#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เรื่องของกรรม ?? #ถาม : เรื่องโควิด (COVID-19) ทุกวันนี้ จะทุกข์ใจกังวล มีหลักคิดอย่างไรดี? แต่แอบคิดว่า ‘ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมอะไรไว้ บ่วงคงไม่เกิด’ #ตอบ : หมายความว่า “ถ้าไม่ทำกรรมอะไรไว้ คงไม่ติดโควิด” ใช่ไหม? คืออย่าคิดว่า การติดโควิด เป็นผลจาก “กรรมอดีต” เฉยๆ นะ จะติดโควิดมันก็เรื่อง “กรรมปัจจุบัน” ด้วย อย่าคิดว่า ‘เอ้อ! เราคงไม่มีกรรมในอดีต’ แล้วเราก็เลยลั้ลลา(ประมาท).. ไม่ได้นะ! “ลั้ลลา”(ประมาท) นั่นคือ “กรรมปัจจุบัน” นึกออกไหม? การระวังอยู่โดยไม่ประมาท เป็นกรรมปัจจุบัน ซึ่งจะพาให้ไม่ติดโควิด แต่ถ้าประมาทในปัจจุบัน ไอ้กรรมปัจจุบัน ที่กำลังประมาทอยู่นี้ จะพาให้ไปติดโควิด เพราะฉะนั้น อย่ามองเพียงแค่ว่า ‘เราคงไม่ติด เพราะเราคงไม่ได้ทำกรรมอันพาให้ติด’ หมายถึงไม่ได้ทำกรรม ตั้งแต่ในอดีต..อดีตชาติ อะไรอย่างนี้ แต่ถ้ากรรมปัจจุบัน “ประมาท” …! ไอ้ประมาทปัจจุบันนี้ล่ะ จะพาให้ติดโควิด อย่าชะล่าใจ! คิดไว้ก่อนว่า ถ้าเป็นเรื่อง “กรรม” แล้ว ต้องลงมาถึง “ปัจจุบัน” ซึ่งเป็นกรรมปัจจุบันด้วยนะ อย่างนี้จึงจะใช้ได้ แต่ถ้าคิดว่าเป็นเรื่อง “กรรม” แล้วมองเพียงแค่ “อดีต” อย่างนี้ใช้ไม่ได้ คือมองว่า ‘เป็นเรื่องกรรม’ อันนี้ยังรับร้อยเปอร์เซนต์ไม่ได้ คือคนไทย บางทีพูดถึงเรื่องกรรมนะ มักจะมองในแง่เดียว คือมองแง่อดีต แต่ถ้ากรรมที่แท้จริง ที่สำคัญมากก็คือ “กรรมปัจจุบัน” กรรมปัจจุบันนั่นล่ะ ที่เราจะทำได้ด้วย กรรมในอดีต แก้ไขอะไรไม่ได้แล้วนะ มันทำแล้ว ใช่ไหม? แก้ไขอะไรไม่ได้ คล้ายๆ กับว่า ‘เออ..` ถ้าเราทำกรรมไม่ดีในอดีต เราจะคงต้องรับวิบาก คือคงติดโควิด’ แล้วก็เลยนอนรอรับโควิด อย่างนี้ไม่ได้! อย่างนี้เรียกว่า.. – ทำกรรมอันเป็นความประมาทในปัจจุบัน – ทำความงมงายในมิจฉาทิฏฐิ เชื่อแต่เรื่องของอดีต เชื่อเรื่องของอดีต เป็นมิจฉาทิฏฐินะ ถ้ามันไม่ลงถึงในปัจจุบัน ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรๆ ก็..อดีต อะไรๆ ก็..กรรมในอดีต อันนี้เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” แล้วนะ ต้องระวังให้ดี! มันมีมิจฉาทิฏฐิ อยู่หัวข้อหนึ่ง เป็นลัทธิที่ผิด ชื่อว่า “ปุพเพกตวาท” ปุพเพกตวาท แปลว่า “ลัทธิกรรมเก่า” คือเชื่อว่าสุขทุกข์ทั้งปวงที่เราประสบอยู่นี้ ในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะกรรมที่ทำมาแต่อดีตทั้งนั้น ล้วนมาแต่อดีตกรรม อย่างนี้นะ มันคล้ายกับคำสอนพุทธศาสนามากเลย คือมันเหมือนเป็นเรื่อง “หลักกรรม” ใช่ไหม? แต่จริงๆ แล้ว มันกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิทันที! ถ้ามันไม่ลงมาสู่การกระทำในปัจจุบัน คือถ้าเชื่อเรื่องลัทธิกรรมเก่า ก็ไม่ต้องทำอะไร คล้ายๆ กับว่า “ยอม” มันจะเป็นอย่างไรก็ยอม แล้วแต่กรรมที่ทำมาตั้งแต่อดีต มันเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ตรงที่ว่า มันไม่ส่งเสริม ให้เกิดการกระทำอย่างไม่ประมาทในปัจจุบัน ..