#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ปฏิเสธการให้เงินกับคนขี้เกียจทำงาน #ถาม : การปฏิเสธการให้เงินใช้ กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะว่าเขาขี้เกียจทำงาน ไม่กระตือรือร้น เขาคิดอยู่เสมอว่า คนรอบ ๆ ข้างจะช่วยเขา จึงทำให้เขาเคยตัวเป็นนิสัย โยมกำลังช่วยอยู่ แต่ด้วยเหตุผลข้างบนนี้ ทำให้โยมไม่อยากช่วยแล้ว..จะบาปไหม? #ตอบ : บางทีเราอาจจะต้องให้เขาเรียนรู้บ้างว่า ผลของการขี้เกียจนั้นเป็นอย่างไร? ก็สามารถให้บทเรียนเขาได้ แต่ต้องระวังว่า ไม่ใช่เพราะโกรธ หรือ แค้น ไม่ใช่เพราะมีโทสะ แต่ทำด้วยใจอุเบกขา ปรารถนาให้เขาเรียนรู้ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของ ๆ ตน ถ้าทำอกุศลกรรม ก็จะได้รับผลที่เป็นอกุศล คือ ไม่น่าพอใจ “ความขี้เกียจ เป็น อกุศล” เพราะฉะนั้น ผลของความขี้เกียจเนี่ย ไม่เป็นที่รักของคนอื่นเลย คนก็จะมองในแง่ที่ว่า ‘คนนี้ไม่น่าคบหา’ ‘ไม่น่าใช้งาน’ ‘ไม่น่าจ้าง’ ‘ไม่ควรที่จะได้รับค่าจ้างแพง ๆ’ เพราะว่า.. ผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ได้ตามที่สั่ง เพราะว่า “ขี้เกียจ” ก็ควรจะให้เขาได้เรียนรู้ผลของความขี้เกียจนั้น แต่ด้วยใจอุเบกขา ไม่ใช่โทสะ ..ทำได้นะ ทำได้ คือเป็นการช่วยเขาอย่างหนึ่ง เป็นการช่วยให้เขาได้รู้ว่า ความขี้เกียจมีโทษอย่างนี้ เขาจะได้เข็ดจากความขี้เกียจนั้น แล้วก็ไม่ขี้เกียจอีก ..ขยันมากขึ้น เรียกว่าเจตนาเพื่อจะช่วยเหลือเขานั่นล่ะ แต่เพราะเขาทำเหตุที่ไม่ดี คือ ขี้เกียจ เขาย่อมได้รับผลที่ไม่ดี คือให้เขาเห็นผลของกฏแห่งกรรมนั่นเอง ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลที่ดี ทำกรรมที่ไม่ดี ก็ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี นี่เขาทำกรรมไม่ดี ทำเหตุไม่ดี ก็จะได้รับผลไม่ดี ก็สามารถทำได้นะ แต่ “ระวังใจ” เท่านั้นเอง ใจของเราต้องเป็นกุศลด้วย กุศลในที่นี้คือ “วางอุเบกขา” ออกอากาศวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=SAEU0b97XBg&t=6502s (นาทีที่ 1.45.45-1.48.19)

อ่านต่อ