#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๒๓ #ความหมาย #สัจจญาณ, #กิจจญาณ, #กตญาณ ?? #ถาม : ขอพระอาจารย์ช่วยอธิบายความหมายของคำว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ #ตอบ : อันนี้มันเป็นเรื่องของอริยสัจ ๔ ! อริยสัจ ๔ เนี่ย เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าแสดงกับพระปัญจวัคคีย์ คือในธัมมจักกัปปวัตนสูตรเนี่ย เมื่อพระพุทธเจ้าทำให้ปัญจวัคคีย์เชื่อแล้วว่า พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วเนี่ยนะ พระองค์ก็แสดงธรรม แสดงธรรมตอนต้นเลยเนี่ย พระพุทธเจ้าจะชี้ให้เห็นทางผิด ๒ ทาง เขาเรียกว่า ที่สุด ๒ ด้าน ซึ่งปัญจวัคคีย์ก็เห็นเขาทำกันอยู่ แล้วก็บางทีก็เชื่ออย่างนั้นด้วย เห็นอยู่ว่าเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ บางทีก็เชื่อด้วย ทางที่สุดโต่ง ๒ ทางเนี่ยทำแล้วไม่บรรลุมรรคผล ทางแรกก็คือ “กามสุขัลลิกานุโยค” ปล่อยใจเพลิดเพลินไปในกาม มีกิเลสมีตัณหาอะไร ก็ตาม สนองตัณหา อยากได้อะไรก็พยายามทำให้ได้สิ่งนั้น อยากได้รูป..ก็พยายามให้ได้รูปมา อยากได้เสียง..ก็พยายามเอาเสียงมา อยากได้เมีย..ไปหาเมียมา อยากได้บ้าน..ก็ไปหาเงินไปสร้างบ้าน ประมาณนี้ ทำตามกิเลสสั่ง เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” คือ แสวงหากาม ก็คือพยายามจะหากามมาสนองกิเลสตัวเอง ส่วน “อัตตกิลมถานุโยค” นี่เป็นการปฏิบัติสุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการทรมานตัวเอง พวกนี้จะเห็นว่า การทำตามกิเลสไปแสวงหากามเนี่ย น่ารังเกียจ รู้สึกว่าเป็นคนที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ นักปฏิบัติต้องไม่ทำตามกิเลส โดยวิธีคือทรมานตัวเอง อยากกิน..ไม่กิน อยากนอน..ไม่นอน ประมาณอย่างนี้ ทรมานตัวเอง โดยคิดว่าถ้าทรมานตัวเองแล้ว จะบรรลุมรรคผลในอีกไม่ช้า ประมาณนี้นะ แล้วพระองค์แสดงให้ปัญจวัคคีย์เห็นที่สุด ๒ ด้าน ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะบรรลุมรรคผล พระองค์ก็แสดงทางสายกลาง ทางสายกลาง ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ แล้วก็พระองค์ก็แสดงอริยสัจ ๔ “อริยสัจ ๔ ” นี่ก็คือ ความจริงที่ทำให้เป็นพระอริยะ หรือความจริงที่พระอริยะรู้ ความจริงความหมายของคำว่า อริยสัจเนี่ย มีมากมายนะ เอา ๒ แง่นี้ก่อน อริยสัจ มี ๔ ข้อ อริยสัจข้อแรก คือ ทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย.. เหตุแห่งทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ.. ความดับทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๔ คือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ..ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกสั้น ๆ ว่า “มรรค” “มรรคมีองค์ ๘” นั่นเอง สัจจญาณ คือ ญาณหยั่งรู้สัจจะ คือรู้อริยสัจแต่ละอย่างตามสภาวะที่เป็นจริง เมื่อแสดงทุกข์ พระองค์ก็อธิบาย.. “ทุกข์ คืออะไร?” “ทุกข์” เพื่อให้คนทั่วไปเห็นง่าย ก็แสดงแบบหยาบ ๆ ก่อน ก็คือ ความเกิดเป็นทุกข์, ความแก่เป็นทุกข์, ความตายเป็นทุกข์ อันนี้แบบหยาบ ๆ เลย ใกล้ตัวเข้ามาอีก ให้เห็นชัดเข้ามาอีก คือ.. ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ..เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ..เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น..เป็นทุกข์ แล้วพระองค์ก็สรุปเป็นสั้น ๆ ว่า “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” “ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์” พูดง่าย ๆ ก็คือ ขันธ์ ๕ ที่เรารู้จักเนี่ย..เป็นทุกข์ ที่มันมีเกิด, แก่, เจ็บ, ตาย เป็นทุกข์ขึ้นมานี่นะ เพราะว่า มีขันธ์ ๕ นี่แหละ “ทุกข์” ก็คือ ตัวขันธ์ ๕ นี่เอง ทีแรก เราก็นึกว่าคนอื่นทำให้เราทุกข์ แต่จริง ๆ “ไอ้ตัวนี้แหละ” “ขันธ์ ๕ นี้แหละ” ..เป็นทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๒ “ทุกขสมุทัย” ก็คือ ตัณหา ตัณหา ก็มี ๓ แบบ ตัณหา ก็คือ ตัณหาในกาม เรียกว่า “กามตัณหา” ..อยากได้กาม “ภวตัณหา” ..อยากได้ภพ อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่, อยากได้ตำแหน่งนั้นอยากได้ตำแหน่งนี้ ถ้าละเอียดหน่อยก็คือ อยากเป็นเทวดาชั้นนั้นชั้นนี้, อยากได้รูปฌาน, อยากเป็นพระพรหม อย่างนี้นะ เรียกว่ามี ภวตัณหา ส่วนตัณหาอีกแบบหนึ่ง คืออยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากจะพ้น แล้วก็ทำความเพียรตามความอยากนั้น ความอยากจะพ้นเนี่ย เรียกภาษาบาลีว่า “วิภวตัณหา” อยากจะพ้นจากภพพวกนี้ เห็นแล้วว่ากามไม่ดี ก็จะพยายามทำให้พ้นจากกาม ทำได้ขั้นแรกก็เป็น รูปภพ ได้ รูปภพ แล้ว ..ทำ รูปฌาน เห็นว่า “อ้าว! ยังมีรูปอยู่” ..ก็พยายาม ละรูป ละรูป ..ก็ทำอรูปฌาน อยู่ใน อรูปภพ ก็ยังไม่พ้นอยู่ดี ก็เรียกว่า ทำตามกิเลสอยู่นั่นเอง เพราะว่าทำตามกิเลสนี่แหละ ทำตามตัณหานี่แหละ ก็เลยยังไม่พ้นไป กลายเป็นว่าตัณหามี ๓ อย่าง มี กามตัณหา ภวตัณหา และก็ วิภวตัณหา อริยสัจข้อที่ ๓ “ทุกขนิโรธ” ก็คือ ความดับทุกข์ แรก ๆ เป็นความดับทุกข์ แต่พอดับทุกข์ได้แล้วเนี่ย..เป็นพระอรหันต์จริง ๆ แล้ว คือเป็นความไม่เกิดแห่งทุกข์ ทุกขนิโรธ แปลได้ ๒ แง่ คือ – ความดับทุกข์ – ความไม่เกิดของทุกข์ เป็นสภาวะที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า “พระนิพพาน” เป็นเป้าหมายของชาวพุทธหรือนักปฏิบัติทั่ว ๆ ไป อริยสัจข้อที่ ๔ ก็คือ มรรค หรือเรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ” ก็คือ วิธีปฏิบัติให้ถึงนิโรธ คือความดับทุกข์ พระองค์ก็แจกแจงว่ามีองค์ประกอบอยู่ ๘ อย่าง คือสัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ มีองค์ประกอบ ๘ อย่างนี้ ทำได้ครบ ๘ อย่างสมบูรณ์แล้ว..