#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ?? #ถาม : การตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิ โดยเอาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นตัวตั้ง แบบนี้ผิดในโทษฐานทำสงฆ์ให้แตกกันหรือเปล่าครับ? #ตอบ : หมายถึงกรณีไหน? กรณีที่เป็นข่าวนี้หรือเปล่า? (เข้าใจว่าผู้ถามน่าจะหมายถึงผู้เขียน”อนาคตวงศ์”) ก็คงไม่ต้องไปปรับถึงขนาดทำสังฆเภทหรอกนะ อันนี้ความเข้าใจของส่วนตัวนะ.. ผู้เขียนก็คงตั้งใจจะปลูกศรัทธา ไม่ได้ตั้งใจว่าจะแบ่งแยกสงฆ์ให้เป็น ๒ ฝ่าย ทีนี้ถ้าคนรุ่นหลังมาแบ่งแยก ก็เป็นเรื่องของคนรุ่นหลังแล้ว ผู้เขียนไม่เกี่ยว แล้วถ้าสงฆ์จะแบ่งแยกกัน ไม่ลงอุโบสถร่วมกัน ด้วยเหตุเพียงความเชื่อเรื่องนี้ไม่ตรงกัน ก็คงจะไม่ใช่ เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเหตุให้มาเกิดความแตกแยกในระดับสังฆเภทได้ คงไม่ถึงขนาดนั้น วิธีแก้มันเป็นแค่ปรับความเข้าใจกัน ว่าเรื่องนี้ไม่ควรสนับสนุน ไม่ควรส่งเสริม เป็นความเข้าใจผิด ส่วนใครจะเชื่อว่า ‘มันมีเรื่องอยู่ในคัมภีร์ มันน่าเชื่อถือ’ ก็ต้องกลับไปอ่าน “กาลามสูตร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้แต่ในคัมภีร์ก็อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ (กาลามสูตร คือสูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผลตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ 1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา 2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา 3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ 4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ 5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก 6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน 7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล 8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีของตนที่พินิจไว้แล้ว 9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ 10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละ หรือถือปฏิบัติตามนั้น) “อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ” ให้ดูจิตของตัวเอง เวลาจิตคิดถึงเรื่องความตาย จิตมันเป็นอย่างไร? มีตัวอย่างนะ มีตัวอย่างเผอิญไปค้นหามา เป็นเรื่องของ “พระฆ่าตัวตาย” น่าสนใจ ขอนำเอามาเล่ากันฟัง อยู่ในนี้ คือ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท เรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องของ “พระสัปปทาสะ” (สัปปะ คืองู, ทาสะ คือทาส) ทาสที่เป็นงู เรื่องราวเป็นอย่างไร? น่าสนใจ ลองฟังดูนะ จะลองเล่าเป็นแบบคร่าวๆ มีกุลบุตรในกรุงสาวัตถี ฟังพระธรรม แล้วก็ขออุปสมบท วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำแต่เช้าตรู่ ท่านเหล่านั้นก็เห็นงูที่โรงไฟ พระที่ไปที่โรงไฟก็เลยจับงูใส่หม้อ เพื่อจะไปปล่อยข้างนอก ก็เป็นเรื่องปรกติ คืองูเป็นสัตว์อันตราย