#นิมฺมโลตอบโจทย์ #คราวใกล้ตาย #ยอมรับความจริง ?? #ถาม : คนเราก่อนจะตาย กำหนดสติอย่างไร? จะให้กำหนดลมหายใจ หรือกำหนดทุกขเวทนา? #ตอบ : มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตายในสภาพแบบไหน? สมมติว่าถูกเสียบท่อช่วยหายใจอยู่..จะกำหนดดูลมหายใจ ก็ไม่แน่ใจว่าจะดูได้หรือเปล่า? หรือว่าอยู่ในโรงพยาบาลที่เขาต่อท่อ ต่อโน่น ต่อนี่ เสียบโน่น เสียบนี่ เราจะดูลมหายใจไหวรึเปล่า? ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่เคยอยู่ในสภาพนั้น เอาอย่างนี้ดีกว่า ใช้วิธี “รู้สึกตัว” รู้สึกตัว คือเห็นกายอยู่ในสภาพแบบไหน ก็มีกายอยู่ในสภาพนั้น กายที่ว่านั้นเป็นเพียงก้อนอะไรสักก้อนหนึ่ง ถ้าจะใช้บริกรรม “พุทโธ” ก็ได้ หรือจะดูลมหายใจก็ได้ แต่ถ้ามันเริ่มดูยากนะ ก็อาศัยกายเนี่ยเป็นที่ตั้งไปเลย ถ้าจะให้มันมีคำบริกรรมขึ้นมาก็ช่วยได้ เช่น คำว่า พุทโธ.. พุทโธ.. พุทโธ.. ถ้าจิตมันเผลอคิดไป พุทโธก็จะหาย จริง ๆ ตัวหลักก็คือ มาดูจิต ทีนี้ถ้าก่อนจะตายมีความหวั่นใจ คนใกล้ตายจะมีความหวั่นใจประเภทที่ว่า ไม่แน่ใจว่าตายแล้วจะไปไหน? ส่วนใหญ่ที่กลัวเนี่ย คือ “กลัวตาย” ที่กลัวตาย เพราะ “ไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน?” ถ้ามันจวนตัวและใกล้ตาย แล้วเกิดความหวั่นใจขึ้นมา ให้ “ระลึกถึงพระรัตนตรัย” ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ซึ่งสามารถทำให้ผู้ระลึกนั้นไปสู่สุคติได้ ระลึกถึงพระธรรม ก็หมายความว่า นอกจากจะระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ระลึกด้วยว่า พระองค์สอนอะไร? ท่านสอนให้ “มีสติ” ตอนกลัว..ขาดสติ ตอนกังวล..ขาดสติ เช่นกังวลว่า “ถ้าตายไปตอนนี้ คนที่อยู่ข้างหลังจะเป็นอย่างไรหนอ?” “เขาจะทะเลาะเรื่องมรดกเราไหม?” คิดอย่างนี้ คือกังวล กังวลเป็นส่วนหนึ่งของโทสะ ถ้ามีโทสะ ตายไป ก็ไปอบาย แล้วก็น่าจะอยู่ในกลุ่มสมาชิกของสัตว์นรก เพราะฉะนั้นให้รู้ทันว่า เมื่อกี้นี้เกิดความกังวลเกิดขึ้นมา รู้ทัน-ได้สติ ที่ได้สติ ก็เพราะอาศัยว่าเมื่อกี้นี้มีกิเลสเกิดขึ้น มีโทสะ มีกังวล มีความกลัว พวกนี้กลุ่มโทสะทั้งนั้นเลย รู้ทันว่ามีความกลัวก็ได้ มีความกังวลก็ได้ หรือรู้รวดไปเลยว่าเมื่อกี้มันมีโทสะเกิดขึ้นมา โทสะเกิดขึ้น ถ้าตายตอนที่มีโทสะ..นรกก็เป็นที่ไป แต่ถ้าโทสะเกิด แล้ว “รู้” “ตายตอนรู้-ไปสวรรค์” ถ้าตอนมีโทสะแล้วรู้ แล้วเห็นเลยว่า .. โทสะเกิดดับเปลี่ยนแปลง ..