ก็ไปได้ นิโรธ มรรค เป็นเหตุ.. นิโรธ เป็นผล ตัณหา เป็นเหตุ.. ทุกข์ เป็นผล ก็มีการอธิบายแบบนี้ การที่รู้ว่าอริยสัจแต่ละอย่างคืออะไรแบบนี้ เรียกว่า “สัจจญาณ” นี่ ครอบคลุมนี่นะ! “อริยสัจมี ๔ ข้อ แต่ละข้อ..คืออะไร?” เขาเรียกว่า “สัจจญาณ” “กิจจญาณ” ก็คือว่า “รู้ว่าในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อนี้ แต่ละข้อ..เราควรทำอะไรกับมัน?” “ทุกข์” คนทั่ว ๆ ไปจะหนีทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ทุกข์..ควรรู้” ..นี่คือ กิจจญาณ “สมุทัย” คนทั่ว ๆ ไปก็จะสนอง อยากได้อะไรก็จะสนองอย่างนี้นะ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สมุทัย..ควรละ” “นิโรธ” บางคนทั่ว ๆ ไป ก็พยายามปรุงแต่งจิตให้เข้าถึงนิโรธ หรือพยายามปรุงนิโรธขึ้นมา คล้าย ๆ กับว่า เหมือนได้ยินว่านิโรธก็คือสภาพนิพพาน นิพพานเหมือนเป็นเมือง ๆ หนึ่ง พยายามจะเข้าถึงเมือง ๆ นั้น จริง ๆ ก็ไม่ใช่ นิพพานไม่ได้เป็นเมือง นิพพานเป็นภาวะดับทุกข์ เป็นภาวะที่ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นิโรธ..ควรทำให้แจ้ง ไม่ใช่ไปปรุงแต่ง ..ควรทำให้แจ้ง ! ส่วนมรรคมีองค์ ๘ เนี่ย..ควรเจริญ ก็คือทำให้มันเจริญขึ้น เรียกว่า ภาวนา ที่ว่า.. ทุกข์..ควรรู้ สมุทัย..ควรละ นิโรธ..ควรทำให้แจ้ง มรรค..ควรเจริญ เนี่ย “คือรู้ว่า อริยสัจทั้ง ๔ นี่..ควรทำอะไรกับมัน?” เรียกว่า “กิจจญาณ” “กิจจะ” นี่ก็คือว่า “เป็นการกระทำ” ..ก็คือ ควรทำอะไรกับอริยสัจแต่ละข้อ ๆ แล้วพอพระพุทธเจ้าแสดงว่า อริยสัจคืออะไรบ้าง? และสิ่งที่ควรทำกับอริยสัจคืออะไรบ้าง? นี่นะ และพระองค์ก็ปฏิญาณว่า ที่ว่า.. ทุกข์..ควรรู้..พระองค์รู้แล้ว สมุทัย..ควรละ ..พระองค์ละแล้ว นิโรธ..ควรทำให้แจ้ง..พระองค์แจ้งแล้ว มรรค..ควรเจริญ ..พระองค์เจริญแล้ว ที่ปฏิญาณว่า ได้ทำแล้ว เรียกว่า “กตญาณ” เพราะฉะนั้น ที่เราสวด ๆ กันว่า “มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ” เนี่ย “ไอ้รอบ ๓ เนี่ย” คือ ญาณ ๓ ญาณ นี้เอง มีอาการ ๑๒ อย่าง ก็คือว่า.. เมื่อญาณ ๓ ญาณ เมื่อมาประกอบเข้ากับอริยสัจทั้ง ๔ นี่ก็คือ ๓ คูณ ๔ ก็เป็น ๑๒ พอจะเข้าใจนะ! พระองค์ตรัสถึงอริยสัจ แล้วก็เรียกว่า สัจจญาณ วิธีทำอะไรกับอริยสัจนั้น ก็เรียกว่า กิจจญาณ แล้วก็พระองค์ปฏิญาณว่า พระองค์ทำสำเร็จแล้วในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น ก็เรียกว่า พระพุทธเจ้ารู้อริยสัจทั้ง ๔ นี้ จึงสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้นเอง เป็นความรู้ หรือเป็นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร? ก็ตอบได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอริยสัจ นี่ตอบตามที่ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/edpg2OijZDM (นาทีที่ 49:00 – 59:00)

อ่านต่อ