#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๕๗ #พรสี่ประการ ?? #ถาม: อยากได้คาถา หรือบทสวดมนต์ที่ช่วยคุ้มครองให้เราปลอดภัย #ตอบ: อยากได้มั้ย? … สามารสร้างคาถาได้เองมั้ย? “ให้มีสติรู้กายรู้ใจของเรา รู้ทันกิเลสของตัวเอง อย่าประมาท!” คำว่า “อย่าประมาท” เป็นคำกว้างๆ บางทีคนก็อาจจะนึกไม่ออกว่าอะไรเรียกว่า ไม่ประมาท! ไม่ประมาท ก็คือมีสติรู้ทันใจกายตัวเองในการเคลื่อนไหวร่างกาย นั่งอยู่..ก็รู้ว่าว่ากายนั่งอยู่ กายเคลื่อนไหวในการเดิน..ก็เห็นว่ากายกำลังเดิน เรียกว่า มีสติรู้กาย อย่างนี้อยู่ในขั้นหนึ่งที่เรียกว่า ไม่ประมาท! อีกขั้นหนึ่งคือ ตระหนักว่า นอกจากกายแล้ว ชีวิตเรามีส่วนประกอบอีกส่วนหนึ่งคือ ใจ ใจ กับ กาย อย่างไหนสำคัญกว่ากัน? ใจสำคัญกว่า กายอาจจะดูดี แต่ใจร้ายก็มีใช่ไหม? แล้วการที่เราจะเรียกว่าคนนั้นดี คนนั้นร้าย เราดูที่รูปร่างหน้าตา หรือดูที่ใจ? ดูที่ใจใช่ไหม? จึงต้องหมั่นดูที่ใจของเรา ถ้าใจมีความไม่ดีเกิดขึ้น ให้รู้ทัน เพราะถ้าไม่รู้ทัน ปล่อยทิ้งให้มันไว้ ความไม่ดีนั้นจะขยายตัว แล้วมันจะทำให้เรากลายเป็นคนเลว ฉะนั้น ให้รู้ทันไว้ ถ้ามีความไม่ดีเกิดขึ้นในใจ แล้วขอให้พระคุ้มครอง พระก็คุ้มครองไม่ไหว มันต้องเห็นความไม่ดีที่เกิดขึ้นก่อน แล้วสิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือว่า หมั่นสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้น คุณธรรมที่พระท่านสอนให้บ่อย ๆ เคยได้ยินพระให้พรไหม? “อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง” แปลว่า พร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ รู้ไหมว่า..อายุ คืออะไร? อายุ.. ยุคนี้เขาเรียกว่า..มีพลังชีวิตในการที่จะดำรงความเป็นคนอยู่ได้นาน ๆ วรรณะ คืออะไร ? หมายถึง ผิวพรรณผ่องใส ถ้าให้อายุยืน แล้วผิวเหี่ยว ๆ หมอง ๆ เราก็ไม่เอา จะเอาแบบผ่องใสด้วย สุขะ คืออะไร ? สุขะ นี้แปลง่าย ก็คือความสุข พละ คืออะไร ? พละ คือมีกำลังด้วย พร ๔ ประการนี้ จะสำเร็จกับบุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ทำเป็นประจำ คนที่มีความอ่อนน้อม ไม่แข็งกระด้าง จะทำให้มีพร ๔ ประการนี้เกิดขึ้น ถ้าเราไม่อ่อนน้อม ผู้ใหญ่จะไม่เอ็นดู อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่เลย คนทั่ว ๆ ไปก็ไม่เอ็นดู ถ้าเราแข็งกระด้าง มันก็พาไปจะเจอคนกระด้าง บางทีเราอาจจะรู้สึกว่า ถ้าเรากระด้างไว้หน่อย ..ก็จะดูเป็นที่น่าสนใจ กระด้างแล้วมันเสียงดังดี ดูเด่นด้วย เราจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้มันจะมีประเภทนี้เกิดขึ้นเยอะใช่ไหม? ทำให้มันห้าว ๆ ไว้ก่อน เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าเกรียน ๆ กรากเกรียน ใช่ไหม? ดูแล้วมันมีคนสนใจติดตาม แต่ว่าที่ติดตาม ๆ แต่มันอาจจะตามมาด่าก็ได้นะ อาจจะมีคนสนใจก็จริงอยู่ แต่ว่าไม่ได้เป็นเหตุแห่งความเจริญที่แท้จริง ความเจริญที่แท้จริง คือว่า ทำอย่างไรเราจะเป็นผู้อ่อนน้อม สุภาพอ่อนโยน อ่อนที่ว่านี้ไม่ใช่อ่อนแอ คำว่า “อ่อนโยน”‘ นี้เป็นภาษาไทย ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับมะม่วงเวลาออกลูกเนี่ยนะ มันจะโยนตัวได้ ความอ่อนโยน ก็คือความที่มันคล่องแคล่ว ว่องไวด้วย เหมือนลูกมะม่วงที่โยนตัวได้ ความอ่อนโยน ก็มีทั้ง อ่อนน้อมและคล่องแคล่วด้วย ความอ่อนน้อม ก็เปรียบเสมือนรวงข้าว ร่วงข้าวเนี่ยถ้าตั้งตรงเด่ ๆ เนี่ยนะ แสดงว่าข้าวนั้นใช้ไม่ได้ ไม่มีน้ำหนัก มีแต่แกลบ ถ้าข้าวมีเนื้อเต็ม มีน้ำหนัก ตัวน้ำหนักมันจะทำให้ข้าวโน้มลงมา อย่างนี้เรียกว่า อ่อนน้อม ถ้าคนอ่อนน้อมได้ แสดงว่ามีคุณธรรมในใจเยอะ มีคุณความดี มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าที่จะอ่อนน้อมเข้าหาผู้ใหญ่ ส่วนคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง บางทีก็ไปแบบ งก ๆ เงิ่น ๆ กลายเป็นลืมที่จะอ่อนน้อม ลืมไปว่า อะไรควรทำ คนที่มีคุณความดีจริงๆ เขาย่อมรู้กาลเทศะ เวลานี้ควรทำอะไร กับคน ๆ คนนี้ ควรมีปฏิสัมพันธ์ กับเขาแบบไหน รู้การเข้าหาคน คนนี้มีฐานะอย่างนี้ เช่น เป็นอาจารย์ เราควรเข้าหาแบบไหน คนนี้เป็นลุง เป็นป้า เป็นปู่ เราควรเข้าไปหาแบบไหน รู้จักฐานะ รู้จักวิธีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีฐานะต่าง ๆ กัน ทางพระพุทธศาสนาจะสอนว่า บุคคลต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์นั้น มีอยู่ด้วยกัน ๖ ฐานะ เปรียบเสมือนทิศที่อยู่รอบตัวเรา ๖ ทิศ ฐานะที่ ๑ พ่อแม่ กับ ลูก เปรียบเสมือนทิศเบื้องหน้า ฐานะที่ ๒ ครูบาอาจารย์ กับ ลูกศิษย์ เปรียบเสมือนทิศเบื้องขวา ฐานะที่ ๓ กับคู่ครอง ก็คือ สามี กับ ภรรยา เปรียบเสมือนทิศเบื้องหลัง ฐานะที่ ๔ เพื่อน กับ เพื่อน เปรียบเสมือนทิศเบื้องซ้าย ฐานะที่ ๕ ผู้บังคับบัญชา กับ ผู้ใต้บังคับบัญชา พูดง่าย ๆ ก็คือ เจ้านาย กับ ลูกน้อง เปรียบเสมือนทิศเบื้องล่าง ฐานะที่ ๖ นักบวช กับ ฆราวาส เปรียบเสมือนทิศเบื้องบน วันหนึ่ง ๆ เราก็มีฐานะเปลี่ยนไปต่างกัน แล้วแต่ว่าขณะนั้นเราอยู่กับใคร แล้วมีวิธีปฏิบัติตัวของแต่ละฐานะต่อกัน ลูกทำอย่างไรกับพ่อแม่ พ่อแม่ควรทำอย่างไรกับลูก..มีหน้าที่ที่ทำต่อกัน ครูมีหน้าที่ทำอย่างไรกับลูกศิษย์ ลูกศิษย์มีหน้าที่อย่างไรต่อครู เพื่อนกับเพื่อน ก็มีหน้าที่ต่อกัน สามีมีหน้าที่อย่างไรกับภรรยา ภรรยามีหน้าที่อย่างไรกับสามี ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ เคารพในหน้าที่ เคารพในฝ่ายตรงข้ามด้วย ระหว่างเจ้านาย กับลูกน้อง ก็มีหน้าที่ต่อกัน หน้าที่ของลูกน้องก็มี หน้าที่ของเจ้านายก็มี นักบวชก็มีหน้าที่ ฆราวาสก็มีหน้าที่ เรียกว่าต่างคนต่างรู้ฐานะของตนเอง มีความเคารพในความเป็นตัวของตัวเอง และเคารพในความเป็นตัวเขาด้วย เขาเป็นเจ้านาย เขาเป็นลูกน้อง เขาเป็นสามี เขาเป็นภรรยา เคารพในความเป็นเขาด้วย แสดงว่ามีความอ่อนน้อมอ่อนโยน ไม่ใช่แข็งทื่อ ถ้าแข็งทื่อ แข็งกร้าว แข็งกระด้าง แข็งข้อ ก็จะไม่ได้พร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ที่ว่ามานี้ ไม่มีใครมาช่วยคุ้มครอง และไม่ปลอดภัย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยาย นิสิตพบพระ มศว.ประสานมิตร ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓ ลิงค์ไฟล์เสียง https://bitps://bit.ly/3bezdtC (นาทีที่ 55:22-1:03:05) #อย่าประมาท

อ่านต่อ