#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๗๐ #พึ่งตนเองให้ได้ ?? #ถาม​ : ไม่มีหลาน​ คิดอยากจะไปขอเด็กตามโรงพยาบาล​ มันจะดีหรือไม่ดีคะ? #ตอบ​ : แล้วลูก​ ๆ​ ว่าอย่างไรละ?​ ลูก​ ๆ​ เห็นด้วยไหม? #ถาม​ : ลูกเห็นด้วยค่ะ​ แต่ลูกชายคนโตไม่เห็นด้วยนะคะ​ แต่คนเล็กเขาชอบ​ ก็อยากได้ค่ะ #ตอบ​ : แล้วเราอยู่กับใคร? เราอยู่คนเดียวหรือว่าอยู่กับลูกชายคนโตหรือคนเล็ก? #ถาม​ : เราก็อยู่กันสองตายายอยู่ที่บ้าน​ แต่ว่าลูกเขาทำงานอยู่ที่ศรีราชาค่ะ #ตอบ​ : ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเรา​ แล้วก็คนในครอบครัวเรา​ แต่ถ้าที่บ้านเราอยู่กันลำพังสองตายาย​ หากต้องการจะเลี้ยงเด็ก​ ก็สามารถทำได้​ แต่ก็ต้องยอมรับภาระนะ​ มันมีภาระนะ​ ถ้าเรายอมรับภาระนั้นได้..ก็ไม่มีปัญหาอะไร #ถาม​ : แต่ลูกชายเขาพูดว่า​ “อยากได้เด็กสักคนมาเลี้ยง​ เพื่อว่าจะได้ดูแลตอนแก่เฒ่า​ ก็จะให้พ่อแม่เป็นคนดูแลให้ซักระยะหนึ่ง​ หมายถึงคือ สองปี​ พอเด็กจะเข้าโรงเรียน​ พวกผมก็จะเอาไปเลี้ยงเอง” #ตอบ​ : ก็ดีนะเป็นการสงเคราะห์เด็ก​ ใช้ได้อยู่นะ​ ที่นี้เราก็​ ดูก็แล้วกัน​ เวลาไปรับสงเคราะห์​ เราก็ต้องไปดูเด็กด้วยใช่ไหม? แล้วเด็กเนี่ย..ก็ต้องยอมรับเราด้วย​ ทั้งสองฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน​ ปัญหามันก็น่าจะน้อยลง #ถาม​ : แต่ว่าลูกเขาบอกว่าจะไปเอาแบบแดง​ ๆ​ มาเลยนะเจ้าคะ #ตอบ​ : แบบแดง​ ๆ​ ก็ได้​ ยิ่งง่ายขึ้น..แต่เอ๊ะ!​ มันจะได้มายังไงละ? แบบแดง​ ๆ #ถาม​ : แบบแดง​ ๆ​ หมายถึงว่า​ จะเป็นเด็กน้อยมา​ ที่แบบว่าไม่โตมา​ มาเลี้ยงเหมือนลูกของเราเขาบอก #ตอบ​ : แล้วมันจะมีที่มาอย่างนี้ได้อย่างไร? อาตมาไม่เข้าใจเหมือนกัน​ #ถาม​ : ก็คงเลี้ยงประมาณสักห้าเดือน​ หรือสิบเดือนน่ะเจ้าค่ะ #ตอบ​ : ถ้ามี​ แล้วก็พ่อแม่เด็กนั้นเต็มใจด้วย​ ก็ไม่เป็นไรนะ​ น่าจะได้นะ​ คือที่มาเนี่ย​ ควรจะเป็นที่มาที่ถูกต้องด้วย​ เป็นการยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย #ถาม​ : ต้องไปเอาตามโรงพยาบาล​ ที่สถานสงเคราะห์อะไรพวกนี้นั้นเจ้าค่ะ​ #ตอบ​ : อย่างนั้นก็น่าจะได้อยู่ #ถาม​ : คงจะดีกว่า​ ที่เราไม่มีใครเลยนะเจ้าคะ? #ตอบ​ : อ๋อ..! อันนี้​ เราถือว่าเราทำบุญก็แล้วกัน​ ถือว่าเราทำบุญสงเคราะห์คน​ ๆ​ หนึ่ง​ขึ้นมา จากที่ว่าเขาอาจจะกำพร้าพ่อแม่อย่างนี้นะ..เราสงเคราะห์เขา​ ส่วนเขาจะดีแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับว่า (๑) เราอบรมสั่งสอนเขาด้วย​ แล้วก็มันก็ (๒) ขึ้นอยู่กับเขาด้วย​ ว่าเขาเนี่ยมีพื้นฐานมาแค่ไหน แต่จริง​ ๆ​ ไม่ว่าพื้นฐานเขามาอย่างไรก็แล้วแต่..