#นิมฺมโลตอบโจทย์ # พลาดแล้วให้ขอโทษ ?? #ถาม : เคยเอาไม้ตีหัวเป็ด ๑๐ ที แล้วเป็ดถึงตาย จะแก้บาปนี้ได้อย่างไร? #ตอบ : เราไม่ได้ไปแก้ในแง่ที่ว่า ปฏิเสธว่า “ไม่ได้ทำ” นะ ก็ยอมรับไปตามตรงว่า “บาปนี้เราได้ทำไปแล้ว” กรรมอันนี้ซึ่งเป็นอกุศล เราได้ทำไปแล้ว วิธีที่จะทำต่อไปก็คือว่า สมาทานไว้เลยว่า “ต่อไปจะไม่ทำอย่างนี้อีก” ที่ทำไป..อาจจะทำด้วยโทสะ ที่ตีหัวเป็ดไปเนี่ย แสดงว่าทำด้วยโทสะ ถ้ามีภาพการกระทำนี้ขึ้นมา หรือมีภาพเป็ดผุดขึ้นมา..ให้นึกถึงบุญกุศล เพื่อที่จะอุทิศบุญกุศลไปให้ ให้นึกขอโทษด้วย และให้นึกอุทิศบุญกุศล อุทิศให้บ่อย ๆ ที่ว่า “นึกขอโทษ” ก็คือ คล้าย ๆ กับว่า ยอมรับผิด ยอมรับว่าตัวเองผิด ถ้ามีภาพนิมิตลักษณะนี้ขึ้นมา ให้นึกขอโทษ แล้วถ้ามีโอกาส ก็ทำบุญกุศลอุทิศให้ ทำบุญกับเป็ดตัวอื่นด้วยก็ได้ ทำบุญกับเป็ดตัวอื่นบ่อยๆ.. ทำบุญกับเป็ดบ่อยๆ จนกระทั่งเห็นเป็ดครั้งต่อไป..คราวนี้เราเห็นแล้ว เราจะมีประสบการณ์ใหม่ คือ จะมีการกระทำที่มีกรุณา มีเมตตากับเป็ด มีความเอื้อเฟื้อต่อเป็ด ก็คือ มีกุศลใหม่มาทำให้มันมีภาพจำในแง่ที่ดี ๆ เกี่ยวกับเป็ด ไม่ใช่ว่ามีภาพเป็ดขึ้นมา แล้วเราก็มีแต่ความทรงจำในแง่ที่ว่า “โอ้.. กูไปฆ่าเป็ดมาอย่างนี้, ตีหัวเป็ดอย่างนั้น” มันก็กลายเป็นว่า มีความทรงจำแง่ร้ายแง่เดียว เพราะฉะนั้นเวลา ต่อไปนี้ เราเห็นเป็ดเมื่อใด ให้เป็นโอกาสเกิดกุศลขึ้นมา อาจจะซื้ออาหารให้เป็ด หรือว่าจะทำอย่างไรก็ได้ ที่เป็นการสนับสนุน ให้เป็ดมีชีวิตที่สุขสบาย หรืองดงามขึ้นมา ในขณะเดียวกัน ถ้ามีภาพเกิดขึ้นในใจ แล้วเราไม่สบายใจ ให้นึกขอโทษ แต่ขอโทษอย่างเดียวไม่พอนะ..ต้องทำบุญอุทิศให้ด้วย!! การขอโทษเนี่ย มันเหมือนเป็นการที่เราเจอคู่กรณี แล้วขอโทษเขา บางทีเขายังไม่ให้อภัยแก่เรา “การที่จะให้เขาให้อภัยได้เร็วขึ้น ก็คือว่า ทำคุณความดีให้เขาเห็น แล้วก็ยกคุณความดีให้เขาด้วย” เหมือนเราไปทำผิดกับใคร แล้วเราก็มีของติดไม้ติดมือ ประกอบคำขอโทษนั้นด้วย ไม่ใช่ไปขอโทษอย่างเดียว และการขอโทษนั้น ให้ “ขอโทษล้วนๆ” ไม่ต้องไปใส่เหตุผลอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปบอกว่า “วันนั้นเนี่ย ฉันจำเป็นต้องทำอย่างนั้นๆ นะ” ยิ่งให้เหตุผล เขายิ่งโกรธมาก! นึกถึงตัวเอง..เวลาถูกกระทำ เวลาเขาพูดไม่ดีกับเรา เราโกรธ.. เราก็ต้องการเพียง “คำขอโทษ” เท่านั้น ไม่ใช่คำบอกแก้ตัวว่า “ไอ้ที่ทำไปนั้นนะ เพราะปรารถนาดี” หรือว่า มีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งมีเหตุผลมากนะ ไอ้คนที่เราไปขอโทษด้วยเนี่ย บางทีจะยิ่งโกรธ บางทีถ้าเป็นคนมีชีวิตอยู่ ก็อาจจะด่าใส่ “อย่ามาเถียง ๆ “ อย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น ให้ “ขอโทษล้วนๆ” ขอโทษด้วยความสำนึกผิดจากใจของเราเลย สำนึกว่า “เราทำผิดไปแล้วจริง ๆ” สำนึกอย่างนี้ แล้วขอโทษไป ด้วยใจที่สำนึกเนี่ย จะเป็นตัวช่วยให้เขาใจอ่อนลงได้ และถ้าจะอ่อนลงมาก ถึงขั้น “ให้อภัย” ก็ต้องประกอบด้วยความจริงใจในแง่ที่ว่า เราทำดีอะไร..เราก็นึกถึงเขา ทำดีอะไร ทำบุญอะไร..ก็อุทิศให้เขา นึกถึงเขา อุทิศบุญให้เขาบ่อย ๆ เรียกว่า จนกว่าเราจะตายไปเลย คือ สิ่งที่เราทำไป มันติดตาติดใจเรามากแค่ไหน ยังนึกถึงอยู่เมื่อไหร่ ก็ทำบุญอุทิศให้ ขอโทษเขาไป โดยที่ทำด้วยใจที่ “สำนึกผิด” แต่.. ไม่ใช่มาตอกย้ำ..!! อันนี้ต้องระวังให้ดีว่า อย่าไปสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ในแง่ที่ว่า มาตอกย้ำตนเองในแง่ “ฉันผิด ฉันชั่วไปแล้ว” แล้วก็กลายเป็นเศร้า-ทุกข์ กับสิ่งที่นึกถึง ทุกคนเคยพลาดได้ แต่พลาดแล้วให้ขอโทษ แล้วก็ปรับตัวขึ้นมาใหม่ ทำตนให้ดีขึ้นมาใหม่ ในกรณีนี้ก็คือ “ขอโทษ.. แล้วก็ทำบุญ และพัฒนาตนเองต่อไป” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/Watsanghathan.Nonthaburi/videos/384290336289674 (นาทีที่ 1.56.47-2.01.25)

อ่านต่อ