ไม่เที่ยง ไอ้ตัวรู้ที่เราดูไป ดูมา .. เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็เผลอ ทั้งโทสะ และตัวรู้ “ไม่ใช่เรา” ตอนนี้ “ได้มรรคผล-ก่อนตาย” เพราะฉะนั้น อย่าไปกังวล! คำว่า “อย่าไปกังวล” เนี่ย เป็นคำพูดแบบปลอบใจนะ จริงๆ บางทีก็กังวลอยู่นะ กังวลแล้ว “รู้” .. กังวลแล้ว “รู้” อย่าปล่อยให้กังวลนาน ถ้ากังวลนานเนี่ยเสี่ยงมากตรงที่ว่า .. อาจจะตายตอนกังวล ถ้าตายตอนกังวล..นรกก็เป็นที่ไป เพราะฉะนั้น ให้ “รู้” บ่อย ๆ กังวลบ่อย ก็ให้ “รู้” บ่อย กังวลบ่อยดีกว่ากังวลนาน..กังวลแล้วรู้ กังวลแล้วรู้ ถ้ามันกังวลบ่อย ๆ แล้วชักหวั่นใจ ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ระลึกถึงพระพุทธ.. นึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก นึกถึงพระองค์แล้วใจเราก็เป็นกุศล ระลึกถึงพระธรรม ก็คือคำสั่งสอน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นทุกข์ เราจะนำเอาคำสอนนั้นมาปฏิบัติตอนนี้เลย ! ระลึกถึงพระสงฆ์ คือครูบาอาจารย์ของเรา ที่เราศรัทธาว่าท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ศรัทธายิ่งไปกว่านั้น คือถ้าสามารถได้เจอครูบาอาจารย์ ที่เราเชื่อว่าท่านบรรลุมรรคผล ..อันนี้ยิ่งดี มันจะเป็นการเติมกำลังใจ รำลึกถึงท่านแล้วก็จะเกิดบุญกุศลขึ้นมา มีปีติ มีศรัทธาขึ้นมา รู้สึกว่าตนเองมีที่พึ่งทันทีเลย บางคนจะระลึกถึงพระพุทธเจ้าเนี่ย ก็อาจจะรู้สึกว่าห่างไกลเหลือเกิน เราเกิดมาตอนที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้วถึงสองพันกว่าปี นึกหน้าท่านก็ไม่ออก หน้าจะเหมือนหลวงพ่อโตรึเปล่าหนอ? นึกถึงพระพุทธเจ้า อาจจะยังไม่ชำนาญ นึกถึงพระธรรม บางทีพอจวนตัวขึ้นมาก็กางตำราไม่ทัน พระพุทธเจ้าสอนอะไร? สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร? แค่บทคำว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็ยังนึกไม่ออกแล้ว อย่างนี้ก็ลำบาก นึกถึงหน้าครูบาอาจารย์ หลวงพ่อ หลวงปู่ องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ที่เราศรัทธา แค่นี้..อุ่นใจแล้ว อันนี้คือมีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก ระลึกถึงพระสงฆ์แล้วสบายใจ อุ่นใจ ก็ระลึกถึงพระสงฆ์ไป บางทีก็เผลอแว๊บไปหวั่นใจอีก ก็ให้รู้ทัน แล้วก็นึกถึงหน้าพระสงฆ์นั้นต่อ มีพระสงฆ์เป็นกรรมฐานไปเลย ใช้ “สังฆานุสสติ” ไปเลยก็ได้ อย่างที่ถามมา มันก็แล้วแต่ว่า เราอยู่ในสภาวะแบบไหน? อยู่ที่บ้าน หรืออยู่ที่โรงพยาบาล ถ้าอยู่ที่โรงพยาบาล จะยากตรงที่ว่า บางทีจะมีญาติเรามาเกาะเตียงคอยกวนใจ เพื่อตัดปัญหา เตรียมตัวไว้ก่อนเลย คือ ตกลงกับญาติ ๆ ของเราไว้ก่อนเลยว่า “ถ้าถึงขั้นนี้แล้วนะ ไม่ต้องมากวนแล้วนะ” “ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับฉัน ถึงขั้นป่วยหนัก ๆ เนี่ย ขอให้ไปแบบธรรมชาติ” ตกลงกันไว้ก่อนเลย เพื่อจะได้ไม่มาทรมานตอนที่ใกล้ตาย อยากจะบอก “เอาออกทีเถอะ” ก็บอกไม่ได้ เพราะว่าเขาเสียบท่อคาปากไว้แล้วเนี่ย ..