#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เพียรฝึกจิต ?? #ถาม : ในการฝึกสติปัฏฐาน ที่ท่านแสดงว่า “อาตาปี สัมปชาโน สติมา” เราต้องฝึกตามลำดับ คือ “ฝึกเพียร – ฝึกสัมปชัญญะ – ฝึกสติ” ให้เกิดอย่างนี้ไหมครับ? #ตอบ : คือจะถามว่า ลำดับการฝึก..ต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ แล้วมีสติ เป็นลำดับอย่างนี้หรือเปล่า? ไม่จำเป็นจะต้องเป็นลำดับก็ได้นะ คือในระหว่างที่ฝึก มันจะฝึก ๓ ตัวนี้ไปพร้อมๆ กัน ทุกครั้งที่มี “สติ” ขณะนั้นมี “ความเพียร” ทุกครั้งที่มี “สติ” มันรู้อยู่ด้วยว่า ‘จะทำอะไร..เพื่ออะไร’ ก็มี “สัมปชัญญะ” อยู่ด้วย คือมันไม่ได้แยก แต่เวลาอธิบาย มันจะแยกออกมาว่า “มีความเพียรนะ” “มีสัมปชัญญะนะ” “มีสตินะ” แต่ถึงตอน “ขั้นฝึก” มันไม่ใช่ว่า แยกฝึกทีละตัว..เป็นลำดับๆ ไม่ใช่อย่างนั้น! ก็คือ “ฝึกสติ” นี่แหละ ฝึกสติ – รู้ทันสภาวะ ตอนรู้ทันสภาวะ เรารู้อยู่ว่า ‘เราเป็นพวกทิฏฐิจริตนะ – ต้องฝึกในการดูจิตนะ’ รู้ในการแยะแยะได้ว่า ‘เราเป็นทิฏฐิจริต – ต้องฝึกดูจิต – เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์’ ..แล้วก็ฝึกไป อย่างนี้เรียกว่า “มีสัมปชัญญะ” แล้วทุกครั้งที่เห็นกิเลส ขณะนั้น “มีความเพียร” “เพียร” ในที่นี้คือ 1. “เพียรระวัง” ยับยั้งบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด 2. “เพียรละ” กำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว 3. “เพียรเจริญ” ทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น 4. “เพียรรักษา” รักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งขึ้นไป จากที่ไม่มีกุศล..ก็เกิดกุศลขึ้นมา กุศลเกิดขึ้นแล้ว..ก็เจริญกุศลนั้นต่อไปเรื่อยๆ จากที่เคยมีอกุศลอยู่มากๆ..อกุศลก็ถูกละไป ดับไป แล้วก็สามารถที่จะทำให้อกุศลเหล่านั้น หมดกำลังลงเรื่อยๆ ด้วยการ “เจริญสติ” ก็คือ “มีความเพียร” อยู่ทุกๆ ขณะ เพราะฉะนั้น เวลาฝึกๆ อย่างเดียว เวลาฝึกๆ อย่างเดียว เวลาได้ มันได้ ๓ ตัว (ไม่ใช้ใบ้หวยนะ) หมายถึงว่า ฝึกเจริญสติ มันจะได้.. (๑) ความเพียร (๒) สัมปชัญญะ (๓) สติ ..ในการฝึกครั้งเดียวนั้นล่ะ เวลาเราเจริญสติ-ดูจิต คนไม่ชำนาญ..ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะไปดูจิตเลย ก็คือ “ดูกาย” ไปก่อน ให้มันเป็นที่อยู่ เขาเรียก “เป็นตัวเทียบ” เช่น “ดูลมหายใจ” ก็เป็นการ “ดูกาย” ดูลมหายใจไป แล้วพอจิตมันเผลอ ความเผลอมันอยู่ในจิต เห็นความเผลอ คือเห็นจิต เพราะฉะนั้น พอเห็นความเผลอ ความเผลอดับแล้ว ไม่ใช่ไปดูจิตต่อ ก็กลับมาดูกาย คือเห็นลมหายใจต่อ เห็นลมหายใจแล้ว มีความเผลอเกิดขึ้นอีก ก็เห็นความเผลอ ความเผลออยู่ที่จิต ..