#นิมฺมโลตอบโจทย์ #แผ่เมตตา #ถาม : ทุกครั้งที่โยมนำคุณพ่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ ผ่าน Facetime หลังแผ่ส่วนกุศลเรียบร้อยแล้ว ท่านมักจะคุยเรื่องความทุกข์เก่า ๆ เอ่ยถึงบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว คนที่เกลียดท่าน ตำหนิท่าน เหตุการณ์ที่ทำให้ท่านจิตตก ใจท่านไม่สงบเลยเจ้าค่ะ โยมจึงเปิดภาพพระพุทธเจ้า ให้ท่านดูหลาย ๆ ภาพ พี่สาวรายงานโยมว่า ท่านนั่งพูดคนเดียวบ่อย ๆ บางทีโมโห ก่นด่าอยู่คนเดียวเสียงดัง มีธรรมวิธีข้อไหน จะนำใจของคุณพ่อให้ทุกข์น้อยลง? และ ท่านสามารถฝึกพ้นทุกข์ได้ไหม? ท่านจะจำวิธีทำสติ สมาธิ อนุโมทนาบุญ ได้อย่างไร? #ตอบ : ที่โยมนำพ่อสวดมนต์นั่งสมาธิ ก็ถือว่าดีนะ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ทีนี้ก่อนจะแผ่ส่วนกุศล ให้นำคุณพ่อเจริญเมตตาก่อน ให้เห็นน้อมมาที่ตัวเองก่อน “เจริญเมตตา ให้เมตตาตนเองก่อน” บอกโยมพ่ออย่างนี้นะ เวลาเจริญเมตตา ให้เมตตาตนเองก่อน ทำเมตตาให้เกิดขึ้น แล้วค่อยแผ่ออกไป เวลาเมตตาตนเอง ในบทสวด ที่พระสวดจะใช้คำว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” แปลว่า ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข เราก็นำคุณพ่ออย่างนี้เลยนะ ถ้ามีบทสวด เราก็ใช้บทสวด ถ้าไม่มีบท เราก็พูดนำ.. “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข” “ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” “ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้จองเวรใคร” คำนี้สำคัญนะ! “ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้พยาบาทใคร” สองคำนี้สำคัญ! สองคำนี้ล่ะ คือ ปัญหา แล้วเราจะนำใจคุณพ่อให้น้อมมาเห็นปัญหาตรงนี้ เราปรารถนาความสุข ก็บอกให้ตัวเองมีความสุข ตรงนี้จะเกิดขึ้นง่าย นี่คือ เมตตาตนเอง “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข” “อย่าได้มีทุกข์” “อย่าได้จองเวรใคร” ไอ้ ‘จองเวร’ นั่นล่ะ เป็นตัวขัดขวางให้ไม่สุขแท้จริง “อย่าได้พยาบาทใคร” ไอ้ ‘พยาบาท’ ก็เป็นตัวปัญหาอีกตัวหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่มีความสุขเช่นเดียวกัน มันก็คือภาพรวมของ ”โทสะ” นั่นเอง แต่เป็นโทสะที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก กว่าจะไปเป็นพยาบาทได้ มันก็ต้องโกรธ ..แล้วก็คิดแล้วคิดอีก กลายเป็นพยาบาท พยาบาทเสร็จแล้ว ..จองเวรข้ามภพข้ามชาติ ไอ้จองเวรนี้ล่ะ เป็นตัวหนัก หนักสุด จองเวรนี้คือ เจอเมื่อไหร่ก็จะแก้แค้น แม้จะข้ามภพข้ามชาติ เหมือนอย่างที่พระเทวทัตจองเวรกับพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ยังจองเวรอยู่ “การจองเวร” ก็คือมาจากโทสะนั่นเอง เพราะฉะนั้นเวลาเรานำสวดมนต์นั่งสมาธิผ่านมาแล้ว ก่อนจะไปแผ่ส่วนกุศล คือมีบุญอะไรจะไปแผ่ให้คนอื่น ทำบุญอีกตัวหนึ่งขึ้นมาก่อน คือ “เจริญเมตตา” และเริ่มที่ “เมตตาตนเอง” อธิบายด้วยว่า เจริญเมตตาตนเอง คือ ขอให้ตนเองนี้มีความสุข ตัวคุณพ่อเองก็นึกถึงว่า.. ‘ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข อย่าได้มีทุกข์ อย่าจองเวรใคร จิตนี้อย่าไปจองเวรใคร จิตนี้อย่าไปพยาบาทใคร จิตนี้จงอย่าได้มีทุกข์ใด ๆ (ไอ้ทุกข์ทั้งหลายก็มีจากจองเวรและพยาบาทนี้) จงรักษาตน ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย ทั้งสิ้น ทั้งปวง’ ก็คือ มีปัญญา.. มีสติ มีปัญญา รู้ทันสภาวะ มีทุกข์เกิดขึ้นมา เบื้องต้นเลย ส่วนใหญ่มันจะมาจากจิตที่มีกิเลส คือโทสะ คืออยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร จิตคิดถึงคนที่เกลียดท่าน ตำหนิท่าน ไปคิดถึงคน ๆ นั้นนะ โทสะเกิดขึ้นทันที แว็บเดียวที่คิดถึง..