#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๑๙ #ศีลห้า ?? #ถาม : กรณีของการผิดศีล รวมไปถึง .. ๑. การสั่ง/ใช้/ไหว้วาน ให้ฆ่าสัตว์ ๒. การทุจริตประพฤติมิชอบ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ให้ได้มาซึ่งทรัพย์อย่างไม่ถูกต้อง ๓. เจ้าชู้ เกี้ยวพาราสี ซื้อบริการทางเพศ ๔. การยุยง ด่าว่า เหน็บแนมผู้อื่น ๕. การขาย จำหน่าย จ่ายแจก สุราและยาเสพติด อื่นๆ ด้วยหรือไม่ครับ? #ตอบ : ศีลข้อที่ ๑ เว้นปาณาติบาต ปาณาติบาต แปลว่า ทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป หมายความว่า ฆ่าสัตว์ ปลงชีพสัตว์ ปาณาติบาตนั้น มีองค์ ๕ คือ ๑. สัตว์มีชีวิต ๒. ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. จิตคิดจะฆ่า ๔. มีความพยายาม คือลงมือทำ ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ในส่วนของความพยายาม มีอยู่ ๖ อย่าง คือ ๑. พยายามฆ่าด้วยตนเอง ๒. พยายามโดยสั่งให้คนอื่นฆ่า ๓. พยายามฆ่าด้วยอาวุธที่ซัดไป ๔. พยายามฆ่าด้วยอุปกรณ์ที่อยู่กับที่ เช่น ขุดหลุม/บ่อ/กับดัก วางยาพิษ ๕. พยายามฆ่าด้วยวิชา เช่น ร่ายเวทมนต์/วิทยาคมเพื่อให้ตาย ๖. พยายามฆ่าด้วยฤทธิ์ การสั่ง/ใช้/ไหว้วาน ให้ฆ่าสัตว์ ตรงกับข้อ ๒ ถ้าทำการฆ่าสำเร็จตามสั่ง ก็นับว่าผิดศีลข้อปาณาติบาต ทั้งผู้สั่ง/ใช้/ไหว้วาน และผู้รับสั่ง/ใช้/ไหว้วาน … ศีลข้อที่ ๒ เว้นอทินนาทาน อทินนาทาน แปลว่า ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย อทินนาทานนั้น มีองค์ ๕ คือ ๑. ของที่เจ้าของหวงแหน ๒. รู้อยู่ว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน ๓. จิตคิดลัก ๔. พยายามลัก ๕. ลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น อาการที่ถือว่าลักทรัพย์ มีได้หลายแบบ เช่น ๑. ลัก คือ ถือเอาโดยที่เจ้าของไม่เห็น ๒. ขโมย คือ ลอบเอาสิ่งของของผู้อื่นมา โดยเจ้าของไม่ได้ให้ ๓. ฉกชิง หรือวิ่งราว คือ ฉวยเอาตอนเขาเผลอ ๔. ลักซ่อน เช่น เห็นของตกอยู่ แล้วเอาใบไม้มาปิด เพื่อจะเอา ๕. ลักต้อน เช่น ต้อนวัวควายของผู้อื่นไปตอนที่เจ้าของไม่เห็น ๖. ลักสับ คือ ลักโดยแอบสับเปลี่ยนสลาก หรือแอบเปลี่ยนของ ๗. แย่ง คือ แย่งเอาต่อหน้า ๘. ตู่ คือ เถียงเอาหน้าด้านๆ ๙. ฉ้อ คือ รับของฝากไว้ แล้วไม่คืน ๑๐. ยักยอก คือ แอบเอาทรัพย์ของหลวงหรือของส่วนรวมไป ๑๑. ปล้น คือ ใช้กำลังแย่งชิงทรัพย์ ๑๒. ปลอม คือ ทำของปลอม ให้คนอื่นเห็นว่าเป็นของแท้ ๑๓. โกง เช่น ตั้งใจใช้ตราชั่งที่ไม่ได้มาตรฐาน ๑๔. หลอกลวง คือ ใช้อุบายปลิ้นปล้อนล่อลวงให้หลงเชื่อเพื่อให้ได้ทรัพย์ ๑๕. กดขี่ หรือกรรโชก คือ ขู่ให้กลัว แล้วเอาทรัพย์ไป ๑๖. ตระบัด คือ ยืมของคนอื่นไป แล้วเบี้ยว ไม่ยอมคืน ๑๗. แอบซ่อนของหนีภาษี เป็นต้น เรียกรวมๆ ว่า ทำ “โจรกรรม” คือ การกระทำอย่างโจร นอกจากโจรกรรมโดยตรงแล้ว ท่านก็ยังห้ามโจรกรรมโดยอ้อมด้วย ได้แก่ ๑. อนุโลมโจรกรรม คือ ความเลี้ยงชีพหรือการแสวงหาทรัพย์ในทางไม่บริสุทธิ์ ได้แก่ – สมโจร คือ การกระทำที่ส่งเสริมโจร เช่น รับซื้อของโจร – ปอกลอก คือ การคบกันแบบไม่ซื่อ ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วล่อลวงเอาทรัพย์เขาไป เมื่อเขาสิ้นเนื้อประดาตัวก็ทิ้งขว้าง – รับสินบน