่กับกาย​ ไม่ใช่ว่าจะบังคับจิตให้อยู่กับกาย​ เพียงแค่เป็นจุดเริ่มต้น​ แล้วถ้าจิตจะทำงาน​..ก็ให้มันทำงานไป​ เรียกว่ามีความปล่อยอิสระ​ ให้จิตมันมีความคล่องตัวในการทำงาน​ ไม่ใช่ไปกดจิตให้อยู่นิ่ง​ๆ​ บังคับจิตให้อยู่นิ่ง​ๆ​ ถ้าบังคับ​ ความรู้สึกก็จะเหมือนกับว่า​ มันรู้สึกหนัก​ๆ​ แน่น​ๆ​ แข็ง​ๆ​ ซึมๆ ทื่อ​ๆ​ อย่างนี้นะ​ อย่างนี้ไม่พร้อมที่จะเดินปัญญา สรุปว่า วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นได้เพราะจิตไม่ตั้งมั่นนะ วิธีแก้ ก็ทำจิตให้ตั้งมั่น เท่านั้นเอง พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

อ่านต่อ