ก็ทุกข์เลย โทสะเกิดขึ้น ทุกข์ทันที เพราะฉะนั้นให้รู้ทันตัวขัดขวางความสุข คือไอ้โทสะนี้ รู้ทันมัน ก่อนที่มันจะขยายกลายเป็นพยาบาท และเป็นจองเวร เวลาจูงใจให้เจริญเมตตา ทำอย่างนี้ แล้วก็ค่อยแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย แผ่ออกไป ยังไม่ต้องระบุว่าให้กับคนที่เกลียดหรือคนที่เป็นศัตรูก็ได้ แผ่ออกไปแบบทั่ว ๆ ไป ถ้าไปนึกถึงศัตรูก่อนนะ บางทีเมตตาหายไปเลย กลายเป็นโทสะขึ้นมาอีก ให้คิดแบบทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องนึกถึงหน้าใครก็ได้ ถ้าจะนึก ให้นึกถึงหน้าคนที่เรารักก่อน คนในครอบครัว คนใกล้ชิดที่เป็นมิตรกัน – แผ่เมตตาออกไปจนถึงคนไม่รู้จัก – สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เขาทุกข์อยู่ ขอให้เขาพ้นทุกข์ไป ขอจงมีความสุข ใครที่มีทุกข์อยู่ก็ขอให้พ้นทุกข์ – ใครที่ประสบความสำเร็จอะไร เราดีใจด้วย – แล้วก็ข้อสุดท้าย เจริญอุเบกขา ทำในใจว่า ‘สัตว์โลกเป็นตามกรรม’ กรรมมี ๓ แบบ “สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม” โดยภาพรวมก็คือ ใครทำกรรมดี ..ย่อมได้รับวิบากที่ดี ที่เป็นสุข ใครทำกรรมที่ไม่ดี ..ย่อมได้รับวิบากที่ไม่ดี ที่เป็นทุกข์ และกรรมที่ทำได้ง่ายมาก คือ มโนกรรม กรรมทำได้ ๓ ทาง ก็คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อยู่บ้านไม่ได้ไปไหน มีมโนกรรม คิดถึงคนไม่ชอบ แล้วเครียด..ทุกข์ คิดถึงคนไม่ชอบ แล้วก็มีโทสะ..ทุกข์ อันนี้เรียกว่าทำกรรมแล้ว เป็น “มโนกรรมที่เป็นอกุศล” ..ให้รู้ทัน! รู้ทันมโนกรรมที่เป็นอกุศล แล้วเมตตาตนเองไป คิดอย่างนี้ซ้ำ ๆ ‘มีทุกข์เกิดขึ้นมาให้เมตตาตนเอง มีทุกข์เกิดขึ้นมาให้เมตตาตนเอง อย่าได้พยาบาทใคร อย่าได้จองเวรใคร ขอให้จิตนี้พ้นทุกข์’ เมตตาตนเอง แล้วก็แผ่ออกไป แผ่ออกไปซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ถ้าทำได้ครบถ้วนอย่างนี้ แรก ๆ อาจจะยังติดขัดบ้าง เพราะยังไม่คุ้น แต่พูดซ้ำ ทุกวัน ๆ ๆ จิตใจก็จะคุ้นชินที่จะเจริญเมตตา ขอให้มีฉันทะในการที่จะนำคุณพ่อให้พ้นจากความคิดในแง่ร้ายแบบนี้ ด้วยการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นก็คือ “เจริญพรหมวิหาร” นั่นเอง ก่อนที่จะแผ่ส่วนกุศล ตัวนี้เป็นกุศลสำคัญที่จะทำให้คุณพ่อพัฒนาขึ้น ..ลองทำดู แล้วตอนแผ่ส่วนกุศลก็นึกถึงบุญ ใน ๓ รูปแบบ คือ บุญจากการให้ทาน บุญจากการรักษาศีล บุญจากการเจริญภาวนา บุญจากการให้ทานมีทั้งวัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน ตัวเจริญเมตตาเมื่อสักครู่นี้ เป็น “อภัยทาน” มีอานิสงส์มากกว่าวัตถุทานด้วย แล้วบุญที่ได้จากการเจริญเมตตานั้น เราเป็นผู้ได้ก่อนเลย เราเจริญเมตตา เราเป็นสุขก่อนเลย ..แล้วก็แผ่ไปให้ผู้อื่น อย่างนี้ การแผ่ส่วนกุศล จะมีอานุภาพมากขึ้น เพราะใจเป็นบุญจริง ๆ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=wW0q91-EkRw&t=2399s (นาทีที่ 30:43 – 40.02)

อ่านต่อ