#นิมฺมโลตอบโจทย์ #คำบริกรรม #เจริญสติปัฏฐาน๔ #จุดตั้งต้น #ถาม : ถ้าภาวนา “สัมมาอรหัง” จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้ไหม? #ตอบ : ได้นะ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้ “สัมมาอรหัง” เป็นเพียงคำบริกรรม ถ้าใจอยู่กับคำบริกรรมนี้ ก็เรียกว่าทำสมถกรรมฐานโดยมีคำว่า “สัมมาอรหัง” เป็น​อารมณ์​ ถ้าใจอยู่กับอารมณ์นี้ไม่ดิ้นไปไหน เรียกว่าจิตสงบ ก็จะได้ “สมถกรรมฐาน” จิตมี“สัมมาอรหัง”เป็นอารมณ์ พอจิตอยู่กับอารมณ์นี้ไม่ดิ้นแส่ส่ายไปไหน เรียกว่ามีความสงบเกิดขึ้น เป็นสมถกรรมฐาน ถ้ามันไม่สงบ..ก็ยังทำสติปัฏฐานได้ “สติปัฏฐาน” หมาย​ถึง​ข้อ​ปฏิบัติ​ที่​มี​สติ​เป็น​ประธาน​ เพื่อ​ให้​ปัญญา​รู้​เท่าทัน​ความ​เป็น​จริง ก็คือเมื่อมีคำว่า “สัมมาอรหัง” เป็นคำบริกรรม จิตมารู้อยู่กับคำบริกรรมอันนี้..แล้วเผลอไป ถ้าเห็นว่าจิตเผลอ ก็ได้ทำ”จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน” ”จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน” ก็คือมีสติรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต ตอนที่จิตเผลอก็คือจิตลืมคำบริกรรมนี้ไปแล้ว.. ไปรู้สิ่งอื่น ตอนที่รู้สิ่งอื่น เราก็รู้ตามมันไปอีกทีว่า เมื่อกี้เผลอแล้ว ทำไมถึงรู้ว่าเผลอ? ก็เมื่อกี้กำลังมี “สัมมาอรหัง” เป็นอารมณ์ แล้วตอนนี้ไปนึกถึงอย่างอื่น สมมติว่าเป็น “เกี๊ยวซ่า” ซึ่งไม่ใช่ “สัมมาอรหัง” เราจึงรู้ว่า เมื่อกี้นี้เราเผลอไป เราอาจจะนึกถึงอย่างอื่นก็ได้นะ สมมติ​ว่า​ทีนี้เรารู้ว่าเมื่อกี้เรานึกถึงเกี๊ยวซ่าแล้ว แปลว่าเผลอแล้ว ก็เพราะว่า​ก่อนหน้านี้เราตั้งกติกาไว้ว่าจะเอาใจอยู่กับ “สัมมาอรหัง” พอเห็นว่ามีอารมณ์อื่นที่ผิดไปจาก “สัมมาอรหัง” ก็เรียกว่า “เผลอ” ไม่ว่าจะเผลอถึงอะไร เรียกว่าเผลอทั้งหมดเลย เห็นเผลอปุ๊บ ก็​มีตัวรู้เกิดขึ้นมาแทน ความเผลอนั้นก็ดับ จิตก็เรียนรู้ความจริงอันนี้ไป ทีนี้พอเห็นความเผลอดับแล้ว อย่าให้ใจล่องลอยไปที่อื่น ให้มาที่คำบริกรรม ยกเอาคำบริกรรมมาเป็นอารมณ์ของจิตต่อ เพื่อจะเรียนรู้จิตอีกทีว่า ความเผลอเป็นอย่างไร? กระบวนการฝึกจึงสรุปลงเป็นคำสั้นๆ ว่า “จิตเผลอแล้วรู้ เผลอแล้วรู้” ข้อสำคัญ ก็คือว่าคำว่า “สัมมาอรหัง” มันเป็นเพียงจุดตั้งต้น เหมือนกับคำบริกรรมอื่น จะใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ” ก็ได้ “นะมะพะทะ” ก็ได้ หรือว่าจะใช้คำว่า “หนอ” ก็ได้ “ยุบหนอ พองหนอ” ก็ได้ หรือจะใช้คำว่า “นะเมติ นะเมติ นะเมติ” นี่ก็ได้ บางท่าน เช่น พระจุลปันถกะได้รับคำบริกรรม พร้อมกับรับพระราชทานผ้ามาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าให้บริกรรมคำว่า “ระโชหะระนัง ระชังหะระติ” นี่ก็เป็นการทำสมถกรรมฐาน โดยมีคำบริกรรม คือ “ระโชหะระนัง ระชังหะระติ” พร้อมกับการเช็ดไป เหมือนกันตรงที่ คำบริกรรมมันเป็นเพียงแค่ “จุดเริ่มต้น” จุดที่เราต้องการจริง ๆ ไม่ใช่คำใดคำหนึ่ง หรือว่าต้องคำนั้นคำนี้จึงบรรลุ ไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งที่เราต้องการคือ “จิตเผลอไป แล้วรู้ทัน” ที่ว่า “รู้ทัน” เนี่ย มันจะเป็นการรู้ทันการทำงานของจิต รู้ทันความจริงของจิตว่าจิตมันเกิด-ดับ เมื่อกี้เกิดอยู่ที่คำบริกรรม แล้วมันดับไปแล้ว..