#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เก็บดอกเบี้ยมาทำบุญ #อาชีพปล่อยเงินกู้ ?? #ถาม : ทำอาชีพปล่อยเงินกู้ เก็บดอกเบี้ยมาทำบุญจะได้บุญไหม? #ตอบ : ต้องถามกลับสักหน่อยว่า ดอกเบี้ยโหดรึเปล่า? คือก็เหมือนเป็นอาชีพนะ เป็นอาชีพที่เหมือนธนาคาร ปล่อยกู้..ก็ต้องมีผลประโยชน์บ้าง เราก็ปล่อยกู้ไป ก็ต้องได้รับผลประโยชน์บ้าง แต่ผลประโยชน์ที่เราได้เนี่ยลองประเมินดูว่ามันโหดไหม? หมายถึงว่าคนที่เอาไปเดือดร้อนไหม? ถ้าพอดี ๆ ไม่มากเกินไป-ไม่น้อยเกินไป ก็ไม่เป็นไร “ไม่น้อยเกินไป” คือเราก็สามารถอยู่ได้ เพราะเราก็ต้องมีครอบครัว มีบุตร มีหลาน มีบริวารที่ต้องเลี้ยง ก็ต้องมีรายได้ รวมทั้งตัวเราเองก็ต้องกินต้องอยู่ อีกประการหนึ่ง ในการให้เขากู้ยืมเงินไปก็ต้องมีหลักประกันว่าเขาจะต้องทำงานมีรายได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเอาเงินไปใช้จ่ายอย่างเดียว เราก็ต้องคิดดอกเบี้ย เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขา“ต้องทำเงินนั้นให้งอกเงย” ให้มีรายได้ขึ้นมาเพื่อจะมาจ่ายดอกเบี้ยให้เรา ก็ต้องดูว่าดอกเบี้ยนั้นมากหรือน้อยเกินไปรึเปล่า? ถ้ามันพอดี ๆ รายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้นี้ถือว่าเป็นรายได้โดยชอบ จะเอามาทำบุญ จะเอามาลงทุนอะไรต่อก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นการทำอาชีพที่ผิดกฏหมายอะไร และไม่ผิดธรรมะอะไรด้วย ไม่ผิดศีลด้วย ถือว่าเป็นการเลี้ยงชีพอย่างหนึ่ง แต่ต้องดูตรงนี้..คือดอกเบี้ยอัตรามันเป็นอย่างไร? อีกประการหนึ่ง ดูใจตนเองด้วย..ตอนพิจารณาให้ใครยืม ใครกู้ “เราให้ด้วยใจแบบไหน?” เช่น ให้ด้วยใจสงเคราะห์อนุเคราะห์ หรือว่ามีกรุณา คือที่เขามาหยิบยืมกู้เงินเรา แสดงว่าเขาเดือดร้อน เวลาเราเห็นคนอื่นเดือดร้อน เราให้เขาด้วยการสงเคราะห์เท่ากับว่าเรากำลังเจริญกุศลตัวหนึ่ง เรียกว่า “เจริญกรุณา” แต่ถ้าคิดค้ากำไร..มันจะคิดอีกแบบหนึ่ง “อ้า..นี่มาอีกแล้ว..เหยื่อ เหยื่อมาแล้ว” ถ้าเราคิดอย่างนี้ “คิดโลภ” อย่างนี้ ถ้าเขาไม่ใช้คืน เราก็จะหานักเลงไปข่มขู่ เพื่อให้เขาใช้เงินเราคืนมา หรือว่าไปยึดทรัพย์สินอย่างอื่นมาทดแทนอะไรอย่างนี้นะ เราก็จะกลายเป็น ไม่ใช่คนที่ทำมาหากินที่เขายกย่อง ก็ควรจะอยู่ในร่องที่เป็นเรื่องของการเจริญพรหมวิหาร เมตตา คือในเวลาที่เราเห็นเขาอยู่ในสภาพปกติ ปรารถนาให้คนมีความสุข กรุณา คือตอนที่เขาทุกข์ ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ แต่จะช่วยเฉย ๆ เนี่ย มันจะกลายเป็นว่าหยิบยื่นให้เขาง่าย ๆ เขาอาจจะได้ง่าย ๆ จนเขาไม่ไปพัฒนาตนเอง มันมีอย่างนี้ด้วยนะ คือถ้าผู้ได้รับความช่วยเหลือได้รับอะไรง่ายเกินไป เขาก็คิดจะทำวิธีนี้ล่ะ..ขอเรื่อยๆ ยิ่งยืม..