ขอให้เรามีความจริงใจในการดูแลอบรมเขา​ เขาก็น่าจะเห็นความจริงใจในการดูแลอบรมของเรา​ เลี้ยงดูเขาอย่างนี้นะ! เขาน่าจะมีความกตัญญู​ ถ้าเขาเห็นเรา​เลี้ยงดูแบบไม่ใช่ว่าโหดร้ายอย่างนี้นะ..ก็น่าจะมีความกตัญญู​ แล้วก็​ “ไอ้ตัวความคาดหวัง” เนี่ยนะ ..เราอาจจะคาดหวังได้​ แต่ว่าส่วนเขาจะทำตามที่เราคาดหวังหรือเปล่าเนี่ย.. อย่าเพิ่งไปคาดหวังร้อยเปอร์เซ็นต์นะ ลูกแท้​ ๆ​ ก็ยังบางทีตอนเราแก่ก็อาจจะไม่เลี้ยงเราด้วยซ้ำ ใช่ไหม? หลานแท้​ ๆ​ ก็อาจจะไม่มาเลี้ยงเรา คือในอนาคตเนี่ยนะ​ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าสังคมของเราเนี่ย​ มันจะเป็นสังคมที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องของสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ในอนาคต​ เด็ก​ ๆ​ ในยุคนี้ก็จะมีภาระอะไรของเขามากขึ้น​ ที่จะมารับเลี้ยงดูเราเนี่ยนะ..มันอาจจะหวังได้​ แต่อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเราก็ถือว่า​ เราทำบุญก็แล้วกัน จริง​ ๆ​ แล้ว เราควรจะฝึกตนเอง​ให้อยู่ได้ แม้ไม่มีใคร​ จะปลอดภัยที่สุด ส่วนเรื่องที่ว่าจะสงเคราะห์เด็ก..ก็สงเคราะห์ได้​ แต่ถ้าสงเคราะห์ด้วยความคาดหวังว่าจะให้เขามาเลี้ยงดูเราเนี่ยนะ​ บางทีอาจจะผิดหวัง​ เข้าใจไหม? ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุด ก็คือ ทำอย่างไรเราจะฝึกให้เราสามารถอยู่ได้คนเดียว​ แม้ไม่มีใคร สมมุติว่าเขาเป็นเด็กดี​ แต่เผอิญ​ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปก่อน​ เราก็ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง​ นึกออกไหม? ไม่ใช่ว่าเราจะเลี้ยงเขาแล้ว​ แล้วเขาจะต้องอยู่กับเรา เลี้ยงดูเราตอนเราแก่​ ตอนที่เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อะไรอย่างนี้นะ​ จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าที่เขาจะมีชีวิตมาเลี้ยงดูเรา​ นึกออกไหม? จริง​ ๆ​ แล้วเนี่ย​ ต้องพิจารณาความตายของตนเอง และพิจารณาความตายของคนอื่นเขาด้วย​ บางทีเราอาจจะตายก่อน​ บางทีเขาอาจจะตายก่อน​ ถ้าเราคาดหวังว่าต้องการคนมาเลี้ยงดูเราตอนแก่เนี่ยนะ​ บางทีเราคาดหวัง..แล้วเราจะผิดหวัง แต่ถ้าเราต้องการจะสงเคราะห์คน​ ๆ​ หนึ่ง เขาจะเลี้ยงดูเราก็ได้​ ไม่เลี้ยงก็ได้ อย่างนี้นะ​ ความคาดหวังจะน้อย หรือไม่มี ส่วนพอเราสงเคราะห์ด้วยใจจริงไม่คาดหวัง บางทีเขากลับเห็นคุณความดีของเราชัดเจน​ แล้วเขาก็กตัญญูกตเวทีเอง​ นึกออกไหม? ฉะนั้นเวลาทำ..