#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เห็นครั้งเดียวไม่พอ #เห็นจนจิตยอม #ดูตามที่มันเป็น ?? #ถาม : ตอนนี้ผมเห็นขันธ์ ๕ ทำงานได้เอง เห็นจิตทำงานได้เอง เดี๋ยวจิตก็หลง มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เห็นตัวเองตลอดครับ ผมขอคำแนะนำจากพระอาจารย์เพิ่มเติมครับ #ตอบ : เห็นขันธ์ ๕ ทำงานได้เอง .. เห็นจิตทำงานได้เอง ..ก็ดีแล้ว แสดงว่าที่ทำมา ทำถูกทาง ให้ทำต่อ ทำจนกว่าจิตมันจะยอมศิโรราบ เห็นจิตทำงานได้เองเนี่ย มันกำลังแสดงอนัตตาให้ดูแล้ว อย่างที่บอกว่า “เห็นไตรลักษณ์ครั้งเดียวไม่พอ” สองครั้งก็ไม่พอ เพราะจิตมันสะสม “อวิชชา” ไว้เยอะ มี “อนุสัย” หนาแน่น เหนียวหนึบ เหนอะหนะ เพราะฉะนั้น การเห็นอย่างนี้ก็มาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำอีก ทำจนจิตมันยอม ทีนี้เวลาดู แรก ๆ เราอาจจะมีการ “คิดนำ” คือเรียกว่าฟังครูบาอาจารย์มาเยอะ อาจจะมีการคิดนำ ต่อไปนี้ไม่ต้องคิดนำ.. ให้ “ดูตามที่มันเป็น” การคิดนำเนี่ย ยังเป็นลักษณะของ “ปัญญาที่ยังไม่ใช่วิปัสสนา” วิปัสสนาจริงๆ ต้องให้มันแสดงความจริง! เหมือนอย่างที่โยมเขียนมาบอกว่า “เห็นขันธ์ ๕ ทำงานได้เอง” ถ้าเห็นอย่างที่ไม่ได้คิดนำ ก็ให้ดูอีก ให้ดูต่อไป “สมาธิ” ก็ยังควรทำอยู่ สมาธิ ทำทั้ง ๒ แบบ ทั้ง “อารัมมณูปนิชฌาน” และ “ลักขณูปนิชฌาน” อารัมมณูปนิชฌาน คือ การเพ่งอารมณ์ ตามแบบสมถะ ก็ได้แก่ทำฌานสมาบัติ ลักขณูปนิชฌาน คือ การเพ่งพินิจลักษณะ ตามแบบวิปัสสนา ก็ได้แก่การพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ เรียกง่ายๆ ว่า จิตตั้งมั่น ก็ควรทำสมาธิทั้ง ๒ แบบ “ศีล” ก็รักษาไว้ให้ดี มีบุญกุศลอะไรอื่น ๆ นอกจากนี้ ถ้ามีโอกาสทำ ก็ให้ทำ มีการให้ทาน การช่วยเหลือคนอื่น เป็นจิตอาสา อะไรก็แล้วแต่ มีโอกาสทำก็ทำ สิ่งเหล่านี้มันช่วยให้จิตชุ่มชื่น ไม่แห้งแล้ง ไม่กระด้าง ไม่ใช่เอาแต่การภาวนาอย่างเดียว บุญกุศลอื่นบางทีก็ช่วยเติมให้จิตมีกำลังมากพอที่จะทำวิปัสสนาให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น การงานอะไรที่ทำอยู่ก็ทำเต็มที่ โดยเฉพาะถ้าเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ยิ่งควรทำ ทำงานด้วยความรับผิดชอบ ทำไปโดยไม่คิดว่างานนั้นเป็นเครื่องขัดขวางต่อการภาวนาของเรา ครูบาอาจารย์ท่านทำงานไปภาวนาไป แล้วได้ผล มีมากมายเลย ไม่ใช่เอาแต่ภาวนา ทำงานแล้วก็เรียนรู้จิตไป ทำงานแล้วเกิดกิเลสอะไรก็เรียนรู้ไป แล้วก็ภาวนาอย่างที่เคยทำไปให้ต่อเนื่อง และอย่าดูหมิ่นบุญแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็คอยสังเกตจิตที่มันทำงาน..แม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย จิตมันขยับนิดนึงก็ให้รู้ มันเริ่มจะเป็นกิเลสแม้เล็กน้อยก็ให้รู้ รู้ให้เร็ว รู้ให้ไว ๆ แต่อย่าไปอยากให้ดี มีข้อควรระวังมากมายเลย ก็คือ บางทีมันก็เผลอเพลินไปกลายเป็น..กามสุขัลลิกานุโยค ประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขในกามทั้งหลาย บางทีก็อยากให้ดี กลายเป็นเพ่งเกินไปบังคับเกินไปก็เป็น..อัตตกิลมถานุโยค ประกอบความเหน็ดเหนื่อยให้แก่ตนเปล่าๆ ระวังสองทางที่ผิด รู้ที่ผิด มันจะได้ทางที่เป็นกลาง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/Watsanghathan.Nonthaburi/videos/3450693194951549 (นาทีที่ 1.52.22-1.56.27)

อ่านต่อ