#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๖๐ #การอุทิศให้ผู้ตาย ?? #ถาม​ : สามีของโยมเพิ่งเสียไป​ โยมจะกรวดน้ำให้เฉพาะสามี​ ซึ่งปกติก็จะกรวดน้ำให้พ่อแม่อะไรอย่างนี้นะคะ​ เราจะรวมกันเลยได้ไหมคะเนี่ย? #ตอบ​ : จะรวมก็ได้​ เฉพาะก็ได้​ สมมุติว่า​ คราวนี้ต้องการเจาะจงให้สามี​ ก็ทุ่มให้สามีเต็มที่ตอนนี้..อย่างนี้ก็ได้​ เช่นว่า​ งานนี้เฉพาะสามี​ เราก็เจาะจงไปเลยว่า งานนี้​ ที่ทำบุญมาทั้งหมดนี้นะ..ขออุทิศให้สามี แต่ถ้าเราคิดจะเผื่อไปถึงคนอื่นด้วยก็ได้..ไม่ผิด​ จะเอ่ยชื่อสามีขึ้นมาก่อน​ แล้วค่อยอุทิศขยายรวมทั้งคุณพ่อคุณแม่​ ปู่ย่าตายาย​ อย่างนี้ก็ได้ เพราะว่าบุญนี้อุทิศไปได้..ไม่จำกัด มันไม่ใช่ว่า​ มีข้าวอยู่จานเดียว​ แล้วเรียกสามีมากินข้าวจานนี้..ไม่ใช่อย่างนั้นนะ บุญ​ คือ​ ได้เอาข้าวจานนี้ไปถวายพระ​ แล้วอาการถวายหรือให้ทาน.. เรียกว่า​เป็นบุญ​ เกิดบุญขึ้นมาแล้ว..ก็อุทิศบุญ อุทิศความปลื้มใจ​ ความปีติใจที่ได้ถวายอาหารให้กับพระเนี่ยนะ ให้กับใครก็ได้แล้วคราวนี้​ ให้กับสามีก็ได้​ ให้กับพ่อ​ ให้กับแม่​ ให้กับปู่ย่าตายายได้หมดเลย​ เพราะว่าความปลื้มใจปิติใจเนี่ย..ไม่จำกัด​ มันเป็นอนันต์ คนที่มาดีใจด้วยเนี่ย..ก็ไม่จำกัด สมมุติว่า อาตมาถวายของให้พระ ถวายไปแล้วอาตมาก็ดีใจปลื้มใจ​ คนที่จะมาดีใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้..ก็ไม่จำกัด​ ไม่ใช่ว่าจะดีใจได้คนเดียว​ ใช่มั้ย? อาการดีใจที่ผู้อื่นกระทำบุญ เรียกว่า​ อนุโมทนาบุญ ฉะนั้น การอนุโมทนาเนี่ย..สามีก็อนุโมทนาได้​ พ่ออนุโมทนาได้​ แม่ก็อนุโมทนาได้​ ปู่ย่าตายายก็อนุโมทนาได้ แม้ผู้ที่จำไม่ได้แล้วว่าเกี่ยวข้องเป็นญาติกัน​ตั้งแต่ครั้งไหน ถ้าเห็นแล้วดีใจด้วย..ก็เรียกว่าอนุโมทนา​ นึกออกไหม? แล้วถ้าเราไม่จำกัดว่าเฉพาะใคร​..ใครก็ได้​ “สรรพสัตว์ทั้งหลาย”จงมาอนุโมทนา​ ถ้าเกิดการอนุโมทนาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย​ ก็เรียกว่า​ เกิดการทำบุญครั้งใหญ่​ ก็คือ มีการอนุโมทนาร่วมกันมากมาย​ในครั้งนั้น ถ้าเราไม่จำกัดผู้รับเนี่ยนะ..ผู้ที่จะรับหรือผู้ที่จะมาอนุโมทนา​ก็จะไม่จำกัดไปด้วย​ การที่จะเกิดบุญ​ คืออนุโมทนาบุญครั้งใหญ่​ก็จะเกิดขึ้นได้​ แต่ถ้าเกรงว่าถ้าพูดหลาย​ ๆ​ คนไปเนี่ย​ บุญจะไม่เจาะจง..ก็เอ่ยถึงคนเดียวก็ได้​ ไม่ห้าม​ แต่ถ้าเอ่ยถึงหลาย​ ๆ​ คน..ก็ดีเหมือนกัน การอนุโมทนา​เนี่ย​นะ ให้นึกอย่างนี้ว่า​ การทำบุญเนี่ย..เปรียบเหมือนวัตถุก้อนหนึ่ง​ เป็นบุญก้อนหนึ่ง การที่จะอุทิศให้ผู้อื่น..เป็นบุญอีกก้อนหนึ่ง​ จิตที่คิดจะอนุโมทนา..