หมายเฉพาะการรับทรัพย์ที่เขาให้เพื่อช่วยทำธุระให้เขาในทางที่ผิด ๒. ฉายาโจรกรรม แปลว่า เงาของโจรกรรม คือ การทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ที่หวงแหน ได้แก่ – ผลาญ คือ ทำความเสียหายแก่ทรัพย์ผู้อื่น เช่น เผาบ้านเขา ฆ่าสัตว์เลี้ยงของเขา – หยิบฉวย คือ ถือเอาทรัพย์ผู้อื่นด้วยความมักง่าย เช่น หยิบเอาไปโดยไม่บอกเจ้าของ ในส่วนของอทินนาทาน ก็มีความพยายามอยู่ ๖ อย่าง คือ ๑. พยายามลักด้วยตนเอง ๒. พยายามโดยสั่งให้คนอื่นลัก ๓. พยายามลักด้วยอุปกรณ์ที่ซัดไป/เคลื่อนไป/อยู่ไกลตัว เช่น ใช้โดรนไปลัก ๔. พยายามลักด้วยอุปกรณ์ที่อยู่กับที่ ๕. พยายามลักด้วยวิชา เช่น ร่ายเวทมนต์/วิทยาคม ๖. พยายามลักด้วยฤทธิ์ การทุจริตประพฤติมิชอบ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ให้ได้มาซึ่งทรัพย์อย่างไม่ถูกต้อง จึงนับว่าเป็นการทำอทินนาทานด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย … ศีลข้อที่ ๓ เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร กาเมสุมิจฉาจาร แปลว่า การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย กามทั้งหลาย ในที่นี้ได้แก่ กิริยาที่รักใคร่กันทางประเวณี หมายถึง เมถุน คือ การส้องเสพระหว่างชายหญิง กาเมสุมิจฉาจารนั้น มีองค์ ๔ คือ ๑. วัตถุอันไม่ควรถึง ๒. จิตคิดจะเสพ ๓. ทำความพยายามที่จะเสพ ๔. มรรคต่อมรรคถึงกัน วัตถุอันไม่ควรถึง ในที่นี้คือ คนต้องห้าม หญิงต้องห้ามสำหรับชาย ได้แก่ ๑. หญิงมีสามี ๒. หญิงมีญาติรักษา คือ มีผู้ปกครอง อยู่ในความพิทักษ์รักษาของพ่อหรือแม่หรือพี่หรือน้องหรือญาติ ๓. หญิงที่มีจารีตรักษา ได้แก่ – เทือกเถา ๓ ชั้น คือ แม่ / ย่า-ยาย / ย่าทวด-ยายทวด และเหล่ากอ ๓ ชั้น คือ ลูก / หลาน / เหลน – หญิงนักบวช – หญิงที่มีกฎหมายห้าม ชายต้องห้ามสำหรับหญิง ได้แก่ ๑. ชายอื่นนอกจากสามี เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงที่มีสามีแล้ว ๒. ชายที่มีจารีตห้าม ได้แก่ – เทือกเถา ๓ ชั้น คือ พ่อ / ปู่-ตา / ปู่ทวด-ตาทวด และเหล่ากอ ๓ ชั้น คือ ลูก / หลาน / เหลน – ชายนักบวช – ชายที่มีกฎหมายห้าม ศีลข้อนี้ ท่านมุ่งป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์ ทำให้มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การซื้อบริการทางเพศ ถ้าผู้ชายซื้อบริการทางเพศกับหญิง ก็มีโอกาสเป็นไปได้มากที่จะผิดศีลข้อนี้ เพราะไม่สามารถทราบได้ว่า ใครเป็นใคร หญิงนั้นได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองหรือไม่ มีสามีอยู่แล้วหรือไม่ ถ้าผู้หญิงซื้อบริการทางเพศกับชาย ก็น่าจะผิดตั้งแต่ข้อแรกแล้ว ในแง่กฎหมาย ถ้าซื้อบริการทางเพศเด็กอายุ ๑๕-๑๘ ปี ไม่ว่าเด็กหญิงหรือเด็กชาย แม้เด็กจะยินยอม ผู้ซื้อก็อาจผิดฐานพรากผู้เยาว์ ถ้าซื้อบริการทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ไม่ว่าเด็กหญิงหรือเด็กชาย แม้เด็กจะยินยอม ผู้ซื้อก็มีความผิดยอมความไม่ได้ และผิดฐานพรากผู้เยาว์ด้วย ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการจัดให้มีการขายบริการทางเพศ (เช่น เจ้าของสถานบริการ, แม่เล้า, แมงดา เป็นต้น) มีความผิดทุกกรณี เราก็ไม่ควรไปส่งเสริมให้เขาทำผิดกันนะ ที่ดีที่สุด คือ อย่าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลย เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ใน ปราภวสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเป็นนักเลงหญิง … ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม” ความเป็นนักเลงหญิง ซึ่งหมายรวมถึงความเจ้าชู้ เกี้ยวพาราสี ด้วยนั้น ก็ยังเป็นหนึ่งใน “อบายมุข” อีกต่างหาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบทอีกว่า “บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณ น้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลง (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด ชนพาลเมื่อสั่งสมบาป แม้ทีละน้อย ๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้ฉันนั้น” … ศีลข้อที่ ๔ เว้นจากมุสาวาท มุสาวาท แปลว่า การพูดเท็จ รวมถึงการสื่อสารทุกอย่างด้วยเจตนาบิดเบือนความจริง มุสาวาท มีองค์ ๔ ได้แก่ ๑. เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง ๒. เจตนาจะพูด ๓. พยายามพูด ๔. ผู้อื่นเข้าใจเนื้อความนั้น ที่ว่าพูดนั้น รวมถึงภาษากาย และการสื่อสารทุกอย่าง ท่านยังได้แจกแจงกิริยาที่เป็นมุสาวาทไว้ ๗ อย่าง ได้แก่ ๑. ปด คือโกหกกันชัดๆ ๒. ทนสาบาน คือ ตั้งสัจจะหรือสาบานว่าจะพูดความจริง แต่ก็พูดเท็จ ๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์ คือ ทำกลอุบายหลอกลวง เช่น พูดอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีจริง ๔. มารยา คือ ลวงให้เข้าใจผิด เช่น ไม่เจ็บ แต่ทำเป็นเจ็บ ๕. ทำเลศ คือ ยกเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน มาเล่นสำนวนเพื่อกล่าวหา เช่น ไม่ชอบคนชื่อ “ต” ก็ไปตั้งชื่อลิงตัวหนึ่งให้ชื่อ “ต” พอลิงขโมยของ ก็เที่ยวไปพูดว่า นาย “ต” ขโมยของไป ๖. เสริมความ คือ อาศัยเรื่องจริงบางส่วน ตัดเรื่องที่ไม่ต้องการออก เติมเรื่องที่ตั้งใจบิดเบือนลงไป ยังมีถ้อยคำที่ไม่ใช่มุสาวาทโดยตรง แต่จัดเข้าในศีลข้อนี้ด้วย เรียกว่า อนุโลมมุสา ได้แก่ ๑. เสียดแทง คือ พูดเกินจริง โดยเจตนาให้เจ็บใจ รวมถึงการพูดด่า และพูดประชด ๒. สับปลับ คือ พูดกลับกลอก รวมถึงการพูดปดด้วยคะนองวาจา บางทีก็ตอนพูดยังไม่เป็นมุสาวาท แต่มาเป็นภายหลังก็มี คือ รับคำแล้วไม่ทำตามที่รับคำนั้น มีศัพท์ว่า ปฏิสสวะ ได้แก่ ๑. ผิดสัญญา คือ สัญญาว่าจะทำ แต่ภายหลังไม่ทำ ๒. เสียสัตย์ เช่น ข้าราชการถวายสัตย์ แล้วไม่ทำตามนั้น ๓. คืนคำ เช่น รับว่าจะทำ แล้วไม่ทำ คำพูดไม่จริง แต่ไม่นับว่าเป็นมุสาวาท ก็มี ได้แก่ ๑. โวหาร คือ ถ้อยคำที่ใช้เป็นธรรมเนียม เช่น เขียนลงท้ายจดหมายว่า ด้วยความเคารพอย่างสูง ทั้งที่ความจริงไม่ได้เคารพเลย ๒. นิยาย คือ เรื่องที่รู้กันอยู่ว่าแต่งขึ้นมา ๓. สำคัญผิด คือ ไม่ได้มีเจตนาโกหก แต่พูดไปด้วยความเข้าใจผิด ๔. พลั้ง คือ ตั้งใจพูดอย่างหนึ่ง แต่ไพล่ไปพูดอีกอย่างหนึ่ง การยุยง ด่าว่า เหน็บแนมผู้อื่น จัดอยู่ใน อนุโลมมุสา … ศีลข้อที่ ๕ เว้นจากสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมรัย คือ น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น เช่น กระแช่ เป็นต้น สุรา คือ น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ที่คนไทยเรียกกันว่า เหล้า สิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเสพด้วยวิธีใด ก็จัดเข้าในข้อนี้ด้วย องค์แห่งศีลข้อนี้มี ๔ ได้แก่ ๑. น้ำเมา (รวมทั้งสิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติดทั้งหลาย) ๒. จิตคิดจะดื่ม (หรือเสพ) ๓. พยายามดื่ม (หรือเสพ) ๔. น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป (หรือเสพสำเร็จ) การขาย จำหน่าย จ่ายแจก สุราและยาเสพติดอื่นๆ ยังไม่ถึงกับผิดศีล แต่ก็ไม่ควรทำ เพราะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการทำผิด จัดอยู่ใน “มิจฉาวณิชชา” มิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายที่ไม่ชอบธรรม การค้าขายที่ผิดศีลธรรม มี ๕ อย่าง ดังนี้ ๑. ค้าอาวุธ ๒. ค้ามนุษย์ ๓. ค้าสัตว์สำหรับฆ่า เช่น ฆ่าเป็นอาหาร เป็นต้น ๔. ค้าของเมา ๕. ค้ายาพิษ … ขอปิดท้ายการตอบโจทย์นี้ด้วยพุทธพจน์ ใน ธัมมิกสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต พระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสกบริวาร ๕๐๐ คน ดังนี้ “ต่อไปนี้ เราจะบอกข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์แก่พวกเธอ คือสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ประพฤติอย่างไร จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ จริงอยู่ สาวกที่ยังมีความหวงแหนในไร่นาเป็นต้น ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมของภิกษุล้วนๆ ได้ สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และที่มั่นคงในโลกแล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ใครๆ ฆ่า จากนั้น สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ รู้อยู่ ควรงดเว้นการถือเอาสิ่งของต่างๆ ในทุกหนทุกแห่ง ที่เจ้าของมิได้ให้ คือ ไม่พึงลักเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก และไม่พึงอนุญาตให้ใครๆ ลัก พึงงดเว้นการถือเอาสิ่งของทั้งปวงที่เจ้าของมิได้ให้โดยเด็ดขาด สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้เข้าใจชัดแจ้ง ควรงดเว้นพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ เหมือนคนเดินหลีกหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชน ฉะนั้น แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้ ก็ไม่ควรล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น สาวกผู้อยู่ในที่ประชุม หรือในที่สาธารณชน และอยู่กับคนคนเดียว ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ และไม่ควรอนุญาตให้ใครๆ พูดเท็จ ควรงดเว้นคำพูดที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรประพฤติการดื่มน้ำเมา ควรยินดีชอบใจธรรมคือการงดเว้นการดื่มน้ำเมานี้ ไม่ควรชักชวนผู้อื่นให้ดื่ม และไม่ควรอนุญาตให้ใครๆ ดื่ม เพราะรู้ชัดถึงโทษของการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าในที่สุด เพราะความเมานั่นเอง คนพาลทั้งหลายจึงทำบาปต่างๆ ได้ ทั้งยังชักชวนคนอื่นๆ ผู้ประมาทให้ทำอีกด้วย สาวกที่เป็นคฤหัสถ์จึงควรงดเว้นการดื่มน้ำเมา ที่ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี มีแต่ทำให้เป็นบ้า หลงลืม ที่พวกคนปัญญาทรามชอบดื่มกันนี้ …” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

อ่านต่อ