#นิมฺมโลตอบโจทย์ #สมาธิเพื่อการเจริญปัญญา #ถาม : ถ้าจิตมันถูกกระทบ แล้วจิตอยากหนีไปอยู่เงียบ ๆ อยากนั่งสมาธิเงียบ ๆ ไม่อยากกระทบโลก เห็นความอยากนี้บ่อย ๆ ควรทำอย่างไร? #ตอบ : ดีนะ ที่ว่า “ดี” ไม่ใช่ว่าหนีดีนะ แต่ดีที่ “เห็น” ดีที่เห็น ‘จิตที่อยากหนี’ เก่งนะ.. เห็นอย่างนี้ได้ไม่ง่ายนะ !! คือส่วนใหญ่เนี่ย พอกระทบกับโลก เบื่อโลกมาก ๆ เข้า ก็อยากจะหลบตัวเองไปเงียบ ๆ แล้วก็ไปนั่งสมาธิ แล้วก็พอออกมาเจอโลกยุ่ง ๆ ก็..ไปแอบเข้าสมาธิ เรียกว่า “หลบ” มันก็ดี คือ อย่างน้อย ๆ ก็ยังมีที่ไปสงบบ้าง แต่ว่าสมมติว่า มันมีปัญหาอยู่เนี่ยนะ แล้วเราก็ทนปัญหาไม่ได้ ..แล้วก็เข้าสมาธิ ..ออกมา..เจอปัญหา ..แล้วเราก็เข้าสมาธิ อย่างนี้นะ.. ..มันไม่ได้แก้ปัญหา! เพราะฉะนั้น มันต้องเข้าไปแก้ปัญหาด้วย ! หรือว่ามันไม่ได้เกิดปัญญา มีทุกข์เกิดขึ้น.. ก็เข้าสมาธิ.. ..แล้วก็ออกมา ! เจอทุกข์..ก็เข้าสมาธิ… อย่างนี้นะ ครูบาอาจารย์ไม่สนับสนุนในแง่นี้นะ มีบางท่านนะ พอเป็นไข้ ท่านก็เข้าสมาธิ เข้าฌาน พอเข้าฌาน ก็ไม่รับรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้น ครูบาอาจารย์บอก “อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อย่างนี้ คือ หนี ให้ดูเวทนา ไม่ใช่ไปหนีเข้าสมาธิ” แล้วไม่เห็นเวทนาแสดงความจริง มันก็เลยไม่เห็นเลยว่า ‘ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์’ ไม่เห็นเลยว่า ‘รูปเป็นทุกข์’ ไม่เห็นเลยว่า ‘เวทนาเป็นทุกข์’ ไม่เห็นเลยว่า ‘สังขารเป็นทุกข์’ มันหลบไป หลบไปมีความสุข แล้วพอใจในภพแห่งนักปฏิบัติตรงนั้น มันเลยไม่ได้มาดูความจริงว่า ‘ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์’ มันก็เลยไม่พ้นทุกข์ เพราะไม่เห็นทุกข์ ประมาณอย่างนี้นะ ถ้าระดับผู้ปฏิบัติ ถ้าหนีอย่างนี้นะ ครูบาอาจารย์จะไล่ออกมา บอกว่า “อย่าไปนั่งเพียงหวังสุขในสมาธิ” มันสุขในสมาธินะ มันไม่ยั่งยืน แล้วก็ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางจริง ๆ เราต้องมาเข้าใจว่า ‘โลกเป็นอย่างนี้ ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้.. ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา’ เห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ แล้วจึงจะพ้นจากการ เวียนว่ายตายเกิดไปได้ พ้นจากวงจรแห่งทุกข์ทั้งหลายนี้ไปได้ เข้าสู่ความสุขที่แท้จริง คือ เข้าพระนิพพานได้ ไม่ใช่หนี! แต่นี่ดีนะ..