#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๗๑ #แหกพรรษา ?? #ถาม : เนื่องจากผมจะบวชในระหว่างพรรษาเพียง ๒ เดือน เพราะทางวัดมีโควต้าให้แค่นั้น แต่แม่ผมมีความเชื่อว่าบวชระหว่างพรรษาไม่ดี แล้วแม่ก็กังวลใจ จนไม่อยากให้บวช แม้กระทั่งยังมีญาติๆ ก็ซักถามมาว่า “บวชระหว่างพรรษาได้หรือ? พระเขายอมบวชให้หรือ?” ผมจะอธิบายกับแม่และญาติๆ อย่างไรดีครับ #ตอบ : บวชได้นะ ไม่มีข้อห้ามใดๆ ทั้งทางพระธรรมและพระวินัย เข้าใจว่าที่แม่และญาติๆ ของโยมกังวลใจ อาจจะเป็นเพราะไปโยงกับสำนวนไทยที่ว่า “แหกพรรษา”!!! แหกพรรษา หมายถึง พระที่อธิษฐานจำพรรษาตลอดสามเดือนที่อาวาสใดแล้วอยู่ไม่ครบตามที่อธิษฐานไว้ ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น หรือสึกออกไป ซึ่งการแหกพรรษาก็มักจะมีสาเหตุมาจากเรื่องไม่ดีไม่งาม น่าติเตียน เช่น – ทะเลาะวิวาทกับพระรูปอื่นในวัด จนอยู่ร่วมกันไม่ได้ – ดื้อด้าน ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของเจ้าอาวาส จนถูกไล่ออกจากวัด – ไม่อดทนต่อคำสอนของครูบาอาจารย์ หาทางหนี – ประพฤติเสียหาย จนชาวบ้านรวมตัวกันขับไล่ อยู่ต่อไปไม่ได้ – ร้อนรนด้วยไฟกิเลส ทนประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปไม่ไหว เรียกว่า “ผ้าเหลืองร้อน” เป็นต้น แต่ในกรณีของโยมนี้ ทางวัดมีโควต้าให้แค่นั้น แสดงว่าคงจะเป็นวัดที่มีผู้ประสงค์จะไปบวชเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางวัดอาจจะจำเป็นต้องแบ่งเวลาให้แต่ละคนอย่างเหมาะสม และโยมได้ส่วนแบ่งมา ๒ เดือน เมื่อหมดเวลาก็จำเป็นต้องออกจากวัด ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ต้องยอมรับร่วมกันตั้งแต่ก่อนบวชอยู่แล้ว ถ้าตลอดเวลา ๒ เดือนที่ว่า ไม่ได้ไปทำเรื่องไม่ดีไม่งามดังที่กล่าวมา ก็ไม่เข้าเกณฑ์ของคำว่า”แหกพรรษา”ข้างต้น ..สบายใจได้ ขอให้ใช้เวลา ๒ เดือนนี้ให้คุ้มค่าที่ท่านอุตส่าห์แบ่งเวลาให้ ก็ควรได้ประโยชน์ของการบวชให้มากที่สุด คือ – ทำหน้าที่ในฐานะพุทธศาสนิกชน นำตนมาศึกษาพระธรรมวินัย เรียนรู้แล้วประพฤติตาม ให้พระธรรมวินัยอยู่ในชีวิตของเรา ก็จะเท่ากับเราใช้ชีวิตรักษาพระพุทธศาสนา มีชีวิตที่ดีงามด้วยธรรม นอกจากตนเองจะได้ประโยชน์แล้ว ผู้อื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย สังคมก็พลอยร่มเย็น เรียกว่า “สืบอายุพระศาสนาด้วยชีวิตของเราเอง” – ได้สนองคุณพ่อแม่ เพราะเรากำลังมาเพิ่มต้นทุนที่ดีให้ชีวิต ด้วยการเข้ามาฝึกฝนอบรมกับครูบาอาจารย์ พ่อแม่เห็นเราบวชพระ ก็คิดถึงพระ รวมทั้งคิดถึงครูบาอาจารย์และคิดถึงพระพุทธเจ้าบ่อยขึ้นด้วย ยิ่งเมื่อเห็นลูกเจริญก้าวหน้า มีการศึกษาในทางที่ถูก ท่านก็พลอยมีความสุข และได้ใกล้ชิดพระศาสนายิ่งขึ้น ยิ่งถ้าท่านไม่ค่อยมีศรัทธา แล้วเราสามารถชักจูงให้ท่านมีศรัทธา, ท่านไม่มีศีล เราชักจูงท่านให้รักษาศีล, ท่านไม่ภาวนา เราชักจูงให้ท่านภาวนา ก็ยิ่งเป็นการตอบแทนพระคุณของท่านที่ดีกว่าการตอบแทนด้วยวัตถุสิ่งของใดๆ – ประโยชน์ ๒ ข้อแรกจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องหมั่นฝึก หมั่นศึกษาพัฒนาตน ทั้งพฤติกรรมทางกายวาจา และพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง รวมทั้งมีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามที่เป็นจริง ขอให้บวชแล้วก็จงเป็น “สุปฏิปันโน” ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้สมกับความตั้งใจเทอญ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓

อ่านต่อ