เห็นอย่างนี้นะ ไม่ใช่ว่า..จะเลือกดูจิตอย่างเดียว ไม่ใช่ว่า..จะเลือกดูกายอย่างเดียว ก็คืออาศัยกายทำสมถะไป พอมีเผลอเกิดขึ้น รู้ทันความเผลอ ความเผลออยู่ที่จิต ก็คือได้ดูจิต ตอนได้ดูจิตแต่ละครั้ง ได้มี “ความเพียร” แล้วรู้ว่า ‘เส้นทางนี้ ที่เราทำอยู่นี้ วิธีนี้มันเหมาะกับจริตของเรา’ แล้ววิธีนี้ ทำไป.. รู้ปลายทางด้วยว่า.. ‘เราจะไปเพื่อให้ถึงมรรคผลนิพพาน’ จะมีวิธีฝึกอย่างนี้ ก็เรียกว่ามี “สัมปชัญญะ” อยู่ด้วย “สัมปชัญญะ” แปลว่า ความรู้ตัว ความรู้ชัด ความตระหนัก คือ 1. รู้ชัดว่า สิ่งใดมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ คือตระหนักในจุดหมาย 2. รู้ชัดว่า สิ่งใดเหมาะ หรือไม่เหมาะ คือตระหนักว่า สิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นเกื้อกูลต่อความเจริญของกุศล 3. รู้ชัดว่าเป็นโคจร คือรู้ตระหนักในงานที่ทำ ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไร ก็รู้สึกตัวกับกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน 4. รู้ชัดว่าไม่หลง คือตระหนักรู้ในเรื่องราวเนื้อหาสาระ รู้สภาวะที่ปรากฏ เหมือนกับว่า เราจะไป..จุดหมายอยู่ตรงนี้ สมมติว่า อาตมาอยู่ศรีราชา จะไปวัดสังฆทาน จะไปนนทบุรี รู้อยู่ว่า ‘จะต้องไปนนทบุรี’ ..แล้วรู้ ..แล้วก็เดินทาง เลือกเส้นทาง ในระหว่างการเดินทาง อยู่ในเส้นทางนั้น ก็รู้อยู่ว่า ‘อยู่ตรงไหน’ เส้นทางนี้จะไปจุดหมาย ก็ไปอยู่อย่างนี้ ระหว่างเดินทาง ก็ “รู้” อยู่ด้วย อย่างนี้เรียกว่าเป็น “สัมปชัญญะ” การภาวนาก็เหมือนกันนะ ก่อนฝึกอะไรขึ้นมา..ก็ศึกษา! ศึกษาเพื่อให้รู้ว่า ‘เราควรจะฝึกแบบไหน?’ แล้วก็เดินตามเส้นทางที่เราควรจะไป ในระหว่างนั้น มีทั้งความเพียร มีทั้งสัมปชัญญะ แล้วก็มีสติ “สัมปชัญญะ” เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา อยู่ใน “อธิปัญญาสิกขา” “ความเพียร” เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิต ในการฝึกจิต.. “สติ” ก็เป็นเรื่องของการฝึกจิต ทั้งความเพียรและสติ อยู่ใน “อธิจิตตสิกขา” ผลสุดท้ายของการฝึก คือเมื่อมีความเพียร มีสัมปชัญญะ และสติ สุดท้ายก็จะเกิดมีปัญญาแจ่มแจ้งขึ้นมา ‘เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นจิตไม่ใช่เรา’ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่า.. “ทั้งความเพียร สัมปชัญญะ และสติ ส่งผลให้เกิดปัญญาบรรลุมรรคผล” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=NRoUyw0xYZY (นาทีที่ 2.01-2.06.08)

อ่านต่อ