แม้ว่าอาจจะแอบคาดหวังอยู่บ้าง​ ว่าให้เขามาเลี้ยงดูนี่นะ​ แต่ความคาดหวังนั้น​ ถ้ามากเกินไป​ จะกลายเป็นตัณหา​ แล้วก็อยากให้เขามาตอบสนองความต้องการของเรา​ ไอ้ความต้องการแบบนี้..จะทำให้เรา​บางทีตัดสินใจทำอะไร​ผิดพลาดไป​ เช่น ไปพูดกดดันเขา ถ้ารู้ไม่ทัน เราจะกลายเป็นผู้ทวงบุญคุณในอนาคต​ นึกออกไหม? ตอนที่เรา “สร้างบุญคุณ” กับใคร..ตอนนี้ดี​ แต่ตอนที่ “ทวงบุญคุณ” นะ..จะทำให้คุณความดีทั้งหมดเนี่ย​ หายหมดเลย​ ! คือถ้าเราตั้งความหวังไว้ อย่างที่โยมบอกเนี่ยนะ​..มันจะทำให้มีโอกาสมากเลยที่เราจะผิดหวัง​ และบางทีอาจจะมีคำพูดที่ไปเชือดเฉือนน้ำใจ​ ประเภททวงบุญคุณ “ทำไมเนี่ย? ฉันอุตส่าห์เลี้ยงแกมา​ เก็บแกมาจากกองขยะ​ แกไม่เลี้ยงดูฉันตอบเลย”..ประมาณนี้นะ! พูดคำพูดแบบแรง​ ๆ​ มันจะออกมา​ ตอนที่เราผิดหวังหนัก​ ๆ​ ฉะนั้น ความคาดหวังแบบนี้​ มันก็จะทำด้วยตัณหาใช่ไหม? เราก็อยากให้เขามาสนองความต้องการของเรา ให้เขามาทำให้เรามีความสุข..นี่​คือตัณหา แต่ถ้าทำด้วยฉันทะ​ หรือว่าด้วยกรุณา..การแสดงออกของเราก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง​ เราทำกรุณา​ เจริญกรุณา​ คือได้เลี้ยงดูเขา​ ได้สงเคราะห์เขาแล้ว​ งานนี้หมดแล้ว​ เขาจะไปได้ดี..เราก็ดีใจด้วย​ เขาจะไม่กลับมาเลี้ยงดูเรา..เราก็ไม่ได้ว่าอะไร​ เราก็มีที่พึ่งของเรา​ คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง อย่างนี้นะ! ถ้าได้ที่พึ่งอย่างนี้ก็ปลอดภัย ต้องเตรียมตัว..​ แม้จะต้องป่วยอยู่คนเดียว​ ไม่มีใครมาดูแล.. เราก็อยู่ได้​ ดูกายนี้มันตายไป​ เห็นกายเป็นก้อนทุกข์​ ก้อนทุกข์มันจะตายไป​ เสียดายทำไม? ต้องทำให้ได้ขนาดนี้นะ ปัจจุบัน..ฝึกรู้ทันกิเลส รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย ว่ามันไม่เที่ยง เป็นอนัตตา อนาคต..อย่าไปหวังว่าใครจะมาเลี้ยงดูเรา​ ถ้าเขามีคุณความดี​ มีความพร้อมพอ..เขาจะมาเลี้ยงดูเราเอง​ มาสงเคราะห์​ หรือมาแสดงความกตัญญูกตเวทีเอง​ ก็ถือว่า กุศลส่งผล มีเหตุดี ผลก็จะดี ทีนี้มันขึ้นอยู่กับว่า..เราสร้างเหตุแบบไหน? เราเลี้ยงดูเขาแบบไหน?​ เลี้ยงดูแบบมีกรุณา​ มีเมตตา​โดยส่วนเดียว​ ไม่คิดจะทวงบุญคุณ​ อย่างนี้นะ!..เขาจะยิ่งเห็นบุญคุณของเรา​ แต่ถ้าเราทำเหมือนการลงทุน “เนี่ย!​ เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง​ เพื่อผลกำไรในภายหน้า​ พอเขาโตแล้ว​ เขาจะต้องเลี้ยงดูเรา” คิดเหมือนทำธุรกิ​จ​ ทำการลงทุน​ในชีวิตอีกแบบหนึ่ง​อย่างนี้ มีความคาดหวังขึ้นมา​ ความคาดหวังอย่างนี้..