มันกลายเป็น “ยอมแพ้” “แล้วแต่เวรแต่กรรม” นี่คำไทยๆ มันจะเป็นอย่างนี้นะ “แล้วแต่เวรแต่กรรม” มันก็เลย กำลังทำกรรมปัจจุบัน ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือประมาทไปแล้ว มันขัดกันกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องกรรม เพื่อให้คนหวังผลสำเร็จด้วยการลงมือทำด้วยความเพียรอย่างมีสติปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าคำพูดที่โยมพูดมาเมื่อสักครู่นี้ ลองประเมินกันเองนะ ผู้ถามประเมินตัวเองก็แล้วกันว่า “ที่พูดมาในคำถามนั้น มันหมายถึงอดีตอย่างเดียว หรือลงปัจจุบันด้วย?” ถ้าอดีตอย่างเดียว ยังใช้ไม่ได้!! แต่ถ้ามันลงปัจจุบันในแง่ว่า มันแล้วแต่กรรมที่เราจะทำในปัจจุบัน ว่าเราประมาท หรือไม่ประมาท? เราระวังตัวเองอย่างดีแค่ไหน? มีโอกาสฉีดวัคซีน(vaccine) แล้วไม่ฉีดหรือเปล่า? หรือเราเลือกที่จะรออีก ๔ เดือนข้างหน้า ๔ เดือนข้างหน้า คือ ๔ เดือนจากนี้ไป เรารับความเสี่ยงได้ไหม? ก็ดูว่า ที่เราจะตัดสินใจทำในปัจจุบันนี้ มันก็ส่งผลในอนาคตอยู่ด้วย และก็ปัจจุบันนี้ เป็นการกระทำที่เราเลือกได้ ทำได้จริงๆ สิ่งที่ทำมาแล้วในอดีต ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมในอดีต เราไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่กรรมที่เราจะทำอยู่ทุกๆ ขณะในปัจจุบันนี้ เราเลือกได้..ว่าจะทำอะไร? เพราะฉะนั้น ถ้ามันออกแนวประมาท ต้องรู้ทัน! ต้องรู้ทัน! เราจะต้องไม่ประมาท ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ทีมงานที่มาช่วยอาตมานะ เสียสละมากนะ เข้มงวดกับตัวเองมากเลย ไม่ไปไหน ไม่ออกนอกหมู่บ้านเลย ไม่ออกไปรับความเสี่ยงที่ไหนเลย เอาง่ายๆ คือ work from home ร้อยเปอร์เซนต์ เพื่อที่ทำตัวเองให้ปลอดภัย แล้วจะได้มาช่วยงานที่วัดได้ โดยที่ไม่ต้องมาระแวงระวังเรื่องการติดเชื้อ อย่างนี้นะ นี่คือทำด้วยความไม่ประมาท นึกออกไหม? ไม่ใช่ว่า ‘ไม่เป็นไร ฉันฉีดวัคซีนแล้ว ฉันออกไปไหนก็ได้’ อย่างนี้คือประมาท ในกรณีที่สามารถทำตัวเองให้ปลอดภัยได้ ก็ให้ทำ แต่มันไม่ได้หมายความว่า ห้ามทุกคนออกไปข้างนอก.. ไม่ใช่อย่างนั้น ใครจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ก็ออก แต่ออกไปด้วยความระมัดระวัง แล้วกลับมาก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ด้วยการที่ว่าไม่ทำตัวเสี่ยง ก็คือกลับมาบ้าน แล้วก็รีบอาบน้ำ ซักผ้า ก็แยกที่ซัก ประมาณอย่างนี้นะ ..ถ้าอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว หรือคนที่บ้าน เรียกว่าระวังซึ่งกันและกัน ระวังแบบให้เกียรติกัน.. ไม่ได้รังเกียจนะ ให้เกียรติกัน อย่างนี้คือการให้เกียรติกัน ก็มีคำแนะนำเท่านี้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=KqHbrOZ4G3Y (นาทีที่ 35.07-41.55)

อ่านต่อ