โดยที่ไม่มีดอกเบี้ยเนี่ยนะ ถ้าเขาคิดว่าถ้า ‘เราเดือดร้อนเมื่อไหร่ก็ไปหาทางนี้’ แล้วก็ไม่คิดขวนขวายที่จะพัฒนาตนเอง ไม่คิดที่จะไปทำการค้าขาย หรือทำอาชีพอะไรให้ได้มีรายได้งอกเงยขึ้นมา คิดว่า ‘มาขอแล้วเดี๋ยวหมดเงินก็ขอใหม่’ อย่างนี้ก็อาจจะเป็นภาระต่อไปเรื่อย ๆ เขาเองจะไม่พัฒนา ถ้าเราคิดว่าจะฝึกหัดพัฒนาเขา อาจจะไม่ให้แค่เงินอย่างเดียวก็ได้ อาจจะให้ช่องทางในการทำมาหากิน หรืออาจจะแนะนำเขา พูดจาแนะนำ เรามีประสบการณ์มามากกว่าเขา จึงมีรายได้หรือมีทรัพย์สินมากพอให้เขาหยิบยืม แสดงว่าเรามีประสบการณ์ บางทีมุมมองธุรกิจอะไรต่าง ๆ วิสัยทัศน์จะกว้างไกลกว่าเขา หรือเห็นช่องทางได้มากกว่าเขา ก็ลองแนะนำเขาดู แนะนำเขาให้เขาได้พัฒนาตนเอง ให้เขาพึ่งตนเองให้ได้ การช่วยเหลือเขา ไม่ได้คิดหวังว่าจะเอาทรัพย์สินของเขา หรือว่าจะเอาดอกเบี้ยของเขา แต่ต้องมีดอกเบี้ยเป็นเครื่องผูกมัดเขาว่า เขาจะต้องเอาทรัพย์ที่หยิบยืมไปทำให้งอกเงยขึ้นมาให้ได้ คือเป็นเครื่องกระตุ้นเขานั่นเอง ดังนั้นไอ้ตัวกระตุ้นเนี่ย ก็ต้องประเมินให้ดีว่า ไอ้ตัวกระตุ้นนั้นเป็นตัวกระตุ้นจริง ๆ ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป อันนี้ลองไปประเมินเองก็แล้วกัน แล้วก็ให้ด้วยใจกรุณา คือ ให้เขาไปพัฒนาตนเอง ประการแรก การให้ในระยะต้น คือให้เขาพ้นความเดือดร้อนเฉพาะหน้าตรงนี้ก่อน ประการที่สอง ถ้าสามารถทำได้ คือต้องเอื้อให้เขาไปพัฒนาตนเองให้ได้ด้วย ด โดยหมายรู้ในใจว่า ถ้าพัฒนาให้เขาจนไม่กลับมาหาเพื่อขอเราอีก แสดงว่าเขาไม่เดือดร้อนแล้ว อย่างนี้เป็นจุดมุ่งหมายที่พึงได้ ในการช่วยเหลือเขาครั้งนี้ ถ้าให้เขาน้อยไป ก้อนนี้ให้น้อยไปแล้วเขากำลังจะไปได้ดีแล้ว อาจจะต้องมีอีกก้อนหนึ่งสนับสนุน ถ้าเขามาขออีกว่า “แหม..มันยังขาดมืออยู่” ด้วยสายตาด้วยปัญญาของเรา เราประเมินเขาแล้วว่า เขาเอาไปทำจริง เขาไปลงทุนจริง เขาไปทำงานจริง เขาไปพัฒนาตนเองจริง เราอาจจะต้องสนับสนุนเขาเพิ่มอีก ให้ต่ออีก ก็ต้องพิจารณาดู แต่ถ้าดูแล้วประเมินแล้วมันเอาไปทำอะไรเนี่ย? มันยืมเราไปปุ๊บ แล้วมันไปกินเลี้ยงเลยเนี่ยนะ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรต่อเลย พอเงินมันหมดแล้วก็มาขออีกอย่างนี้นะ เราก็ไม่ควรให้ต่อ ก็ลงในหลักที่พ่อของนางวิสาขาสอนเอาไว้ “ให้กับคนที่เขาให้” หมายถึงว่าใครหยิบยืมเราไป แล้วเขาให้คืนเรา แล้วเขามายืมอีก..ก็ให้ “อย่าให้กับคนที่ไม่ให้” คือเขายืมไปแล้วไม่ให้คืนเลย ยืมแล้วสูญเปล่า อย่างนี้ก็ควรที่จะไม่ให้แล้ว ควรพิจารณาว่า เขาเอาไปแล้วแทนที่จะเอาไปพัฒนาตนเอง หรือว่าแทนที่จะไปฝึกให้เขาได้เจริญขึ้น กลับกลายเป็นว่าเขากลายเป็นคนงอมืองอเท้า แล้วไม่คิดที่จะทำอะไรที่จะพัฒนาตนเองต่อ ก็น่าจะไม่ส่งเสริมเขา มันจะทำให้เขาจมไปมากกว่านี้ ก็คือ “ไม่ให้กับผู้ที่ไม่ให้” นี่เป็นคำสั่งสอนที่พ่อของนางวิสาขาสั่งเอาไว้ “แต่ถ้าเป็นญาติ อย่างไรก็ต้องให้” พ่อนางวิสาขาสอนอย่างนี้ ถ้าเป็นญาติถึงเขาไม่ให้คืน ก็ให้ ท่านว่า “ให้กับคนที่ทั้งให้และไม่ให้” อันนี้ในกรณีที่เป็นญาติกัน ก็พิจารณาดูก็แล้วกันนะ ถ้าคนที่มาหยิบยืมนั้นเขาเป็นญาติ อันนี้เราจำเป็นก็ต้องสงเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ให้ช่วยสอนเขาด้วยก็แล้วกัน ในฐานะที่เราเป็นที่พึ่งของเขานะ แทนที่จะให้เงินหรือให้ทรัพย์อย่างเดียว ควรให้ความรู้เขาด้วย เหมือนที่เขาพูดกันว่า “แทนที่จะเอาปลาไปให้เขาตลอดเวลา ก็ควรสอนเขาตกปลาด้วย จึงจะเป็นการช่วยเขาที่ยั่งยืนขึ้น” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://youtu.be/plY81DBOAx0 (นาทีที่ 37.20-46.26 https://youtu.be/plY81DBOAx0?t=2248)

อ่านต่อ