จะทำให้เราผิดหวัง​ หรืออาจจะทำให้เรามีการแสดงออกทางกายทางวาจาที่ไม่เหมาะไม่ควร.. นี่พูดเผื่อเอาไว้ ! ฉะนั้น อย่าไปวาดหวังอะไรมากมาย​ เกี่ยวกับว่าเด็กคนนี้จะต้องเป็นคนดีอย่างนั้นอย่างนี้ คือเราสามารถรับได้ไหม..แม้ในกรณีที่ว่าเขาไม่มาตอบแทนบุญคุณเรา​ รับได้ไหม​? นึกออกไหม? ไม่งั้นเราจะวาดฝันสวยหรู​ ชีวิตต่อไปนี้จะมี​เด็กคนนี้คอยดูแลเรารับใช้เรา​ บางทีวาดหวังมากเกินไป​ เข้าใจไหม? #ถาม​ : ทุกวันนี้ตายายก็อยู่กันสองคนอยู่แล้วนะเจ้าคะ #ตอบ​ : ให้ตายายเนี่ยนะ..ฝึกกรรมฐาน​ ให้ทาน​ รักษาศีล​ เจริญภาวนา​ พร้อมที่จะตายกันอยู่สองคนเนี่ย​ แม้ไม่มีใครมาดูแล..เราก็อยู่กันได้​ ใครตายก่อน..ก็ไปก่อน​ รอก็แล้วกันนะ​ ฉันไปทีหลัง..ฉันก็มีโอกาสภาวนานานขึ้นหน่อยหนึ่งเท่านั้นเอง​ เห็นความจริงของร่างกาย​ เห็นความจริงของจิตใจของเราไปดีกว่า แต่ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้สงเคราะห์เด็กนะ! โยมจะเอาเด็กมาสงเคราะห์ก็ได้นะ นี่พูดที่ว่านี้​ คือไม่ได้ห้ามสงเคราะห์​ แต่ให้เตรียมใจในแง่นี้ไว้บ้าง​ พอเข้าใจนะ #ถาม​ : ลูกชายเขาหวังแค่ว่า​ อยากให้มีใครสักคน​ มาอยู่ในตระกูลของเรา​ ก็แค่นั้นเจ้าค่ะ #ตอบ​ : มันก็เป็นความหวังแล้วใช่ไหมล่ะ? อาจจะผิดหวังก็ได้ใช่ไหม? ลูกชายเขากะว่าจะหาผู้ช่วยมาดูแลแม่ใช่ไหมละ? เราบอกลูกไปเลยว่า​ “ไม่จำเป็น​ ไม่มี​ก็ไม่เป็นไร” ​ เราฝึกตนเอง​ ให้เป็นที่พึ่งของตนให้ได้ดีกว่า​ มั่นใจกว่า​ ฝึกตนเอง เราจะป่วยจะเจ็บยังไง? ถ้าจิตใจไม่ป่วยไม่เจ็บ..ก็ไม่เป็นไร​ ใช่ไหม?​ มันอยู่ที่จิตใจต่างหาก​ ขากระเผก​ ก็กระเผกไป.. ดูไป​ กายเป็นทุกข์อย่างนี้​ กายมันก้อนทุกข์อย่างนี้..ดูไป แต่ถ้ารักษาได้ก็ต้องรักษามันไว้นะ​ รักษามันไว้​ รักษาเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าที่สุดแล้วเนี่ย..มันรักษาไม่ได้แล้ว​ มันก็แสดงความจริงของร่างกายนี้ ในที่สุดแล้วกายมันก็ถูกบีบคั้น​ กายเป็นก้อนทุกข์​ มันถูกบีบคั้นอยู่เสมอ..เห็นความจริงของกายไป​ แต่ไม่ใช่หดหู่ท้อถอย​ เห็นความจริงด้วยใจเบิกบาน​ นึกออกไหม? ถ้าเบิกบานไม่ได้..ก็ใจอุเบกขา​ มีสองอย่าง​ อนุญาตให้ใจสองแบบ​ แบบเบิกบาน​ กับอุเบกขาวางเฉย​ ไม่ทุกข์กับมัน​ ไม่หดหู่กับมัน​ ใจเป็นกลาง เห็นความจริง​ เห็นทุกข์..แต่ใจไม่ทุกข์​ เห็นกายเป็นทุกข์..แต่ใจไม่ทุกข์​ ฝึกให้ได้​ ทำที่บ้านของเรา​ ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของเราไป แล้วก็ทำกิจวัตรที่บ้านให้เป็นวัดไปเลยก็ได้ ให้มีการสวดมนต์ทำวัตร​พร้อม​ ๆ​ กัน สองคนตายาย​ มาสวดมนต์พร้อมกันก็ได้​ ชวนกันทำ​ เป็นกำลังใจให้กัน​ นี้ในกรณีที่ว่าเสียงสวดมนต์สองคนเข้ากันนะ​ ถ้าสวดแล้ว​ เสียงไม่เข้ากัน..