พูดไม่ได้ ควรตกลงกันไว้ก่อน สภาพก่อนตายของเราจะได้ไม่เป็นปัญหากับเรา เวลาที่ใกล้ตายขึ้นมาจะได้ไม่ทรมานนาน ร่างกายตอนที่จะไปแบบธรรมชาติเนี่ย ธรรมชาติมันจะช่วยไม่ให้ทรมานนาน ถ้าเราไม่มีวิบากอะไรมากมาย ก็จะทรมานหรือมีเวทนานิดหน่อยเท่านั้นเอง ตอนร่างกายจะใกล้แตกดับเนี่ยนะ สภาพร่างกายดูอาจจะเหมือนทรมานมาก แต่ความรับรู้ทางกายมันจะตัดไปแล้ว กลายเป็นจิตเด่นขึ้นมา จิตจะตัดความรับรู้ทางร่างกายไป กลายเป็นที่จิตเด่น เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์จึงเน้นให้เรา “ฝึกดูจิต” เพราะในคราวใกล้ตาย แรก ๆ อาจจะดูเจ็บปวดทรมาน แต่พอใกล้ตายจริง ๆ ความรับรู้มันจะมารวมกันอยู่ที่จิต ถ้าจิตขณะนั้นไม่ได้ฝึกมาเลย ก็จะงง ไม่รู้จะไปไหน จะเคว้งคว้าง ถ้าเราฝึกดูจิตมาก็จะรู้สึกว่า “อ้า! สบายแล้ว ตอนนี้ร่างกายเราไม่รับรู้อะไรเลย” เราไม่รับรู้อะไรที่ร่างกายเลย กลายเป็นมีเรื่องจิตเด่นขึ้นมา เราก็ทำกรรมฐานของเราเลยตอนนั้น เราจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ ทำได้ตอนนั้นเลย หรือจะพิจารณาเห็นว่า ร่างกายไม่ใช่เรา ก็เห็นได้เลย ถ้าดูจิต ก็เห็นเลยว่า จิตนี่ก็บังคับไม่ได้ เดี๋ยวก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ระลึกถึงพระสงฆ์ เดี๋ยวก็ลืม จิตนี่ก็บังคับไม่ได้ เห็นว่า “จิตนี้ไม่ใช่เรา” ไปเลยก็ได้ ในขณะนั้น เป็นโอกาสที่เราจะเห็นความจริงของจิต ตอนนี้ร่างกายกำลังแสดงความจริงแล้วว่าบังคับไม่ได้ จะตายอยู่แล้วจะบังคับให้มันฟื้นเป็นปกติขึ้นมาก็ไม่ได้ จิตใจก็เช่นเดียวกัน จะให้อยู่ตรงนี้นิ่ง ๆ นาน ๆ ก็ไม่นิ่งตามที่ปรารถนา อยากให้คิดเป็นบุญเป็นกุศลตลอดเวลา มันก็แว๊บไปเป็นอกุศลบ้าง เห็นมันเลยว่ามันไม่ได้ดั่งใจปรารถนา เห็นเลยว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันไม่ได้ดั่งใจปรารถนา แสดงว่ามัน “เป็นอนัตตา” เห็นไปเลยว่า จิตกำลังแสดงความจริง ตัวคีย์ (key) สำคัญ คือ “ยอมรับความจริง” ยอมรับว่ากายก็กำลังจะตาย จิตนี้ก็เป็นไปตามอย่างนี้ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน ยอมรับได้ ใจก็สบาย ใจสบายแล้วบางทีก็จะมีปัญญาบรรลุธรรมในขณะนั้นเลย ว่า “กายก็ไม่ใช่เรา ใจนี้ก็ไม่ใช่เรา” อาศัยความจริงที่กำลังเกิดขึ้น เรียนรู้ความเข้าใจอันนี้ไปเลยเป็นดีที่สุด พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/Watsanghathan.Nonthaburi/videos/849109402543776 (นาทีที่ 1.41.15-1.50.50)

อ่านต่อ