#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ตัวง่วง #จิตมีนิวรณ์ #ถาม : กราบท่านอาจารย์ ผมนั่งสมาธิ ฟังธรรม และง่วงมาก แต่ผมเห็นตัวง่วง และสติสัมปชัญญะก็จับตัวง่วงได้ทัน ผมเห็นชัดว่าตัวง่วงจะเข้ามาช่วงระหว่างจิตหนึ่งดับและจิตหนึ่งเกิด #ตอบ : โอ้โห! อันนี้ไม่ใช่จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมา-ดับไป แล้วจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมา-ดับไป แล้วมีตัวง่วงแทรก ไม่ใช่อย่างนี้นะ “ตัวง่วง” มันอยู่ที่จิต จิตมีนิวรณ์ – ถีนมิทธะเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าจิตนี้ดับไป แล้วมีอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่จิต ที่เรียกว่าตัวง่วงขึ้นมา แล้วมีจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมารู้ไอ้ตัวง่วง ไม่ใช่อย่างนี้นะ “ตัวง่วง” นั่นแหละอยู่ในจิตดวงหนึ่ง ที่ว่าแทรกขึ้นมาเนี่ย ไม่ใช่ว่าไม่ใช่จิตนะ “ความง่วง” มันอยู่ในจิตขณะหนึ่ง เอาอย่างนี้ดีกว่า สมมติว่าเราภาวนาๆ ไป “พุทโธ พุทโธ” ไป จิตก็เกิด-ดับอยู่กับลมหายใจ หรือว่าพุทโธไปเนี่ยนะ สุดท้ายพุทโธไปแล้ว จิตดวงหนึ่งเนี่ยมันเคลิ้ม มันไหล ไอ้จิตเนี่ยมันมีนิวรณ์ที่เรียกว่า “ถีนมิทธะ” อยู่ด้วย เราจึงเรียกจิตนี้ว่า “ง่วง”.. ง่วงแล้ว จิตดวงหนึ่งเห็นไอ้จิตเมื่อกี้ ที่มันเคลื่อนเตรียมจะหลับเนี่ยนะ.. แล้วก็เห็น ไอ้อันนี้คือความง่วงที่เกิดในจิตเมื่อกี้นี้ เราเห็นว่าง่วงเนี่ยนะ จริงๆ เราเห็นจิตเมื่อกี้นี้มีความง่วงเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่า.. ‘จิตที่ภาวนาอยู่ดับไป แล้วจิตที่รู้เป็นจิต แต่ไอ้ง่วงไม่ใช่จิต’ อันนี้เข้าใจผิดนะ! ความง่วง ก็คือ สภาวะที่เกิดอยู่ในจิตขณะหนึ่ง แล้วจิตดวงที่มีสติเนี่ยไปรู้เข้า เพราะฉะนั้นที่บอกว่า.. “ตัวง่วงเข้ามาในช่วงระหว่างจิตหนึ่งดับและจิตหนึ่งเกิด” เหมือนจะดีแล้ว แต่ว่ามีความเข้าใจผิดตรงนี้ว่า.. จริงๆ แล้วความง่วงมันก็คือ “สภาวะ” อยู่ในจิตขณะหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าความง่วงเป็นตัวอะไรสักตัวหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างจิตขณะหนึ่งกับจิตอีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ถ้าเห็นความง่วงแสดงว่า “เห็นจิต” แต่เป็น “จิตที่ประกอบด้วยความง่วง” เมื่อกี้นี้ เหมือนกันกับว่าถ้าเราเบิกบาน สมมติว่าถ้าเราเบิกบานนะ เห็นความเบิกบานเมื่อกี้นี้ ก็คือ “เห็นจิต” ที่ประกอบด้วย ‘ความเบิกบาน’ จิตมีความสุข ไม่ใช่เห็นความสุขแล้วความสุขไม่ใช่จิต.. คือ “เห็นจิต” ที่มี ‘ความสุข’ เมื่อกี้นี้ เห็นมีความทุกข์.. เห็นทุกข์..อ้าว! ก็คือ “เห็นจิต” ที่ประกอบด้วย ‘ความทุกข์’ เมื่อกี้นี้ เหมือนกันเลยนะ ความง่วงก็คือ .. ถ้าเห็นว่า “ง่วง” ก็คือ “เห็นจิตเมื่อกี้มันง่วง” มี ‘ความง่วง’ ใน “จิต” เมื่อกี้นี้ เหมือนกับว่าภาวนาไปแล้วเผลอ.. เห็นเผลอ ไม่ใช่ว่าเผลอเนี่ยมันเป็นตัวประหลาดอะไรที่ไหน มันก็คือกิเลสตัวหนึ่งที่อยู่ในจิตเมื่อกี้นี้ แล้วจิตดวงที่รู้เนี่ยไปเห็นเข้า เพราะฉะนั้น ไอ้ตอนที่เห็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า “เห็นจิต” เวลาพระพุทเจ้าสอนให้ดูจิต ใน ‘จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน’ เนี่ย ท่านจะบอกไว้เลย.. “จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้” สังเกตคำนะ!! ไม่ใช่ว่ารู้ราคะล้วนๆ.. “จิต” มีราคะ จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตมีโมหะก็รู้ จิตไม่มีโมหะก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ ไอ้ง่วงเนี่ยมันอยู่ในหดหู่ หรือว่าจริงๆ กลุ่มใหญ่ก็คือเป็น subset (กลุ่มย่อย) อีกทีของโมหะนั่นเอง เป็นตัวกระจายมาว่าโมหะมีอะไรบ้าง ก็มาอยู่ในเรื่องฟุ้งซ่านกับหดหู่นี้ พอเข้าใจนะ? ..มันก็คือดูจิตเห็นจิตนั่นเอง แล้วก็ไอ้ตัวง่วงไม่ใช่ว่าเกิดลอยๆ โดยไม่อยู่ในจิตไหนเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ..มันก็คือ “จิต” เมื่อกี้นี้มีความง่วงปนอยู่ แล้ว “จิตที่รู้” ไปเห็นเข้าแล้ว และตอนที่จิตรู้เนี่ย สังเกตดีๆ ตอนรู้ไม่ง่วง ตอนรู้ ถ้ารู้จริงเนี่ย ตอนรู้..ไม่ง่วง แต่มันเห็นจิตที่ง่วงเมื่อกี้นี้ เพราะฉะนั้น แค่รู้ – กิเลสดับ แค่รู้ – นิวรณ์ดับ ไม่ต้องไปทำหน้าที่ดับนิวรณ์หรือดับกิเลสอะไรเลย “แค่รู้” อย่างนี้ถ้าโยมทำไปเนี่ยนะ ลองไปดูตรงนี้ น่าจะเห็นได้ง่ายแล้ว เพราะว่าเริ่มจับได้แล้วว่ามันมีปรากฏการณ์อันหนึ่งขึ้นมา ไอ้ปรากฏการณ์นั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์แบบไม่มีจิตเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ..มันมีจิตขณะหนึ่งที่มีปรากฏการณ์ คือง่วง ปรากฏอยู่เมื่อกี้นี้ ถ้าเห็นความง่วงคือเห็นจิต แล้วจะเห็นว่าจิตเมื่อกี้นี้ที่มีความง่วงอยู่..ดับแล้ว จิตปัจจุบันเป็นจิตรู้ แล้วหลังจากนั้นภาวนาต่อนะ กลับมาที่ลมหายใจของเราต่อ เราทำสมถะอะไรก็กลับมาทำสมถะนั้นนะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Z-RLdFXAPbU (นาทีที่ 1.15.27-1.20.58 )

อ่านต่อ