ก็จะเอางูไปปล่อยในที่อื่นที่มันควรจะอยู่ พระสัปปทาสะรูปนี้ก็มาถามว่า “มีอะไร?” (พระทั้งหลาย) “งู” (พระสัปปทาสะ) “จะทำอะไรกับงูนี้” (พระทั้งหลาย) “จะทิ้งมัน” ท่านที่ชื่อว่าสัปปาทาสะ ชื่อจริงชื่ออะไรไม่รู้นะ แต่ว่าภายหลังมาเรียกกันว่า “สัปปทาสะ” ท่านบำเพ็ญภาวนามาจนรู้สึกหน่ายในสังขาร ก็เลยคิดว่า ‘เอาล่ะ! เดี่ยวเราจะเอางูเนี่ยมากัดเราให้ตาย เพื่อจะทิ้งกายนี้’ ก็เลยบอกกับพระที่เอาหม้อที่มีงูอยู่ข้างในว่า “เอามา เดี๋ยวผมจะเอาไปทิ้งเอง” เสร็จแล้วก็รับหม้อที่มีงูอยู่ข้างในเอามา เดินไปพอลับตาพระอื่นแล้ว ก็เอามือล้วงไปในหม้อ กะจะให้งูกัดตนเองให้ตาย ปรากฏว่างูไม่ยอมกัด งูไม่กัดก็จับปากงูให้อ้า แล้วเอานิ้วสอดเข้าไปในปากงู งูก็ไม่ยอมกัด ก็เลยคิดว่า ‘สงสัยงูนี้ไม่ใช่งูพิษ’ ก็ทิ้งงูนั้นไป ทิ้งให้มันไปในที่ๆ มันควรไป ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ทิ้งแล้วหรือ? ทิ้งงูแล้วหรือ?” พระสัปปทาสะ) “ครับทิ้งแล้ว แต่ว่างูนั้นไม่ใช่งูพิษหรอก ไม่เป็นอันตราย” พระทั้งหลายบอกว่า “งูพิษแน่ๆ ผมดูออก มันแผ่แม่เบี้ยด้วย” (หมายความว่าน่าจะเป็นงูเห่า หรือไม่ก็งูจงอาจ) (พระทั้งหลาย) “มันขู่ฟู่ฟู่ด้วย กว่าจะจับได้จับยากมาก มันก็ขู่สู้” ภิกษุสัปปทาสะก็บอกว่า “ผมให้มันกัดนะ มันไม่ยอมกัด เอานิ้วสอดในปากมันแล้ว มันยังไม่กัดเลย” พระทั้งหลายก็ฟังแล้วก็เลยอุทาน ‘เอ๊ะ! แปลกดี’ ต่อมา อีกวันหนึ่งภายหลัง พระสัปปทาสะก็ยังรู้สึกเบื่อหน่ายในร่างกาย ยังหาทางที่จะละร่างกายนี้ไม่ได้ วันหนึ่งมีช่างกัลบก.. รู้จักช่างกัลบกไหม? ก็คือช่างตัดผม เขาจะมีอุปกรณ์มาปลงผมให้พระ ก็มีอุปกรณ์ของช่างตัดผมมาด้วย สมัยก่อนไม่มีปัตตาเลี่ยน อุปกรณ์ก็จะเป็นมีด กัลบกก็เอามีดมาหลายเล่ม เป็นมีดโกน คงจะมีกล่องเครื่องมือของเขานะ แล้วก็วางเอาไว้ ปรากฏว่าพระสัปปทาสะเห็นเข้าก็วางแผน… ‘อ่า..! ได้แล้ว.. ได้อุปกรณ์แล้ว เราจะตัดคอด้วยมีดโกนนี้ เพราะเราเบื่อหน่ายสังขารเหลือเกิน’ ได้มีดโกนแล้วก็ไปยืนพาดคอไว้ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ยืนนะ ยืนพาดคอไว้ที่ต้นไม้ คือคล้ายๆ ว่าพิงไว้หน่อยหนึ่งไม่ให้ล้ม แล้วก็จ่อคมมีดที่ก้านคอ พอจ่อคมมีดที่ก้านคอนะ ใจก็นึกทวน.. ใคร่ครวญถึงศีลของตนตั้งแต่อุปสมบทมา เห็นว่า ‘ศีลรักษาไว้ดีมาก ไม่มีมลทินเลย เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญที่ไม่มีเมฆหมอกบัง เหมือนแก้วมณีที่ขัดไว้ดีแล้ว’ ตรวจดูศีลนั้นแล้ว ก็เกิดปีติแผ่ซ่านไปทั่วสรีระ พอข่มปีติได้แล้ว ก็เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหันต์ คือบรรลุพระอรหันต์ตอนที่เอามีดจ่อคอเนี่ยนะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ก็เลยเอามีดมาคืนช่างตัดผม ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วก็ “อ้าว! ไปไหนมา” พระสัปปทาสะก็บอก “ผมเอามีดไปเนี่ย จะตัดก้านคอตัวเองให้ตาย” พระก็เลยถามว่า “อ้าว! แล้วทำไมไม่ตายล่ะ?” ก็บอกว่า “บัดนี้ ผมเป็นผู้ไม่ควรนำศัสตรามา ด้วยว่าผมคิดว่า ‘จักตัดก้านคอตนด้วยมีดโกนนี้’ เพราะตัดกิเลสเสียสิ้นแล้ว ด้วยมีดโกน คือญาณ” นี่นะ เอามีดไปก็จริง ไม่ใช่เอาไปตัดคอตัวเองด้วยมีดโกนนั้น แต่กลับตัดกิเลสด้วยญาณ ญาณอะไร? ก็วิปัสสนาญาณนั่นเอง พระทั้งหลายฟังแล้วก็ ‘โอ้! ไปพูดอย่างนี้ก็คือพยากรณ์ตนเองว่าเป็นพระอรหันต์” ก็เลยพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพย่อมไม่ปลงตนจากชีวิตด้วยมือตนเอง” เรียกว่าถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วเนี่ย จะไม่ฆ่าตัวตาย แต่ภิกษุทั้งหลายก็สงสัยว่า ‘อ้าว! องค์นี้เพิ่งพยายามจะฆ่าตัวตาย’ ก็เลยบอกว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสภิกษุนี้ว่า ‘เป็นพระขีณาสพ’ แต่ก็ภิกษุนี้ ผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ขนาดนี้ ทำไมจึงเบื่อหน่าย? และอะไรเป็นเหตุ เป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของภิกษุนี้? และเหตุไร งูนั้นจึงไม่กัดภิกษุนี้?” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “งูนี้ได้เคยเป็นทาสของภิกษุนี้ในอัตภาพที่ ๓ นับจากนี้” หมายถึงว่า งูนี้เคยเป็นทาสของภิกษุนี้เมื่อ ๓ ชาติที่แล้ว มันระลึกได้ มันเลยไม่กัดเจ้านายของตน จึงกลายเป็นชื่อของพระรูปนี้ไปเลยว่า “สัปปทาสะ” ทาสะ แปลว่าทาส, สัปปะ ก็คืองู “มีทาสเป็นงู” ภิกษุนี้ก็เลยอาศัยว่าพระพุทธเจ้าระลึกชาติของท่านให้ฟัง ท่านจึงได้ชื่อตามคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกนั่นเอง ได้ชื่อว่า “สัปปทาสะ” ชื่อเดิมชื่ออะไรก็ไม่ทราบนะ ภิกษุเหล่านั้นฟังเนื้อความนี้จากสำนักพระพุทธเจ้า จึงทูลถามอีกว่า “ได้ยินว่า ภิกษุนี้ยืนจดคมมีดโกนที่ก้านคออยู่ แล้วบรรลุพระอรหัต พระอรหัตมรรคเกิดขึ้นได้โดยขณะเพียงเท่านั้น หรือพระเจ้าข้า?” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้ปรารภความเพียร ยกเท้าขึ้นวางบนพื้น เมื่อเท้ายังไม่ทันถึงพื้นเลย พระอรหัตมรรคก็ได้เกิดขึ้น แท้จริง ความเป็นอยู่แม้เพียงชั่วขณะของท่านผู้ปรารภความเพียร ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของบุคคลผู้เกียจคร้าน” (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘ เรื่องพระสัปปทาสเถระ) นี่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง เป็นเหตุการณ์เรื่องราวที่พระอรรถกถาจารย์บันทึกเอาไว้ ต้องบอกไว้ด้วยว่าเป็น “คัมภีร์ระดับอรรถกถาจารย์” ก็น่าสนใจอยู่ ให้เห็นว่าการฆ่าตัวตาย จะเป็นเรื่องของผู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ถ้าเป็นปุถุชนยังคิดอย่างนี้ได้ ประมาณว่าคิดผิด คิดแบบที่ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าบรรลุธรรมแล้ว บรรลุมรรคผลแล้ว อย่างน้อยๆ ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว จะไม่ฆ่าตัวตาย เพราะอย่างน้อยๆ ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ “การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=mj39QxOKnJQ (นาทีที่ 1.30.50-1.40.27)

อ่านต่อ