ดี! คือคนที่ไปเข้าสมาธิ มักจะยากที่จะเห็นตัวนี้ด้วยตนเอง ถ้าเห็นเองได้นะ ขออนุโมทนาเลย..ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำสมาธิ นึกออกนะ? คือไม่ใช่จะไม่ทำสมาธิ แต่ไม่ได้ทำสมาธิเพื่อหนี! แต่ทำสมาธิเพื่อให้มีกำลัง ในการที่จะมาดูความจริง ของขันธ์ ๕ ได้แจ่มแจ้ง คือจิตถ้าไม่มีสมาธิเนี่ย มันไม่มีกำลังพอที่จะมาเจริญปัญญา ก็ต้องมีสมาธิ แต่สมาธิที่ว่านี้มันมี ๒ แบบ คือ ๑. สมาธิแบบ “อารัมณูปนิชฌาน” คือ จิตรวมอยู่กับอารมณ์ ๒. “ลักขณูปนิชฌาน” คือ จิตตั้งมั่น ไม่รวมอยู่กับอารมณ์ พร้อมเจริญปัญญา เกิดมรรคผล อย่างนี้ก็เรียกว่า ถ้าทำสมาธิควรทำให้ได้ทั้ง ๒ แบบ เวลาจิตรวมอยู่กับอารมณ์ ก็รวมไปก่อนนะ พอมันเผลอ ก็ให้รู้ทัน จิตที่เผลอไป มันก็คือ เผลอจากอารมณ์กรรมฐานของเรา พอเวลามันเผลอไป..รู้ทัน ให้รู้ด้วย ‘ใจเป็นกลาง’ ตอนรู้ด้วยใจเป็นกลาง จะเกิดสมาธิตัวที่ ๒ เรียกว่า “แยกธาตุแยกขันธ์” เรียกว่า “จิตตั้งมั่น” ขึ้นมา หรือ อยู่กับอารมณ์กรรมฐานไป พอมันเผลอ พอเริ่มเผลอปุ๊ป! มันจะเห็นจิตเคลื่อน พอเห็นจิตเคลื่อน รู้ทันว่าจิตเคลื่อนนะ มันจะได้จิตตั้งมั่น..ไม่เคลื่อน ! ก็จะเกิดสภาวะสมาธิแบบที่ ๒ คือ จิตตั้งมั่นขึ้นมาได้เหมือนกัน แยกธาตุแยกขันธ์ได้ชั่วขณะ ก็ทำสมาธิได้ แต่อย่าไปตั้งเป้าหมายว่า ‘จะเอาให้เงียบ ๆ’ หรือ ‘หนี’ แต่ให้ทำสมาธิเพื่อให้จิตมีกำลัง เพื่อที่จะมาเจริญปัญญา เจริญปัญญา คือ เห็นความจริง เห็นความจริง คือ มันต้องเห็นตัวปัญหา ปัญหา คือ ขันธ์ ๕ นี้ ก็ต้องมาแผชิญหน้ากับปัญหา ไม่ใช่หนีปัญหา ไม่ใช่หลบออกไปที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วก็พอกลับมา ปัญหายังไม่หายไป ก็หลบไปอีก อย่างนี้เรียกว่า “เอาสมาธิเป็นที่หลบ” อย่างนี้ไม่ใช่เป้าหมายของการภาวนา สมาธิต้องเอาไว้เพื่อให้จิต มีกำลังพร้อมจะเจริญปัญญา พอพร้อมที่จะเจริญปัญญา คือ – ไปเผชิญปัญหา – เห็นปัญหา – ยอมรับปัญหา..ว่ามีปัญหา – แล้วก็เห็นความจริงของปัญหานั้น ว่ามันเป็นสภาพอย่างนี้ “รู้” ที่มา คือ สมุทัย แล้วก็ “ละ” สมุทัยนั้นเสีย ..ก็เข้าสู่นิโรธ ต้องทำสมาธินะ! สมาธิต้องทำ! แต่ทำแบบมีจุดมุ่งหมาย..ไม่ใช่หนี! จุดมุ่งหมายที่ว่านั้น คือ เสริมคุณภาพจิต ‘ให้มีกำลัง’ มากพอที่จะไปเจริญปัญญาต่อไป พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=QpoPodr-MSQ&t=4704s (นาทีที่ 1:18:28 – 1:24:33)

อ่านต่อ