มาเกิดใหม่ที่อื่น ไปนึกถึงเรื่องอื่น มันก็เกิดที่อื่น รู้ทันว่ามันเผลอไป ความเผลอก็ดับแล้วก็มาเรียนใหม่ ที่ว่า “เรียนใหม่” ก็คือกลับเข้าห้องเรียน กลับเข้าบ้าน หมายถึงมาเริ่มที่คำบริกรรมใหม่ เผลออีกก็รู้อีก ให้รู้ทัน รู้บ่อย ๆ ให้มันเข้าใจว่าจิตนี้ เกิด-ดับ เปลี่ยนแปลง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย บังคับไม่ได้ ก็เรียกว่าอาศัยคำบริกรรมเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเรียนรู้จิต ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “สัมมาอะระหัง” หรือคำไหนก็ได้ หลักการก็คือว่าใช้มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อทำสมถะ และต่อไปให้ถึงวิปัสสนา “วิปัสสนา” แปลว่า ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม คือจิตเริ่มฉลาด มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรมด้วย สิ่งที่จะทำให้จิตฉลาดขึ้นมา คือ รู้ทันเมื่อจิตมันทำงาน ที่จิตมันเผลอไป บางทีมันไม่ได้เผลอข้างนอกนะ บางทีมันเผลอเพ่ง เช่นบริกรรมคำนี้อยู่ก็เพ่งในคำนี้ เพ่งแล้วจิตก็มีน้ำหนัก จิตแข็ง จิตทื่อ การบริกรรมจริงๆ มันต้องบริกรรมด้วยใจสบาย ๆ ที่เพ่งนั้นบางทีก็เป็นเพราะเมื่อเผลอไปแล้วก็รู้สึกว่า ‘ความเผลอไม่ดี’ ก็เลยไม่อยากเผลอ จึงตั้งใจเพ่งเข้าไปในคำบริกรรม เพื่อไม่ให้จิตเผลอ การเพ่ง ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่งของจิต ให้รู้ทันด้วยว่า ตอนนี้ทำการเพ่งเพราะมีตัณหา..อยากจะสงบ อยากจะสงบก็เลยเพ่งไป เมื่อรู้ทันตัณหา ตัณหาก็จะแสดงความจริงว่า มันเกิด-ดับเหมือนกัน ทีนี้เราก็รู้ทันว่า มันมีความเผลอ ๒ แบบ คือ ๑.​ เผลอเพลินออกไปข้างนอก กับ ๒. เผลอเพ่งไอ้จุดเริ่มต้นนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็น “สัมมาอะระหัง” จะเป็น “พุทโธ” หรือจะเป็นลมหายใจ เป็นจุดเริ่มต้นเหมือนกัน มันจะมี เผลอเพลินไปจากจุดเริ่มต้นนี้ หรือ เผลอเพ่งไปในจุดเริ่มต้นนี้ ก็แค่เห็นอาการกิริยาของจิต ที่มันแสดงออก ๒ แบบ ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” พระองค์สอนพระปัญจวัคคีย์ว่า ที่สุด ๒ ทาง อันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขลิกานุโยค คือ เผลอเพลินไปในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่เป็นอริยะ ไม่มีประโยชน์ กับ อัตตกิลมถานุโยค คือ ทรมานตัวเอง ทำให้เกิดทุกข์ ไม่เป็นอริยะ ไม่มีประโยชน์ ทรมานตัวเองนั้น ถ้าสมัยก่อนนั้นมันชัดเจน คือนอนบนหนาม เปลือยกายบนหิมะ อย่างนั้นมันชัดเจน แต่บางทีนักปฏิบัติในปัจจุบันก็ทำอัตตกิลมถานุโยคโดยไม่รู้ตัว ก็คือเพ่งไว้ แล้วคิดว่ามันดี จริงๆ มันเครียดจะตายไป! มันเครียดเท่ากับเป็นทุกข์นะ! ใจเป็นทุกข์..แต่ไม่ทันสังเกต ให้รู้ทันตรงนี้ด้วยว่า นี่กำลังทำความเครียดให้เกิดขึ้นกับใจ ใจที่เหมาะสมคือ ใจที่เบา สบาย อ่อนโยน นุ่มนวล ควรแก่การงาน ไอ้จิตที่เพ่งเนี่ย มันแข็งเกินไป ต้องสังเกตจิตให้ดีว่า จิตขณะนี้มันพร้อมไหม? เป็นจิตที่ซื่อตรงต่ออารมณ์ไหม? ซื่อตรงต่อการรู้ คือมีการรู้แบบเบา ๆ นุ่มนวล-มุทุตา เบา-ลหุตา (ลหุตา คือเบา ๆ, มุทุ คือนุ่มนวล อ่อนโยน) มีความคล่องตัวในการทำงาน งานที่ว่านี้คืองานวิปัสสนา เพราะฉะนั้นมันต้องมีความอ่อนโยน มีความนุ่มนวล เบา ๆ เบาก็ไม่ใช่เบาหวิว จนลอยปลิวหายไปนะ เบาก็คือรู้อารมณ์แบบเบา ๆ ถ้าเพ่งก็หนักเกิน หนักเกินก็รู้ทันว่า ‘ไอ้นี่มันหนักไปแล้ว’ หนักไปก็รู้ทัน ที่จะรู้ยากก็คือ “ตัวเพ่ง” เพราะจะรู้สึกว่า “เอ๊ะ! นี่ฉันกำลังทำสมาธิ” บางทีเราก็ตีความคำว่า “ตั้งมั่น” ว่า ต้องเข้าไปเพ่ง อันนี้ก็ต้องระวัง สิ่งที่ควรระวังมี ๒ แบบ คือ เผลอเพลินไป กับเผลอเพ่ง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/Watsanghathan.Nonthaburi/videos/759165894860740 (นาทีที่ 1.34.58-1.42.06)

อ่านต่อ