ก็เป็นบุญอีกก้อนหนึ่ง เราทำบุญแล้ว เช่น ให้ทานเนี่ยนะ​ เปรียบเป็นบุญก้อนหนึ่งแล้วนะ ถ้าจะอุทิศให้ใคร? ใจที่จะเผื่อแผ่เนี่ย..เป็นใจอีกดวงหนึ่ง ก็เปรียบเป็นบุญอีกก้อนหนึ่ง แต่อาศัยว่าเคยมีบุญก้อนแรกเกิดขึ้น​ แล้วอยากจะเอาบุญอันนี้ไปเผื่อแผ่คนอื่น การคิดว่าจะเอาบุญก้อนแรก ไปเผื่อแผ่คนอื่น..เป็นบุญอันใหม่ ส่วนคนที่จะมาอนุโมทนา..เขาต้องมีใจเป็นบุญของเขาเอง ใจที่เป็นบุญของเขา..ก็คือ พลอยยินดีกับการกระทำที่เป็นบุญก้อนแรก พร้อมทั้งดีใจที่เราอุทิศให้ คือดีใจกับบุญก้อนที่สองด้วย จะเห็นได้ว่า ความยินดีนั้นจะสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อ..เราคิดเผื่อแผ่ด้วย หากเราทำบุญแล้ว… ถ้ามีเปรตมารอดู​ แล้วเราไม่เอ่ยชื่อเขา หรือไม่คิดอุทิศให้เขาเนี่ย..เขาจะรู้สึกว่า​ บุญนี้เขาไม่มีส่วนร่วมด้วย​ นี่ในกรณีถ้าเป็นเปรตนะ! แต่ถ้าเป็นคน​ คนเห็นแล้วดีใจ..เขาได้บุญเลย​!เพราะเห็นอยู่เอง ถ้าพ่อแม่อยู่ที่บ้าน​ การทำบุญเกิดขึ้นที่นี่​ พ่อแม่ไม่รู้..ก็ไปบอกเล่า​ให้ท่านทราบ ไม่ใช่จุดธูปที่นี่อุทิศไปให้ท่านนะ​ เข้าใจไหม? คือพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่เนี่ยนะ ต้องไปบอกท่าน ว่าเราทำอะไรไป..ไม่ใช่อุทิศในใจให้พ่อแม่ที่อยู่ที่บ้าน​ อย่างนี้ท่านไม่รู้ ท่านก็ไม่มีโอกาสอนุโมทนา ต้องให้ท่านรู้..มันถึงจะถูกต้อง แต่ถ้าผู้ที่เราต้องการอุทิศให้เนี่ย..เขาเป็นเปรต​ เขามีความเดือดร้อนอยู่​ เขามีความทุกข์ที่เกิดจากอกุศลที่เขาเคยทำ กำลังเสวยวิบากอยู่นี่นะ วิธีช่วยง่าย​ ๆ​ เลย​ ​คือ​ ทำบุญ..แล้วตั้งใจอุทิศให้กับคนชื่อนั้น​ ๆ​ ที่เคยเป็นญาติเรา​ ที่เคยเป็นมิตรกับเรานะ..อุทิศให้เขาไป​ เขาก็จะมีโอกาสระลึกได้ว่า​ “อ้าว!​ ญาติทำบุญ..แล้วอุทิศให้เราอยู่” มันเหมือนเป็นการเรียกชื่อกัน​ “นี่! มาดีใจกับงานครั้งนี้นะ​” “เขาเรียกเราหรอ?”..ก็มาดู “โอ้! เขาทำบุญครั้งนี้​ แล้วให้เรามีส่วนในครั้งนี้ด้วย​ เขาให้เกียรติเรา​ เรียกเราเข้ามาร่วมในการทำบุญในครั้งนี้ด้วย ดีจัง” ..เหมือนเขาได้ร่วมพิธี แล้วยิ่งมีการเอ่ยชื่อด้วย..จะดีใจมาก ฉะนั้น​ ถ้ารู้จักชื่อ..ให้เอ่ยชื่อ​ ถ้าไม่รู้จักชื่อ..ให้นึกถึงหน้า ถ้าไม่รู้จักชื่อ​ ไม่รู้จักหน้า..เช่นได้ยินเสียงกุกๆ กักๆ​ แล้วก็สงสัยว่า​ “เอ๊ะ! นี่คือใคร? เขาต้องการบุญหรือเปล่า?​” ..จะอุทิศให้กับเจ้าของเสียงนั้นก็ได้ พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๕​ กุมพาพันธ์ ๒๕๖๓ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/IVHtM5DrZG4 (นาทีที่​ 1:57:27​ -​ 2:00:40)

อ่านต่อ