ก็แยกกันสวด​ ถ้าสวดมนต์เสียงเข้ากัน..ก็สวดพร้อมกัน​ สวดไม่เก่ง​ ถ้าสวดกันได้..เราก็เป็นเสียงนำ​ ให้ตาก็คลอไป​ เป็นเพื่อนกันก็ดี เป็นเพื่อนคู่ชีวิตในการที่จะพัฒนาจิตใจไปด้วยกัน​ โดยหลักการที่พูดมาทั้งหมดนี้​ ก็คือว่า ..ฝึกตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนให้ได้ แล้วก็ถ้าลูกกังวลเรื่องไม่มีคนดูแล​ ก็บอก..”ไม่ต้องกังวล” ลูกไม่มีเวลา..ก็ไม่เป็นไร คือเราก็เข้าใจลูก​ ลูกมีภาระ ไม่มีเวลามาดูแลเรา..ก็ไม่เป็นไร​ ไม่ต่อว่าลูก ไม่ต้องไปรอคอยด้วยนะ​ ไม่ใช่มานั่งชะเง้อ “เมื่อไหร่จะมา?“ ก็หาวิธีดำรงชีพของเราต่อไป​ ดำรงชีพเท่าที่จะเป็นไป​ ชีวิตอยู่ขณะนี้จนถึงวันตาย​ ก็ให้เป็นเวลาของการพัฒนาจิตใจของเราให้มากที่สุด เด็กอาจจะดีก็ได้นะ​ อาตมาไม่ได้ว่า​ ไม่ใช่ว่าเด็กจะไม่ดีนะ​ เด็กอาจจะดีก็ได้ ก็คือมันอาจจะดีก็ได้​ แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ใช่ไหม? แม้แต่ครอบครัวเดียวกันนะ​ พี่น้องบางทีบางคนก็อาจจะแหวกเหล่าแหวกกอออกมา​ เลี้ยงดูก็เลี้ยงดูด้วยพ่อแม่คู่เดียวกัน​ บรรยากาศก็แบบพอ​ ๆ​ กัน ใช่ไหม? แต่บางทีจะมีแหวกออกมา​ นับประสาอะไรกับคนข้างนอก ถ้าเราทำด้วยความกรุณา​ เห็นเด็กเดือดร้อน​ ก็อยากจะช่วยเหลือสงเคราะห์คน​ ๆ​ หนึ่ง​ขึ้นมา​ อย่างนี้นะ​ ทำด้วยไม่ต้องคาดหวังว่าเขาจะมาเลี้ยงดูเรา.. อย่างนี้น่าจะได้กุศลกว่า ถ้าทำด้วยความคาดหวัง บางทีอาจจะผิดหวังนะ​ ก็ต้องเตรียมใจตรงนี้ด้วย​ ถ้าคิดจะรับมาเลี้ยงดูด้วยใจที่คาดหวัง..มันออกแนวที่เรียกว่ามีตัณหา มีความคาดหวังว่าเด็กคนนี้จะมาสนองความต้องการเรา​ ทำให้เรามีความสุข อย่างนี้​หวังพึ่งเด็ก​ มันไม่ได้หวังพึ่งตนเอง​ ถ้าหวังพึ่งตนเอง​ มันจะฝึกตนเอง​ ฝึกตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้ รู้ว่าต่อไปเราต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย​ ทำอย่างไรที่จะให้อยู่กับสภาพแก่เจ็บตายโดยที่จิตใจไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้​ คิดพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเองให้ได้​ ไม่ใช่ว่าทำยังไงจะพัฒนาเด็ก​ ให้เด็กเป็นที่พึ่งของเรา​ ซึ่งความคิดแบบนี้มันไม่เป็นอิสระ​ ไม่มีอิสระในการที่จะมีความสุข​ เพราะว่าเด็กมันจะดีหรือไม่ดี? ก็ยังไม่แน่ใช่ไหม? ก็เรียกว่าหวังพึ่งผู้อื่นเนี่ย..มันไม่แน่นอน ต้องเอาตนเองให้เป็นที่พึ่งให้ได้​ อย่างนี้แน่นอนกว่า พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๓

อ่านต่อ